เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 คณะทำงานผู้บริหารของเขตการค้าเสรีนำร่องจีน (มณฑลหูหนาน) (China (Hunan) Pilot Free Trade Zone) ได้จัดการประชุมและเปิดเผยผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีของการก่อตั้งเขตการค้าเสรีนำร่องหูหนาน ซึ่งมีวิสาหกิจจดทะเบียนใหม่กว่า 2,000 ราย สามารถดึงดูดโครงการสำคัญ 111 โครงการ รวมมูลค่า 176,704 ล้านหยวน ในจำนวนนี้ เป็นบริษัทยอดเยี่ยม 500 อันดับแรกของโลก บริษัทยอดเยี่ยม 500 อันดับแรกของจีน และบริษัทเอกชนยอดเยี่ยม 500 อันดับแรกของจีน รวม 17 โครงการ
ในช่วงครึ่งปีของการก่อตั้งเขตการค้าเสรีนำร่องหูหนาน พื้นที่ย่อยทั้งสามแห่งซึ่งประกอบด้วย พื้นที่ย่อยฉางซา พื้นที่ย่อยเยว่หยาง และพื้นที่ย่อยเชินโจว ต่างดำเนินการพัฒนาพื้นที่ของตนอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของพื้นที่ย่อยฉางซา มีจุดเด่นจากการจัดตั้ง “ท่าการค้าดิจิทัลหวงฮัว” (Huanghua Digital Trade Port) ซึ่งเป็นท่าการค้าดิจิทัลแห่งแรกของเขตการค้าเสรีนำร่องหูหนาน สำหรับพื้นที่ย่อยเยว่หยาง เริ่มมีการดำเนินโครงการสำคัญบางส่วนแล้ว เช่น โครงการรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ และโครงการนำเข้าสินค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซข้ามแดน ขณะที่พื้นที่ย่อยเชินโจวมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมการอำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์และการชำระเงินข้ามแดนด้วยสกุลเงินหยวน
ที่สำคัญ ขณะนี้มณฑลหูหนานเริ่มดำเนินการสร้างเขตนำร่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าเชิงลึกระหว่างจีนและแอฟริกา (Pilot Zone for In-depth Economic and Trade Cooperation between China and Africa) เช่น ศูนย์วิจัยและพัฒนาความร่วมมือเศรษฐกิจและการค้าจีน-แอฟริกา ศูนย์เงินหยวนข้ามแดนจีน-แอฟริกา ศูนย์บ่มเพาะอีคอมเมิร์ซและการถ่ายทอดสดจำหน่ายสินค้า (live streaming) จีน-แอฟริกา และส่วนสาธิตนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-แอฟริกาเฟสแรก
สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานของเขตการค้าเสรีนำร่องหูหนานในปี 2564 ได้แก่ การพัฒนาเขตฯ ให้แล้วเสร็จกว่าร้อยละ 50 ดำเนินการยื่นเรื่องโครงการสำคัญระดับประเทศ 10 โครงการ สร้างการเติบโตของรายได้ทางภาษี การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร มูลค่าการนำเข้า-ส่งออก และมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศมีอัตราการขยายตัวมากกว่าค่าเฉลี่ยของระดับมณฑล รวมถึงมีจำนวนวิสาหกิจที่จดทะเบียนใหม่กว่า 5,000 ราย และสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นใหม่อีกกว่า 30 ราย
นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้ คณะทำงานฯ ยังพิจารณาแผนพัฒนาด้านอื่น ๆ ของเขตฯ เพิ่มเติมด้วย เช่น แผนพัฒนาอุตสาหกรรมของสามพื้นที่ย่อย และแผนพัฒนาพิเศษสำหรับ 3 พื้นที่ ได้แก่ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการผลิตชั้นนำระดับโลก เขตนำร่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าเชิงลึกจีน-แอฟริกา และระเบียงการค้าการลงทุนระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงกับแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Economic Belt) และเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area: GBA)
ที่มา: https://www.hunan.gov.cn/hnszf/hnyw/sy/hnyw1/202104/t20210403_15732502.html
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู