เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 สถาบัน Shanghai Institute for Science of Science ได้เผยแพร่รายงาน “สุดยอดเมืองนวัตกรรมโลกประจำปี 2562” ในงาน Pujiang Innovation Forum ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ โดยสถาบันฯ ร่วมกับสำนักพิมพ์ Springer Nature ทำการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเมืองศูนย์กลางนวัตกรรมทั่วโลกจำนวน 20 เมือง ข้อสรุปพบว่าเมืองเหล่านี้เป็นผู้นำและมีส่วนร่วมในผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั่วโลกถึงร้อยละ 63.8 และสร้างคุณูปการผลงานวิจัยระดับสูงเป็นสัดส่วนร้อยละ 27.3 หรือกว่า 1 ใน 4 โดยมีสัดส่วนประชากรไม่ถึงร้อยละ 2.5 ของประชากรโลก เป็นกลุ่มเมืองที่มีบทบาทสำคัญในฐานะศูนย์กลางของเครือข่ายการสร้างนวัตกรรมโลก รายงานดังกล่าวได้ทำการวิเคราะห์ผลงานวิจัยตีพิมพ์ระหว่างปี 2555-2560 ในฐานข้อมูลของ 82 วารสารวิชาการชั้นนำระดับสากล อาทิ Nature Science และ Cell ในมิติต่างๆ ดังนี้

  • ความสามารถในการคิดค้นนวัตกรรมและอิทธิพลทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยใช้ข้อมูลผู้เขียนและปริมาณผลงานเป็นดัชนีชี้วัดหลัก ผลการวิเคราะห์พบว่า นิวยอร์กเป็นอันดับหนึ่งติดต่อกัน 6 ปี ตามด้วยบอสตัน และปักกิ่ง ส่วนเซี่ยงไฮ้อยู่ลำดับที่ 7 โดยการเปลี่ยนแปลงทางอันดับของกลุ่มเมืองจากประเทศจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กลุ่มเมืองจากทวีปอเมริกามีแนวโน้มลดลง
  • การค้นพบที่สำคัญทางวิทยาศาสตร์ จากข้อมูลผลงานการค้นพบสำคัญทางวิทยาศาสตร์ประจำปีของนิตยสาร Nature และนิตยสาร Science พบว่า ซานฟรานซิสโกอยู่อันดับหนึ่งด้วยจำนวนผลงาน 12 ชิ้น บอสตัน 11 ชิ้น และลอนดอน 4 ชิ้น ขณะที่ปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้มีผลงานสำคัญ 3 และ 2 ชิ้นตามลำดับ
  • การสร้างความร่วมมือในการวิจัย จากข้อมูลสถิติของผลงานวิจัยร่วมระหว่างสถาบันพบว่า กลุ่มเมืองของสหรัฐฯ ได้แก่ นิวยอร์ก บอสตัน ซานฟรานซิสโก และลอส แองเจลิส มีความเชื่อมโยงด้านความร่วมมือในการวิจัยอยู่ในระดับสูง ก่อให้เกิดเครือข่ายการสร้างนวัตกรรมที่ทำให้สหรัฐฯ เป็นศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมของโลก ขณะที่ความเชื่อมโยงระหว่างปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

รายงานดังกล่าวระบุว่า แม้จีนจะมีความก้าวหน้าทางนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา โดยมีปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้เป็นตัวแทนของเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จนมีอิทธิพลและความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก แต่ในภาพรวมจีนยังล้าหลังกว่าเมืองในฝั่งตะวันตกในหลายด้าน เช่น การเป็นผู้นำในการวิจัยและคิดค้นนวัตกรรมสมัยใหม่ รวมถึงการมีส่วนร่วมและสร้างความร่วมมือในการวิจัยระหว่างประเทศ รายงานได้ระบุข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการยกระดับและสร้างเมืองศูนย์กลางนวัตกรรมระดับโลกของจีน ดังนี้

ประการแรก คือ การยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลักดันการสร้างสรรค์นวัตกรรมของห้องปฏิบัติการแห่งชาติ เพื่อเป็นแกนหลักของยุทธศาสตร์แห่งชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เร่งปฏิรูปการบริหารจัดการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ กำหนดบทบาทและความรับผิดชอบของสถาบันวิจัยสาธารณะ เช่น ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีแห่งชาติ สถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยสังกัดรัฐบาลกลาง  สนับสนุนกลไกความร่วมมือระหว่าง สถาบันวิจัย ผู้ประกอบการ และภาคส่วนสังคม ให้เป็นพลังที่แข็งแกร่งในการคิดค้นนวัตกรรม

ประการที่สอง คือ ยกระดับสถานะเมืองศูนย์กลางนวัตกรรมในเครือข่ายนวัตกรรมสากล เสริมสร้างอิทธิพลในการเป็นผู้นำด้านการวิจัยของเมืองนวัตกรรม ดำเนินการแลกเปลี่ยนนวัตกรรมและความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างกว้างขวางมากขึ้น สร้างสภาพแวดล้อมในการวิจัยและสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมแบบผสมผสานที่จะดึงดูดนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกให้เข้าร่วมการวิจัยแนวหน้าของจีน

ประการที่สาม บ่มเพาะระบบสร้างสรรค์นวัตกรรมระดับภูมิภาค ใช้ประโยชน์ของเมืองนวัตกรรมและข้อได้เปรียบทางทรัพยากร พัฒนาสภาพแวดล้อมทางการวิจัย นโยบาย ตลาด และการประกอบธุรกิจ เพื่อให้เมืองศูนย์กลางนวัตกรรมเป็นแหล่งสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ การค้นพบใหม่ทางวิทยาศาสตร์ และการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ ส่งเสริมการบูรณาการระบบนวัตกรรมของเมืองศูนย์กลางและพื้นที่โดยรอบให้เป็นเครือข่ายนวัตกรรมระดับโลก

(photo: nxpo)

บทวิเคราะห์ / ข้อคิดเห็น

รัฐบาลจีนให้ความสำคัญต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะความสามารถในการวิจัยและคิดค้นนวัตกรรมที่ถือเป็นส่วนสำคัญของยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในยุคใหม่ จากพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดโดยมีปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้เป็นตัวแทนเมืองศูนย์กลางนวัตกรรมระดับโลกของจีน ทำให้การสร้างความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับจีนเป็นทิศทางนโยบายที่นานาประเทศต้องให้ความสำคัญ การพัฒนาความร่วมมือในด้านเมืองศูนย์กลางนวัตกรรมกับจีนผ่านรูปแบบต่างๆ เช่น ความเชื่อมโยงเชิงนโยบายระหว่างเมืองนวัตกรรม การสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนระหว่างสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยและภาคธุรกิจ เป็นแนวทางที่ไทยอาจพิจารณาส่งเสริมและผลักดัน เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาปฏิรูปประเทศด้วยนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ที่มา