ย้อนรอยความพยายามอย่างหนักของจีนในการแก้ปัญหาทำร้ายร่างกายในโรงเรียน หลังเกิดปัญหามานาน ล่าสุดเด็ก 16 ปี ในปักกิ่ง โดนทำร้ายร่างกายจากเพื่อนนักเรียนมานาน จนกลายเป็นกระแสสังคมจีน
.
ช่วงนี้ที่ไทยกำลังมีประเด็นฮอตเกี่ยวกับ “การทำร้ายร่างกาย-การ Bully ในโรงเรียย” ซึ่งในจีนเองก็กำลังมีประเด็นนี้เช่นกัน โดยเกิดขึ้นที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในกนุงปักกิ่ง เมื่อเด็กชายอายุ 16 ปี โดนเพื่อนนักเรียน 8 คน ทำร้ายร่างกายหลายครั้ง โดยทางโรงเรียนได้ออกมาชี้แจงว่า ได้มีการดำเนินการสอบสวนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว
.
การบูลลี่ หรือทำร้ายในโรงเรียน ถือเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญในวงการศึกษาจีนที่เกิดขึ้นมานานและถือว่ารุนแรงทีเดียว โดยทางจีนเองก็มีการดำเนินการทางกฎหมายต่อเด็กที่กระทำผิด พิจารณาตามความรุนแรงและตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างเช่น เมื่อปี 2017 ศาลเขตทงโจว กรุงปักกิ่ง สั่งลงโทษนักเรียนหญิง 14 คน อายุ 15-17 ปี ให้เข้ารับการฝึกทางทหารหลังจากทำผิดกรณีทำร้ายร่างกายในโรงเรียน
.
อย่างที่เล่าไปข้างต้น จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัญหา Bullying หรือการกลั่นแกล้ง ในโรงเรียน อย่างหนัก จนถึงขั้นมีเด็กเสียชีวิต เกิดจากฆ่าตัวตาย หรือจากการทำร้าย โดยการกลั่นแกล้งจากเพื่อนร่วมชั้นเรียน จำนวนมากในหลายปีที่ผ่านมา
.
ศาลจีนเผยว่า ในแต่ละปีมีคดีความที่เกี่ยวกับการกลั่นแกล้งในโรงเรียนหลายร้อยคดี อย่างในปี 2017 มีประมาณ 800คดี
.และถ้าพูดถึงคดีที่เป็นที่สนใจในโลกออนไลน์จีนวงกว้างในช่วงหลายปีมานี้ ขอยกคดีนี้
.
“คุณพ่อชาวจีนในมณฑลเจียงซี แค้นที่ลูกสาววัยประถมต้น ถูกเพื่อนแกล้งทุกวัน พยายามเคลียร์กับผู้ปกครองของอีกฝั่ง ก็ไม่ยอมมาเคลียร์ตามนัด สุดท้ายจึงบันดาลโทสะด้วยการเอามีดแทงเด็กนักเรียนประถมที่เป็นคนแกล้งลูกสาวของตน จนเสียชีวิต ซึ่งท้ายที่สุด ชายชาวจีนคนนี้ถูกศาลจีนตัดสินประหารชีวิต..”
.
เรื่องราวสุดสลดข้างต้น ไม่ได้มีแค่เรื่องเดียว แต่ในรอบหลายปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในจีน จึงเกิดกระแส “ต่อต้าน – ป้องกัน และลดปัญหา Bullyingในชั้นเรียน” โดยทั้งภาครัฐและเอกชนของจีนได้มีมาตรการต่างๆเพื่อแก้ไขเรื่องนี้
.
อ้ายจงขอยกตัวอย่างคร่าวๆประมาณนี้
– ในปี 2017 โรงเรียนซ่างไฮ่ซ่างหนาน โรงเรียนมัธยมในมหานครเซี่ยงไฮ้ เป็นโรงเรียนนำร่องที่ขายรับนโยบายป้องกันBullyingระดับชาติจีน โดยโรงเรียนแห่งนี้ได้ออกคู่มือสำหรับนักเรียนและผู้ปกครอง เพื่อรับมือและป้องกันการกลั่นแกล้งรวมถึงการทำให้อับอายทางโลกไซเบอร์
.
คู่มือขนาดความยาว 4,000 ตัวอักษรจีน เล่มนี้ ถือเป็นคู่มือเล่มแรกของจีน ที่ตีพิมพ์ออกมาเพื่อแก้ปัญหาการกลั่นแกล้งและทำให้อับอายบนโลกไซเบอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของวัยรุ่นจีน
.
– ปี 2018 รัฐบาลมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ได้ออกกฎระเบียบควบคุมโรงเรียนในมณฑลกว่างตง เพื่อรับมือปัญหา Bullying ด้วยการออกกฎ “หากเกิดเหตุการกลั่นแกล้งและทำร้ายกันในโรงเรียน ทางโรงเรียนนั้นจะต้องดำเนินการสืบสวนเพื่อค้นหาความจริง รวมถึงจัดการต่อเด็กที่กระทำผิดอย่างเร่งด่วนภายในระยะเวลา10วัน มิเช่นนั้นโรงเรียนจะโดนลงโทษ”
.
– เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ของเดือนธันวาคม 2019 โครงการคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากการBullyingในโรงเรียนได้ถูกจัดตั้งขึ้นในกรุงปักกิ่ง โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเด็กและวัยรุ่นจีน (China Children and Teenagers’ Fund) และบริษัทกฎหมายในปักกิ่ง
.
ตัวโครงการมีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพจิต, การปกป้องตนเองจากการถูกกลั่นแกล้ง, การให้ความรู้ทางด้านกฎหมายเพื่อให้รู้ว่าหากถูกแกล้ง สามารถเอาผิดอย่างไรได้บ้าง รวมถึงการให้คำปรึกษาและเยียวยาเด็กที่ถูกกลั่นแกล้ง โดยกลุ่มเป้าหมายคือ โรงเรียนประถมประมาณ 1,000โรงเรียน ทั่วประเทศจีน
.
– ในแง่ของภาคเอกชน และกระแสจากโลกออนไลน์ที่มีผลต่อการแก้ปัญหานี้ก็มีให้เห็นเช่นกัน อย่างกรณีภาพยนตร์จีน 少年的你 หรือในชื่อภาษาอังกฤษ Better Days ที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการเสียชีวิตของเด็กที่ถูกกลั่นแกล้ง ก็ถูกพูดถึงจนเป็นกระแส Viralบนโลกโซเชียลจีน ทำให้การเรียกร้องถึงการแก้ปัญหา bullyingอย่างยั่งยืนถูกจุดประเด็นขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งก็เป็นไปดังความตั้งใจของผู้สร้างภาพยนตร์ที่ต้องการให้ทุกคนตระหนักถึงความรุนแรงของ Bullyingในโรงเรียน
.
สำหรับการBullyingในจีน ก็มีให้เห็นหลายรูปแบบไม่ว่าจะ การล้อเลียน-ล้อปมด้อย เช่น รูปร่างหน้าตา, การทำให้อับอายในที่สาธารณะ, การทำลายข้าวของส่วนตัว,การทำร้ายร่างกาย และการด่าทอบนโลกInternet
.
ทั้งนี้ประเด็นกฎหมายเอาผิดและบทลงโทษต่อเด็กจีน ที่ตามกฎหมายจีนจะไม่มีบทลงโทษทางอาญาต่อเด็กอายุต่ำกว่า14ปี ก็ยังคงเป็นสื่งที่ชาวจีนหลายคนรู้สึกว่า “ไม่ยุติธรรม และควรได้รับการแก้ไข” โดยเฉพาะเมื่อมีการกลั่นแกล้งกันจนมีเหตุให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต
.
ขอย้ำนะครับว่า “Bullyingมันไม่ใช่เรื่องเล็ก และควรได้รับการแก้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเกิดที่ไหนบนโลกใบนี้ก็ตาม” และคนที่ชอบBullyคนอื่น ก็เลิกซะนะครับ “มันไม่สนุกเลย”
—
#อ้ายจง #เล่าเรื่องเมืองจีน #ชีวิตในจีน #Bullying
ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
แฟนเพจอ้ายจง