1. จีนปล่อยยานเสินโจว-14 พร้อมนักบินอวกาศ 3 คนขึ้นสู่อวกาศ

6 มิ.ย. 65 – เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2565 จีนส่งยานอวกาศเสินโจว-14 (Shenzhou-14) พร้อมนักบินอวกาศจีนจำนวน 3 คน สู่อวกาศด้วยจรวดขนส่งลองมาร์ช-2เอฟ (Long March-2F) จากศูนย์ปล่อยดาวเทียม จิ่วฉวนทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เพื่อเดินทางไปประจำการบนสถานีอวกาศเทียนกงนาน 6 เดือน พร้อมปฏิบัติหน้าที่ในการเชื่อมต่อโมดูลหลักเทียนเหอกับโมดูลทดลองเวิ่นเทียนและโมดูลทดลองเมิ่งเทียน และดำเนินการติดตั้งและตรวจสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งในและนอกสถานีอวกาศ สานต่อภารกิจสร้างสถานีอวกาศของจีนให้สำเร็จ โดยทีมนักบินอวกาศชุดนี้ประกอบด้วยนางหลิว หยาง นายเฉิน ตง และนายไช่ สวี้เจ๋อ สำหรับ นางหลิว หยาง ซึ่งเป็นนักบินอวกาศหญิงคนแรกของจีน เคยปฏิบัติหน้าที่ในโครงการยานอวกาศพร้อมมนุษย์เสินโจว-9 เมื่อปี 2555 และเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 เธอเคยมาเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรกในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2560 ครั้งนั้น นางหลิว หยาง เดินทางมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการใช้ชีวิตและปฏิบัติภารกิจในห้วงอวกาศให้เด็กไทยและผู้ที่สนใจ โดยไทยเป็นประเทศแรกที่นางหลิว หยาง เดินทางไปร่วมกิจกรรมหลังเสร็จสิ้นภารกิจในห้วงอวกาศในครั้งนั้น

2. คนจีนเข้าใจวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น 10.56%

6 มิ.ย. 65 – นายจาง อวี้จั่ว เลขาธิการสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน เปิดเผยว่าจีนได้พยายามส่งเสริมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยการเพิ่มพูนทักษะความเข้าใจวิทยาศาสตร์ของประชาชนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผลสำรวจที่เผยแพร่โดยสมาคมฯ ระบุว่า ในปี ค.ศ. 2020 สัดส่วนความเข้าใจวิทยาศาสตร์ของชาวจีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.56% เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2015 ดัชนีนี้บ่งบอกว่า จีนเข้าสู่ระยะการพัฒนาใหม่เพื่อเพิ่มความเข้าใจวิทยาศาสตร์ของประชาชนทุกคน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการเสริมสร้างอุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แข็งแกร่ง ปัจจุบันจีนมีพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำนวน 408 แห่ง เพิ่มขึ้น 290 แห่ง เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2012 และมีการเปิดตัวโครงการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเคลื่อนที่ตามพื้นที่ต่าง ๆ จำนวน 4,944 แห่งทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์ของพลเมือง และในขั้นตอนต่อไปจีนจะผลักดันการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมุ่งมั่นทำให้วิทยาศาสตร์เข้าถึงและสร้างประโยชน์ให้กับทุกกลุ่มคนและทุกภูมิภาค

3. จีนเร่งพัฒนาและสร้าง ‘SME นวัตกรรม’

8 มิ.ย. 65 – กระทรวงวิทย์ฯ จีน รายงานข้อมูล ณ สิ้นปี 2021 มี SMEs นวัตกรรมทั่วประเทศจีนจำนวน 328,000 แห่ง โดยเพิ่มขึ้น 44% เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2020 และคาดว่าภายในสิ้นปี ค.ศ. 2022 จำนวน SMEs แห่งนวัตกรรมจะสูงถึง 450,000 ราย (เพิ่มขึ้น 37% จากปี 2021) และจากการสำรวจ SMEs นวัตกรรมจำนวน 54,600 แห่งที่ทำการสำรวจเป็นเวลาสามปีติดต่อกันตั้งแต่ระหว่างปี ค.ศ. 2018-2020 ระบุดัชนีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น 11% ต่อปี รายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 9.4% ต่อปี และกำไรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 13.1% ต่อปี ทั้งนี้ กระทรวงฯ ยังประกาศเน้นการพัฒนา 5 ด้าน ได้แก่ (1) รูปแบบการระดมทุนแบบใหม่ที่สะดวกและเหมาะสมกับ SME (2) นโยบายและมาตราการส่งเสริมการลงทุน (3) การบ่มเพาะและการพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถ (4) สภาพแวดล้อมเอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยี (5) ส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมและผู้ประกอบการ จากการสนับสนุนที่ผ่านมา จีนมีศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรมกว่า 15,000 แห่งทั่วประเทศ และให้บริการแก่ผู้ประกอบการเกือบ 700,000 ราย SMEs ทั่วประเทศได้รับการลดหย่อน / ยกเว้นภาษีมากกว่า 580 ล้านหยวน และได้รับการลดหรือยกเว้นค่าเช่าจำนวน 1.17 พันล้านหยวน

4. ปะการังสัตว์ทะเลที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลกอุบัติขึ้นเมื่อกว่า 500 ล้านปี !

8 มิ.ย. 65 – “วันมหาสมุทรโลก” ตรงกับวันที่ 8 มิ.ย. ของทุกปี เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองและกระตุ้นจิตสำนึกให้คนทั้งโลกหันมาใส่ใจและร่วมกันอนุรักษ์ท้องทะเล คำขวัญของวันมหาสมุทรโลกปีนี้ คือ “การปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน” ปะการังเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญบริเวณชายฝั่งทะเล เป็นสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังในกลุ่ม ซีเลนเทอราคา (Coelenterata) เป็นสัตว์ทะเลชนิดหนึ่งที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลก อุบัติขึ้นเมื่อกว่า 500 ล้านปีมาแล้ว ที่ยังสามารถอยู่รอดและมีวิวัฒนาการจนถึงปัจจุบัน ปะการังเป็นแหล่งรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญที่สุดในทะเล และเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตถึง 1 ใน 4 ของทะเลทั้งหมด มีโครงสร้างเป็น 3 มิติที่ซับซ้อน มีที่หลบซ่อนตัว แนวปะการัง นอกจากจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศทางทะเล ยังช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจอีกด้วย

5. “เซินหลาน 1” ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงปลาแซลมอนในทะเล

8 มิ.ย. 65 – จีนทำการจับปลาแซลมอนแอตแลนติกครั้งแรกของโลก ที่เลี้ยงจากสิ่งปลูกสร้างคล้ายกระชังเลี้ยงปลาขนาดยักษ์ ที่ตั้งอยู่ในเขตนำร่องการเพาะพันธุ์สีเขียวในทะเลลึกแห่งชาติชิงเต่า มณฑลซานตง ห่างจากชายฝั่งทางตะวันออกของจีน ออกไปกว่า 120 ไมล์ ถือเป็นความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงปลาแซลมอนในทะเล ด้วยการสร้าง “เซินหลาน 1” หรือ กระชังปลาอัจฉริยะ ซึ่งมีขนาดเท่ากับสระว่ายน้ำมาตรฐาน 40 แห่ง ความจุ 1,500 ตัน เป็นกระชังปลาอัจฉริยะใต้ทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก สิ่งปลูกสร้างดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าครั้งสำคัญของจีนในการออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำลึก รวมถึงเทคโนโลยีหลักเช่น การออกแบบภาพรวมของการเฝ้าติดตามน้ำ ออกซิเจน แสง การให้อาหารแบบเรียลไทม์ในบ่อเลี้ยงปลา การควบคุมการจมและลอยของกระชัง และการปกป้องปลาในกระชัง

  • https://news.cctv.com/2022/05/02/ARTI4jJnBbtKyQnIiyfM9oyT220502.shtml?spm=C94212.PGZDd8bkBJCZ.E850fz1ryIUd.5
  • https://news.cctv.com/2022/06/06/ARTI4jqE5aTRtuqgt8sMexGm220606.shtml?spm=C94212.PGZDd8bkBJCZ.E850fz1ryIUd.16
  • http://digitalpaper.stdaily.com/http_www.kjrb.com/kjrb/html/2022-06/08/content_536637.htm?div=-1
  • https://news.cctv.com/2022/06/08/ARTI6RXLppsr4JTIWxTpabz4220608.shtml?spm=C94212.PGZDd8bkBJCZ.EeCXS9523EQ2.4
  • https://www.zghy.org.cn/item/555730103217127424