ไฮไลท์
- หลายปีมานี้ ผลไม้จากอาเซียนเป็น “สินค้านำเข้าดาวเด่น” ของท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ (คนไทยรู้จักในชื่อ “อ่าวตังเกี๋ย”) โดยเฉพาะผลไม้ไทย ได้แก่ ลำไย ทุเรียน มังคุด และมะม่วง และผลไม้เวียดนาม โดยท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ของกว่างซีได้เริ่มพัฒนาเส้นทางเดินเรือสายตรง (Express service) สำหรับขนส่งผลไม้เส้นแรกเมื่อปี 2560 กับประเทศไทย ต่อด้วยประเทศเวียดนาม และล่าสุดกับประเทศกัมพูชา
- Wanhai Lines, YangMing Lines และ Sealand MAERSK Asia สายการเดินเรือยักษ์ใหญ่ 3 ราย ได้จับมือเปิดให้บริการเส้นทางเดินเรือสายตรง (Express service) เส้นทางใหม่สำหรับการขนส่งผลไม้จากอาเซียนมาที่ท่าเรือชินโจว ในเส้นทาง “ท่าเรือชินโจว – ท่าเรือหนิงโป – ท่าเรือเซี่ยงไฮ้ – ท่าเรือสีหนุ – ท่าเรือกรุงเทพฯ – ท่าเรือแหลมฉบัง – ท่าเรือชินโจว”
- ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดใช้เส้นทางเดินเรือเส้นทางใหม่นี้มากกว่ากัมพูชา เนื่องจาก Route การเดินเรือต้องแวะเทียบท่าที่ท่าเรือกรุงเทพฯ และท่าเรือแหลมฉบัง ก่อนเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือชินโจวของกว่างซี และผลไม้ไทยได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปจีนมากถึง 22 ชนิด ขณะที่กัมพูชาได้รับอนุญาตเพียงกล้วยหอมเท่านั้น
- ท่าเรือชินโจว เป็น “ทางเลือก” ที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับผู้ส่งออกไทยที่ต้องการขนส่งสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีน(ตะวันตก) โดยเฉพาะสินค้าผลไม้ ยิ่งช่วงฤดูกาลผลไม้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรแออัดและตู้สินค้าตกค้างบริเวณด่านทางบกโหย่วอี้กวาน และสามารถใช้ประโยชน์จากโมเดล “เรือ+ราง” ที่สามารถขนถ่ายตู้สินค้าได้แบบไร้รอยต่อ เพื่อส่งสินค้าต่อไปยังเอเชียกลางและยุโรป ซึ่งใช้เวลาสั้นกว่าทางเรือกว่าครึ่ง
สายการเดินเรือยักษ์ใหญ่ 3 ราย (Wanhai Lines, YangMing Lines และ Sealand MAERSK Asia) จับมือเปิดให้บริการเส้นทางเดินเรือสายตรง (Express service) สำหรับขนส่งผลไม้อาเซียนมาที่ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ในเส้นทางใหม่ ได้แก่ เส้นทาง “ท่าเรือชินโจว – ท่าเรือหนิงโป – ท่าเรือเซี่ยงไฮ้ – ท่าเรือสีหนุ – ท่าเรือกรุงเทพฯ – ท่าเรือแหลมฉบัง – ท่าเรือชินโจว”
สื่อท้องถิ่น รายงานว่า ความเคลื่อนไหวนี้เป็นมิติใหม่ของการขนส่งผลไม้จากประเทศกัมพูชา (ท่าเรือสีหนุ) มาที่อ่าวเป่ยปู้เป็นครั้งแรก (ท่าเรือสีหนุ – ท่าเรือชินโจว ใช้เวลาราว 7 วัน) โดยสายการเดินเรือยักษ์ใหญ่ 3 รายนี้ใช้เรือบรรทุกสินค้าแบบตู้คอนเทนเนอร์ (Container ship) ที่มีระวางบรรทุกตู้สินค้า 1,800 TEUs จำนวน 3 ลำ มาให้บริการ มีรอบให้บริการทุกวันศุกร์ของสัปดาห์
หลายปีมานี้ ผลไม้จากอาเซียนเป็น “สินค้านำเข้าดาวเด่น” ของท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ (คนไทยรู้จักในชื่อ “อ่าวตังเกี๋ย”) โดยเฉพาะผลไม้ไทย (ลำไย ทุเรียน มังคุด และมะม่วง) และผลไม้เวียดนาม โดยท่าเรืออ่าวเป่ยปู้กว่างซีได้เริ่มพัฒนาเส้นทางเดินเรือสายตรง (Express service) สำหรับขนส่งผลไม้เป็นเส้นแรกเมื่อปี 2560 กับประเทศไทย ต่อด้วยประเทศเวียดนาม และประเทศกัมพูชา (ท่าเรือสีหนุ)
ตามรายงาน ปี 2563 ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้มีปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ทะลุ 5 ล้าน TEUs เป็นครั้งแรก ขยายตัว 31% (YoY) ทำให้ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ทะยานสู่ 10 อันดับท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเลที่มีปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์มากที่สุดในประเทศจีน และติด 40 อันดับท่าเรือที่สำคัญของโลก นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา การค้าผลไม้ผ่านท่าเรืออ่าวเป่ยปู้มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 151% และในปี 2563 ปริมาณขนถ่ายผลไม้จากท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ไปยังอาเซียนมีอัตราการขยายตัว 17% (YoY)
ในทางกลับกัน ผลไม้เขตกึ่งร้อนจากพื้นที่ตอนในของจีนก็สามารถใช้ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้เพื่อส่งออกไปอาเซียนได้เช่นกัน เช่น ส้มแมนดารินจากนครฉงชิ่ง เลมอนจากมณฑลเสฉวน และแอปเปิลจากมณฑลส่านซี ซึ่งเป็นการส่งเสริมการค้าแบบสองทางเพื่อสร้างสมดุลให้กับโครงสร้างการค้าระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกอาเซียนด้วย
บีไอซี เห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดใช้เส้นทางเดินเรือเส้นทางใหม่นี้มากกว่ากัมพูชา ด้วยเหตุผลหลัก คือ (1) Route การเดินเรือต้องแวะเทียบท่าที่ท่าเรือกรุงเทพฯ และท่าเรือแหลมฉบัง ก่อนเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือชินโจวของกว่างซี (2) ชนิดผลไม้ที่รัฐบาลจีนอนุญาตให้นำเข้าจากกัมพูชามีเพียงกล้วยหอม ขณะที่ประเทศไทยได้รับอนุญาตมากถึง 22 ชนิด
นอกจากเส้นทางเดินเรือเส้นใหม่นี้ ปัจจุบัน การเดินเรือระหว่างท่าเรือชินโจวกับประเทศไทย (ท่าเรือแหลมฉบัง) มีผู้ให้บริการเดิมอยู่ 3 ราย ได้แก่ บริษัท SITC บริษัท PIL และบริษัท EMC ที่ใช้เวลาขนส่งสั้นสุดเพียง 4 วันเท่านั้น โดยเฉพาะบริษัท SITC เป็นสายเรือที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาให้ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้เป็น “ด่านนำเข้าผลไม้” มีเส้นทางเดินเรือ Direct service เพื่อนำเข้าผลไม้จากประเทศไทยอยู่ 2 เส้นทาง และบริษัทฯ มีแผนจะเพิ่มเส้นทางเดินเรือกับประเทศสมาชิกอาเซียนอีกในอนาคต
ท่าเรือชินโจว เป็น “ทางเลือก” ที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกไทยที่ต้องการขนส่งสินค้าไปเจาะตลาดจีน(ตะวันตก) โดยเฉพาะสินค้าผลไม้ ที่สำคัญ เป็นช่องทางในการระบายผลไม้ไทยในช่วงฤดูกาลผลไม้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรแออัดและตู้สินค้าตกค้างบริเวณด่านทางบกโหย่วอี้กวานในช่วงเดือนเมษายน ช่วงเทศกาลตรุษจีน และช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ของทุกปี
นอกจากนี้ ผู้ส่งออกไทยยังสามารถใช้ประโยชน์จากโมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” สามารถขนถ่ายตู้สินค้าได้แบบไร้รอยต่อที่ท่าเรือชินโจว เพื่อสำเลียงสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป ซึ่งใช้เวลาสั้นกว่าทางเรือกว่าครึ่ง โดยระบบงานขนส่งดังกล่าวสามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้หลากหลายประเภท ทั้งตู้คอนเทนเนอร์ทั่วไป ตู้คอนเทนเนอร์แบบที่มีเครื่องทำความเย็น (Reefer) สำหรับการขนส่งผลไม้และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่แข็ง รวมถึงตู้คอนเทนเนอร์แบบ Open Top ซึ่งเหมาะสำหรับสินค้าเทกอง
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 12 มีนาคม 2564
ภาพประกอบ www.freepik.com
ขอบคุณที่มาของข้อมูล : Thaibizchina