ภาพรวมเศรษฐกิจ
ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) มีมูลค่ารวม 220,710 ล้านหยวน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 13.2 เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 9.4 จำแนกเป็น
– อุตสาหกรรมปฐมภูมิ มูลค่า 16,480 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4
– อุตสาหกรรมทุติยภูมิ มูลค่า 69,200 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7
– อุตสาหกรรมตติยภูมิ มูลค่า 135,030 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6
- ภาคการเกษตร
ภาพรวมการเกษตรในไตรมาสแรกของปี 2564 มีมูลค่า 32,350 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 โดยผลผลิตผักสดมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ด้วยมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรกว่า 809,000 หมู่ (ราว 331,557 ไร่) สร้างผลผลิตทางการเกษตรได้มากกว่า 1.14 ล้านตัน นอกจากนี้ ผลผลิตทางปศุสัตว์ที่มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสัตว์ปีก เนื้อแพะ และวัว เติบโตขึ้นร้อยละ 16.6 10.7 และ 3.6 ตามลำดับ
- การลงทุนในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (Large Scale Industries)
การลงทุนในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 โดยหากพิจารณาตามประเภทอุตสาหกรรมพบว่า (1) อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.4 (2) อุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.6 (3) อุตสาหกรรมการผลิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.8 และ (4) อุตสาหกรรมการผลิตยารักษาโรค เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.7 และ (5) อุตสาหกรรมการผลิตและหลอมโลหะเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.4
นอกจากนี้ ยังพบว่าการใช้ไฟฟ้าในอุตสาหกรรม มีมากถึง 26,320 กิโลวัตต์ชั่วโมง เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 สะท้อนให้เห็นว่าหลายภาคเศรษฐกิจได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดและฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับปกติในช่วงก่อน COVID-19 แล้ว
- การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร
ภาพรวมการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.1 โดยจำแนกเป็น (1) การลงทุนในการพัฒนาที่ดิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.9 และ (2) การลงทุนในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.3 นอกจากนี้ พบว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.8 ในจำนวนนี้ เป็นการลงทุนของภาคเอกชนร้อยละ 26.3
- การบริโภคในพื้นที่
การบริโภคในพื้นที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ภาพรวมทั้งมณฑลมีมูลค่ารวม 103,470 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 จำแนกเป็น (1) การค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในเขตเมือง 83,810 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.7 และ (2) การค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในชนบท 19,660 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.9 โดยกลุ่มธุรกิจอาหารเป็นธุรกิจที่ทำรายได้สูงสุด 12,850 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 72
นอกจากนี้ หากจำแนกกลุ่มธุรกิจที่มีอัตราการบริโภคอุปโภคเติบโตสูงสุด ได้แก่ (1) กลุ่มธุรกิจเครื่องประดับ (กลุ่มเครื่องประดับทองและเงิน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 99 (2) รถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 67.2 (3) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์การสื่อสาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.8 และ (4) กลุ่มเครื่องสำอาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.4
- การคมนาคมขนส่ง
ภาพรวมกิจกรรมการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารของกานซู มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
รูปแบบการขนส่งสินค้า | อัตราการเติบโตเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 | รูปแบบการขนส่งผู้โดยสาร | อัตราการเติบโตเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 |
1. ทางราง | เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 | 1. ทางราง | เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.2 |
2. ทางถนน | เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.6 | 2. ทางหลวง | ลดลงร้อยละ 10.5 |
- รายได้ประชากร
รายได้ประชากร (Disposable Income Per Capita) เฉลี่ย 5,727 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 จำแนกเป็น (1) รายได้ประชากรในเขตเมืองเฉลี่ย 9,332 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 (ค่าเฉลี่ยประเทศ 13,120 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2) และ (2) รายได้ประชากรในชนบทเฉลี่ย 3,114 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 (ค่าเฉลี่ยประเทศ 4,133 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.3)
- การค้าระหว่างประเทศ
ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของกานซูมีมูลค่า 13,600 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.1 ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศในไตรมาสแรกปรับตัวเพิ่มขึ้นในวงแคบ โดยเฉพาะการส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง ร้อยละ 1.7
– การส่งออก 2,070 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7
– การนำเข้า 10,990 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 70.7
ข้อมูลเพิ่มเติมจากศุลกากรนครหลานโจวระบุว่า การนำเข้า-ส่งออกเฉพาะในเดือน มี.ค. มีมูลค่า 4,430 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.2 จำแนกเป็น (1) การส่งออก 680 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 24.4 และ (2) การนำเข้า 3,750 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 77.7
- การลงทุนในอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Ecological Industries)
รัฐบาลกานซูได้ประกาศสนับสนุน 10 อุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อเป็นพื้นฐานการนำกานซูไปสู่มณฑลแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและพัฒนาได้อย่างยั่งยืน โดย 10 สาขาอุตสาหกรรมสีเขียว ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมการอนุรักษ์พลังงานและคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (节能环保产业) (2) อุตสาหกรรมการผลิตสีเขียว (节能环保产业) (3) อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสะอาด (清洁能源产业) (4) การเกษตรหมุนเวียน (循环农业) (5) อุตสาหกรรมยาสมุนไพรจีน (中医中药产业) (6) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (文化旅游产业) (7) อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ (通道物流产业) (8) รูปแบบอุตสาหกรรมที่ผสมผสานระหว่างการทหารและพลเรือน (军民融合产业) (9) อุตสาหกรรมข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ และ (10) อุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องใช้เทคโนโลยี ขั้นสูง (先进制造产业) นอกจากนี้ ยังมีนโยบายส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดเพื่อลดมลพิษและเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี สามารถเป็นฐานรองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคตได้ โดยในไตรมาสแรกของปี 2564 พบว่า 10 อุตสาหกรรมสีเขียว ทำรายได้รวม 54,330 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24.6 ของ GDP ทั้งมณฑล
- ความเคลื่อนไหวของวิสาหกิจไทยในพื้นที่
เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2564 ศุลกากรนครหลานโจว รายงานความคืบหน้าการตรวจสอบมาตรฐานโรงเรือนสุกรของ CP (Lanzhou) Food Co., Ltd ที่พร้อมเปิดดำเนินการแล้ว นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างโรงชำแหละสุกรเมืองชิ่งหยาง (庆阳市) ที่เริ่มก่อสร้างไปเมื่อ 31 มี.ค. 2563 ณ นิคมอุตสาหกรรมซีเฟิ่งเมืองชิงหยาง (庆阳市西峰工业园区) ด้วยเงินลงทุน 135 ล้านหยวน คาดว่าเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะมีกำลังการผลิตมากกว่า 500,000 ตัว (แบ่งเป็นสุกรที่ CP เลี้ยงเอง 300,000 ตัว และรับซื้อจากเกษตรกรท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการฟื้นฟูความยากจนจากภาครัฐอีก 200,000 ตัว) หรือคิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการแปรรูปแล้วราว 1,650 ตัน/ปี สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางความร่วมมือที่มุ่งสร้างประโยชน์ร่วมกันและพัฒนาได้อย่างยั่งยืน
อนึ่ง ในปี 2561 CP Group (Gansu) ได้ลงนามความร่วมมือกับรัฐบาลเมืองชิ่งหยางในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร พร้อมทั้งลงนามความร่วมมือกับนิคมอุตสาหกรรมซีเฟิ่งแห่งเมืองชิ่งหยางในกรอบความร่วมมือเกษตรสมัยใหม่ เพื่อร่วมในโครงการขจัดความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรในพื้นที่ ซึ่ง CP ได้ลงทุนในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ การเลี้ยงและชำแหละ การแปรรูปเนื้อสัตว์ การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และช่องทางการจำหน่ายสินค้า ซึ่งส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากความเคลื่อนไหวด้านการลงทุนแล้ว เมื่อ 28 เม.ย. 2564 CP Lanzhou ยังได้ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการจ้างงานสำหรับเยาวชนจีน (China Foundation For Youth Entrepreneurship and Employment) จัดกิจกรรมการแข่งขัน “การแข่งขันทางการตลาดสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี” (College Students’ entrepreneurial marketing competition) ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีและธุรกิจหลานโจว (Lanzhou Technology and Business College) เพื่อเพิ่มโอกาสการจ้างงานให้กับบัณฑิตจบใหม่ในสาขาวิชาที่กำลังเป็นที่ต้องการของ CP
- สรุป
ภาพรวมสภาวะเศรษฐกิจมณฑลกานซูในไตรมาสแรกของปี 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปรัฐบาลให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมหลักที่โดยมากมักอยู่ในภาคการผลิต ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มอัตราการจ้างงาน ในท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นแรงขับเคลื่อนการลงทุนในพื้นที่อีกด้วย อย่างไรก็ดี การค้าระหว่างประเทศของมณฑลกานซูและการพัฒนาอุตสาหกรรมที่อาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมยังคงเป็นความท้าทายที่รัฐบาลมณฑลกานซูต้องเร่งสนับสนุน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและฟื้นฟูแหล่งชนบท ส่งเสริมการเข้าถึงโอกาสและเครื่องมือการพัฒนาธุรกิจ โดยยึดหลักแนวคิด “4 ประการ” คือ (1) เพิ่มบทบาทการส่งเสริมระหว่างอุตสาหกรรมและเกษตรกร (推动形成工农互促) (2) เพิ่มบทบาทการส่งเสริมระหว่างเมืองและชนบท (城乡互补) (3) การประสานงานเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง(协调发展) และ (4) ร่วมสร้างความเจริญในการส่งเสริมระหว่างอุตสาหกรรมและเกษตรกรรูปแบบใหม่ (共同繁荣的新型工农城乡关系)
The post เศรษฐกิจกานซูรุ่ง! เร่งส่งเสริมนวัตกรรมในอุตสาหกรรมทำเงินหลัก appeared first on thaibizchina.