1. นักวิทยาศาสตร์จีนประสบความสำเร็จในการปลูกข้าวยืนต้น

11 พ.ย. 65 – ศาสตราจารย์หู เฟิ้งอี้ มหาวิทยาลัยยูนนาน ร่วมกับคณะ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาผสมพันธุ์ข้าวยืนต้นและพันธุ์ข้าวที่นิยมปลูก ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้ช่วยส่งเสริมการปลูกข้าวยืนต้นและเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเชิงพาณิชย์ ตามรายงานระบุว่า เมื่อปลูกข้าวยืนต้นที่ผ่านการผสมพันธุ์แล้ว สามารถเก็บเกี่ยวได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3-4 ปี สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ปีละ 2 ครั้ง

2. ประชุมสุดยอดนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์โลกปี พ.ศ. 2565

12 พ.ย. 65 – การประชุมสุดยอดนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์โลกปี 2022 (World Young Scientist Summit หรือ WYSS) จัดขึ้นเมื่อ 12 พ.ย. 2565 ณ เมืองเหวินโจว มณฑลเจ้อเจียง ภายใต้แนวคิด “หลอมรวมผู้มีพรสวรรค์จากทั่วทุกมุมโลกเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่า (Gathering World’s Talents, Creating Better Future)” มีผู้เข้าร่วมจาก 30 ประเทศทั่วโลก นายว่าน กัง ประธานสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน กล่าวในสุนทรพจน์ว่า เยาวชนเป็นผู้ที่มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์และกำลังที่สำคัญของการส่งเสริมการพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยี

3. นักวิทยาศาสตร์จีนสร้างกล้องจุลทรรศน์ช่วยวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สมองและมะเร็ง

16 พ.ย. 65 – ศาสตราจารย์อู๋ เจียหมิน หัวหน้าห้องปฏิบัติการ Imaging and Intelligent Technology มหาวิทยาลัยชิงหัว พัฒนากล้องจุลทรรศน์รุ่นใหม่แบบไดนามิกที่มีความละเอียดระดับเซลล์ย่อยในสมองทั้งหมดของหนู เป็นเครื่องมืออันทรงพลังสำหรับศึกษากลไกการทำงานของวงจรประสาทและการแพร่กระจายของเนื้องอกขนาดใหญ่ กล้องจุลทรรศน์นี้มีการทดลองใช้ครั้งแรกในเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 เพื่อสังเกตความเลื่อนไหวแบบ 3 มิติของเซลล์ย่อยในระดับมิลลิวินาทีในหนูที่มีชีวิตเ ป็นเวลานานกว่า 6 ชั่วโมง

4. จีนโคลนนิ่งยีนกลายพันธุ์ข้าวโพดป่าเพื่อเพิ่มโปรตีนในข้าวโพด

17 พ.ย. 65 –ทีมวิจัยของนาย อู หย่งลุ่ย จากศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์พืชโมเลกุล (CAS Center for Excellence in Molecular Plant Sciences) และทีมวิจัยของนายหวัง เหวินฉิน จากมหาวิทยาลัยครุศาสตร์เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Normal University) ได้ตีพิมพ์บทความในวารสารเนเจอร์ (Nature) เรื่องการพัฒนายีน Teosinte High Protein 9 (THP9) จากข้าวโพดป่า ที่สามารถควบคุมการสร้างคุณภาพโปรตีนสูงและการใช้ไนโตรเจนอย่างมีประสิทธิภาพในข้าวโพดได้สำเร็จ หลังจากใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปี

5. จีนแสดงจุดยืนในการใช้ AI ด้านการทหาร

17 พ.ย. 65 – นายหลี่ ซง เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มด้านกิจการลดอาวุธของจีนประจำสหประชาชาติ ได้นำคณะเข้าร่วมการประชุมทบทวนอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยอาวุธบางประเภท(Convention on Certain Conventional Weapons: CCW) ประจำปี พ.ศ. 2565 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมส่งเอกสารแสดงจุดยืนในการควบคุมการใช้งาน AI ทางทหาร และเสนอให้สหประชาชาติควบคุมการใช้ AI ทางทหารอย่างเหมาะสมและถูกต้องตามแนวทางจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ มุ่งการผลักดันเทคโนโลยี AI ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้คนในทุกประเทศ พร้อมเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ที่พัฒนาและประยุกต์ใช้ AI ในด้านทหาร ยึดมั่นในกฎเกณฑ์และแนวปฏิบัติจริยธรรมด้านปัญญาประดิษฐ์อย่างรอบคอบและมีความรับผิดชอบ

  • http://www.stdaily.com/index/kejixinwen/202211/2528f1b9e22a4c41aba8f346934cb2fc.shtml
  • http://www.stdaily.com/index/kejixinwen/202211/3b38283a4edd4acc92ee2a3845fc1b5c.shtml
  • http://www.stdaily.com/index/kejixinwen/202211/c60bcfb4316f4dc9a873c091ec6b7b9a.shtml
  • http://www.stdaily.com/index/kejixinwen/202211/79f3996aa21145728f499fc28ca49058.shtml
  • http://www.stdaily.com/index/kejixinwen/202211/ff737a9c9a3447cd819bceb2b0faceef.shtml

ผู้จัดทำ นวัต จึงเจริญธรรม
ผู้ตรวจทาน น้ำทิพย์ ทองทิพย์