1. แผนการพัฒนาเทคโนโลยี 5G

แผนพัฒนาอุตสาหกรรมการสื่อสารโทรคมนาคมแห่งชาติระยะ 5 ปี (2558 – 2562) ของจีนระบุว่าการพัฒนาเทคโนโลยี 5G เป็น “สิ่งสำคัญสำหรับยุทธศาสตร์การพัฒนาและปฏิรูปประเทศ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อนโยบาย Made in China 2025 และนโยบาย AI 2030 โดยการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ของจีนได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (MIIT) คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (NDRC) และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (MOST) ร่วมกันจัดตั้งทีมวิจัย IMT-2020 (5G) ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2556 ประกอบไปด้วยบุคลากรจากหน่วยงานด้านโทรคมนาคมทั้งในประเทศและต่างประเทศกว่า 56 หน่วยงาน เพื่อเป็นองค์กรหลักที่ดำเนินการวิจัยเทคโนโลยีสำคัญและคิดค้นผลิตภัณฑ์ของ 5G จัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ทดสอบการใช้เทคโนโลยี 5G กำหนดแผนการบริหารคลื่นความถี่ 5G และผลักดันการใช้งานสัญญาณ 5G เชิงพาณิชย์ เพื่อบรรลุเป้าหมายของประเทศในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำในด้านมาตรฐานและเทคโนโลยี 5G ของโลก

ในช่วงระหว่างปี 2559-2561 ทีมวิจัย IMT-2020 (5G) ได้แบ่งแผนการวิจัยและพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ การวิจัยเทคโนโลยีหลักของ 5G การทดสอบเทคโนโลยี 5G และการทดสอบระบบปฏิบัติการ 5G ซึ่งได้บรรลุเป้าหมายตามลำดับจนเสร็จสิ้นในช่วงปลายปี 2561 สอดคล้องกับนโยบายของคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติและกระทรวงการคลัง ที่ประกาศลดค่าสัมปทานการใช้คลื่นความถี่ 5G เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2561 โดยงดเว้นค่าสัมปทาน 3 ปีแรกและเก็บค่าสัมปทานใน 3 ปีถัดมาแบบขั้นบันได (ร้อยละ 25 50 และ 75 ของค่าสัมปทานปกติตามลำดับ) เพื่อลดภาระต้นทุนของผู้ให้บริการเครือข่ายสัญญาณ 5G และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนา 5G ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ส่งผลให้การวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ 5G ของจีนพัฒนาอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้านอุปกรณ์สำหรับคลื่นความถี่ระยะกลาง 5G ชิ้นส่วน Terminal chip ของอุปกรณ์ 5G และสมาร์ทโฟน 5G

2. การเข้าสู่ยุค 5G ของจีน

ผลสำเร็จของการวิจัยพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยี 5G ของจีน ทำให้การผลักดันการใช้สัญญาณ 5G เชิงพาณิชย์ของจีนดำเนินไปอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2562 นายเหมียว เหวย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมฯ ได้ทำการมอบใบอนุญาตดำเนินการเครือข่าย 5G แก่บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมรายใหญ่จำนวน 4 ราย ได้แก่ บริษัท China Telecom บริษัท China Mobile บริษัท China Unicom และบริษัท China Broadcast Network ซึ่งสื่อมวลชนของจีนรายงานว่าเป็นสัญลักษณ์การเข้าสู่ยุค 5G อย่างเป็นทางการของจีน ภายหลังพิธีมอบใบอนุญาตฯ นายเหมียว เหวย กล่าวว่า ผู้ประกอบการควรศึกษาและปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล เร่งต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยี 5G ทั้งในด้านการประยุกต์ใช้และการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องให้สามารถใช้งานได้อย่างทั่วถึง โดยคำนึงถึงความต้องการของตลาดและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก มุ่งเน้นพัฒนาอินเตอร์เน็ตเชิงอุตสาหกรรม อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of things: IoT) และอินเทอร์เน็ตของยานพาหนะ (Internet of Vehicles: IoV) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมจีนสู่ความเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมอัจฉริยะ นอกจากนี้ จีนพร้อมเปิดรับและสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติเพื่อร่วมพัฒนาและแบ่งปันผลประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ของจีนในอนาคตอันใกล้

นอกจากนี้ ข้อมูลในเอกสารปกขาวเรื่อง “การพัฒนาการประยุกต์ใช้ 5G ของจีน ฉบับปี 2562” โดยสถาบันวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (China Academy of Information and Communications Technology) หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมฯ ได้คาดการณ์ว่าในอนาคต 5 ปีข้างหน้า (ปี 2563-2568) เทคโนโลยี 5G ของจีนจะดึงดูดมูลค่าการลงทุนรวมสูงถึง 0.9 – 1.5 ล้านล้านหยวน และจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจกว่า 10.6 ล้านล้านหยวน รวมถึงตำแหน่งงานกว่า 3 ล้านตำแหน่ง

3. สถานการณ์การทดลองใช้สัญญาณ 5G

ในเดือนสิงหาคม 2562 สำนักข่าว Xinhua ได้รายงานการเตรียมตัวเปิดให้บริการเครือข่ายสัญญาณ 5G เชิงพาณิชย์ในเมืองหลักภายในเดือนกันยายน 2562 เร็วกว่าเป้าหมายที่เคยตั้งไว้ภายในปี 2563 ซึ่งรัฐบาลจีนได้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในสาขาและภาคส่วนต่างๆ อาทิ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การคมนาคม การแพทย์ การศึกษา การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน การท่องเที่ยว การดำเนินงานภาครัฐ เป็นต้น ทั้งนี้ การทดลองใช้สัญญาณ 5G ของจีนในช่วงปี 2562 สรุปได้ดังนี้

3.1 เดือนมีนาคม 2562 สำนักข่าว Xinhua ได้รายงานการทดลองใช้งานสัญญาณอินเทอร์เน็ต 5G ในเขตหงโข่ว มหานครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งได้ติดตั้งเสาสัญญาณ 5G จำนวน 228 แห่ง โดยทดลองใช้กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยการโทรศัพท์ Video Call และใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านสัญญาณ 5G โดยไม่ต้องเปลี่ยน SIM และเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งการใช้งานสัญญาณ 5G มีความรวดเร็วและไม่ติดขัด ทั้งนี้ รัฐบาลท้องถิ่นมหานครเซี่ยงไฮ้ได้กำหนดให้เขตหงโข่วเป็นพื้นที่หลักในการพัฒนาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในด้านต่างๆ ของเซี่ยงไฮ้ในอนาคต

3.2 เดือนพฤษภาคม 2562 สำนักข่าว China News รายงานว่า กองกำกับการตำรวจจราจร นครหนาน
หนิง มณฑลกว่างสี ร่วมกับคณะวิจัยวิทยาศาสตร์ข้อมูล มหาวิทยาลัยชิงหวา ทำการทดลองใช้เทคโนโลยี 5G ร่วมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (5G+AI) ในการรับส่งข้อมูลสภาพการจราจรบนท้องถนน โดยใช้เทคโนโลยี AI ในการตรวจจับการทำผิดกฎจราจรและส่งกลับข้อมูลไปยังจุดตรวจบริเวณใกล้เคียงอย่างรวดเร็ว เพื่อลดอัตราการหลบหนีภายหลังการทำผิดกฎจราจร หากการประยุกต์ใช้ระบบสำเร็จ ในขั้นต่อไปจะต่อยอดพัฒนาระบบตรวจจับความเสี่ยงและสภาพการจราจรตามเวลาจริง (Real Time) เพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมการจราจร ลดการเกิดอุบัติเหตุและความแออัด โดยตั้งเป้าหมายให้นครหนานหนิงเป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาระบบควบคุมการจราจรอัจฉริยะด้วย 5G+AI นอกจากนี้ สำนักข่าว China Daily ได้รายงานการตรวจสอบสภาพสายไฟฟ้าในระยะไกลด้วยอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ด้วยสัญญาณ 5G เป็นครั้งแรกของการไฟฟ้าเมืองเทียนจิน (The State Grid Tianjin Electric Power Company) เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภายใต้สัญญาณอินเตอร์เน็ต 5G ที่มีความเสถียรและความเร็วสูง เพื่อทดแทนการใช้มนุษย์ในงานซ่อมแซมที่มีความเสี่ยงสูง

3.4 เดือนสิงหาคม 2562 สำนักข่าว Xinhua รายงานการผ่าตัดทางไกลด้วยหุ่นยนต์ของโรงพยาบาลในกรุงปักกิ่งผ่านสัญญาณ 5G โดยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดสามารถควบคุมการผ่าตัดกระดูกสันหลังของคนไข้ในโรงพยาบาล 3 แห่ง ได้แก่ เมืองเทียนจิน เมืองจางเจียโข่ว มณฑลเหอเป่ย และเมืองเค่อลามาอี มณฑลซินเจียง โดยไม่เกิดการติดขัดหรือล่าช้าของการส่งสัญญาณ และสามารถทำการผ่าตัดสำเร็จลุล่วงภายในเวลาเพียง 3 ชั่วโมง

(photo: engineering.com)

บทวิเคราะห์ / ข้อคิดเห็น

ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการโทรคมนาคมเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศในหลายด้าน อาทิ อุตสาหกรรม เทคโนโลยี เศรษฐกิจและสังคม การศึกษา การคมนาคม เป็นต้น การเข้าสู่ยุค 5G ของจีนจะนำมาซึ่งโอกาสใหม่ เป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันการปฏิรูปอุตสาหกรรม พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมจีนสู่ความเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมอัจฉริยะ รวมถึงส่งเสริมการก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของจีนในเวทีโลก

สำหรับเป้าหมายของไทยในการยกระดับเทคโนโลยี อุตสาหกรรม เศรษฐกิจดิจิทัล ตามแนวนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน การพัฒนาระบบโทรคมนาคมให้สามารถใช้งานได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมเป็นปัจจัยสำคัญที่ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญและร่วมกันผลักดัน ยการสร้างความร่วมมือกับประเทศจีนอาจเป็นหนึ่งในทางเลือกของการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ของไทย เช่น การศึกษาข้อมูลการวางระบบพื้นฐาน การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี การกำหนดมาตรฐาน การประยุกต์ใช้ และนำตัวอย่างมาปรับใช้อย่างเหมาะสม ตลอดจนถึงการกำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้แก่ภาคเอกชนในฐานะผู้ดำเนินการ ในขณะเดียวกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องคำนึงถึงมาตรการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมา เช่น การร่างกฎหมายและกำหนดกฎระเบียบด้านเทคโนโลยีการสื่อสารที่โปร่งใส เป็นธรรม และเหมาะสมกับนวัตกรรมและถึงเทคโนโลยีใหม่ที่จะปรับใช้ในอนาคตบนพื้นฐานของระบบ 5G

ที่มา