นครฉงชิ่งเชื่อมต่อโลจิสติกส์ระหว่างประเทศแบบไร้รอยต่อ

เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2564 สำนักงานพาณิชย์นครฉงชิ่ง เปิดเผยว่า นครฉงชิ่งกำลังเร่งสร้างศูนย์กลางโลจิสติกส์ ระดับชาติ 5 ประเภท ได้แก่  (1) ศูนย์กลางโลจิสติกส์ทางบก (2) ศูนย์กลางโลจิสติกส์ทางน้ำ (3) ศูนย์กลางโลจิสติกส์ทางอากาศ (4) ศูนย์กลางโลจิสติกส์อุตสาหกรรม (5) ศูนย์กลางโลจิสติกส์การค้า โดยศูนย์กลางโลจิสติกส์ทางบกและทางน้ำ เป็นเป้าหมายสำคัญสองอันดับแรกของนครฉงชิ่ง ในขณะเดียวกันนครฉงชิ่งยังได้จัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าสำหรับยานยนต์นำเข้า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน สินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน และวัสดุอิเล็กทรอนิกส์ กลายเป็นหนึ่งในศูนย์กระจายสินค้าโลจิสติกส์ 500 อันดับแรกของโลกในปี 2563 ทางศูนย์ฯ ได้กระจายสินค้าประเภทยานยนต์นำเข้า 5,050 คัน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน 28.21 ล้านชิ้น และยานำเข้ามูลค่า 850 ล้านหยวน

สำนักงานโลจิสติกส์ท่าเรือฉงชิ่งเปิดเผยว่า ในปี 2563 นครฉงชิ่งจะยกระดับช่องทางโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ด้วยการปรับปรุงคุณภาพ สร้างสรรค์กลไกและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้ช่องทางโลจิสติกส์ของนครฉงชิ่งสามารถครอบคลุมทั่วทุกทิศทาง ทั้งเหนือ ใต้ ตะวันออก และตะวันตก ทั้งทางราง ทางรถยนต์ ทางเรือ และทางอากาศ

  • ทางทิศใต้

แผนแม่บทเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ (New Western Land-Sea Corridor) ได้สร้างสถิติใหม่ให้นครฉงชิ่ง โดยการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ เป็นผู้นำในการจัดตั้งกลไกความร่วมมือระหว่างมณฑล และจัดตั้งบริษัทปฏิบัติการข้ามภูมิภาค มีผู้ถือครองหุ้นทั้งหมด 8 รายใน 6 มณฑล ในปี 2563 มีการขนส่งร่วมทางรางและทางเรือ 1,297 ขบวน การขนส่งร่วมทางรถและทางรางระหว่างประเทศ 160 ขบวน การขนส่งทางรถระหว่างประเทศ 2,821 คัน เฉลี่ยแล้วเติบโตขึ้นกว่า 2 เท่า เส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่นครฉงชิ่ง มีเส้นทางครอบคลุม 96 ประเทศ และเชื่อมต่อกับท่าเรือกว่า 260 แห่งทั่วโลก

  • ทางทิศตะวันตก

นครฉงชิ่งได้รับอนุมัติให้สร้างสถานีศูนย์กลางของรถไฟจีน – ยุโรป โดยในปี 2563 รถไฟจีน – ยุโรป เส้นทางนครฉงชิ่ง-ซินเจียง-ยุโรป มีการเปิดเดินรถทั้งหมด 2,431 ขบวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 60 ขนส่งสินค้ามูลค่ารวมกว่า 9 แสนล้านหยวน เติบโตร้อยละ 65 ครองอันดับ 1 ในประเทศจีน นอกจากนี้ ยังได้เปิดตัวรถไฟขบวนพิเศษ “ขบวนไปรษณีย์จีน” ขบวนแรกของประเทศ โดยได้ขนส่งพัสดุระหว่างประเทศมากกว่า 20 ล้านชิ้น ครองอันดับ 1 ในประเทศจีนเช่นกัน นครฉงชิ่งยังร่วมมือกับนครเฉิงตูเปิดตัว China-Europe Express ขบวนฉงชิ่ง-เฉิงตู ซึ่งเป็นรถไฟขบวนสำคัญของรถไฟจีน – ยุโรป

  • ทางทิศตะวันออก
    – แม่น้ำแยงซี เป็นเส้นทางขนส่งทางน้ำสายทองคำ (Yangtze River Golden Waterway) โลจิสติกส์สายด่วนระหว่างนครฉงชิ่งและนครเซี่ยงไฮ้ มีการจัดตั้งเขตทดลองด่านศุลกากรสำหรับการนำเข้าส่งออกทางเรือขึ้นที่นครฉงชิ่ง เพื่อลดเวลาในการผ่านพิธีศุลกากร เพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งได้ถึงร้อยละ 40
    – แม่น้ำเจียหลิง จากการทดสอบส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางท่าเรือกว่างหยวน (Guangyuan Port) ไปยังท่าเรือกั๋วหยวน  (Guogyuan Port) พบว่า มีปริมาณการขนส่งสูงสุดในประวัติศาสตร์ แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาประสิทธิภาพในการขนส่งทางเรือของนครฉงชิ่ง
    – การขนส่งทางราง มีอัตราการเติบโตที่สูงมากเช่นกัน โดยขบวนรถไฟสายนครฉงชิ่ง-หนิงโป มีปริมาณรอบขนส่งสูงขึ้นถึง 3 เท่า
  • ทางทิศเหนือ

รถไฟขบวนฉงชิ่ง-รัสเซีย มีปริมาณรอบขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 65 และสามารถขนส่งสินค้าได้มากขึ้นร้อยละ 137

  • ทางอากาศ

เส้นทางบินระหว่างประเทศของนครฉงชิ่งมีทั้งหมด 101 เส้นทาง สายการบิน Air China Cargo ตั้งสาขาแห่งใหม่ที่นครฉงชิ่ง ถือเป็นสายการบินสำหรับการขนส่งสินค้าทางอากาศสายการบินแรกที่มีสาขาที่นครฉงชิ่งในปี 2020 สนามบินเจียงเป่ยมีปริมาณผู้โดยสาร 34.94 ล้านคน สูงเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศ มีปริมาณการขนส่งสินค้าและจดหมายถึง 411,000 ตัน โดยเป็นปริมาณการขนส่งสินค้าและจดหมายระหว่างประเทศ 151,000 ตัน สูงเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคตะวันตกของจีน

กฎเกณฑ์เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ

นครฉงชิ่งได้จัดตั้งรูปแบบการบริการแบบครบวงจร (One Stop service) เชื่อมเส้นทางขนส่งระหว่างประเทศทุกประเภทแบบไร้รอยต่อ ทั้งทางราง ทางรถยนต์ ทางเรือ ทางอากาศ ผู้ประกอบการใช้บริการเพียงครั้งเดียวก็สามารถส่งสินค้าไปยังจุดหมายได้โดยตรง

ในช่วงปลายปี 2563 นครฉงชิ่งมีตู้คอนเทนเนอร์ที่ถูกส่งออก ผ่านช่องทาง “ตู้คอนเทนเนอร์ขาออกทางรถไฟ-เรือ” [铁路箱下海出境] ทั้งสิ้น 3,500 ตู้ ช่องทางนี้สามารถส่งตู้คอนเทนเนอร์จากทางรางไปทางเรือได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนตู้ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 1,000 หยวนต่อตู้ และช่วยประหยัดเวลาในการเปลี่ยนตู้คอนเทนเนอร์ได้ ทำให้เวลาในการผ่านพิธีการศุลกากรลดลงถึงร้อยละ 40

ในขณะเดียวกัน นครฉงชิ่งยังสนับสนุนให้สถาบันการเงินใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง อาทิ ตัวล็อคอิเล็กทรอนิกส์ ระบบตรวจสอบสินค้าออนไลน์ ระบบประมวลผลข้อมูล เป็นต้น และส่งเสริมให้สถาบันการเงินยอมรับรูปแบบการบริการแบบครบวงจร ในส่วนของการรับชำระเงิน การประกันการเสียหายของสินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ นครฉงชิ่งยังลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินพิธีการศุลกากรลง โดยในปี 2563 พิธีการศุลกากรสำหรับการนำเข้าใช้เวลาลดลงร้อยละ 65 และพิธีการศุลกากรสำหรับการส่งออกใช้เวลาลดลงร้อยละ 90

ระบบโลจิสติกส์ของนครฉงชิ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือก สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าเข้าสู่จีน รัสเซีย หรือยุโรป สามารถเลือกใช้เส้นทางขนส่งผ่านนครฉงชิ่ง เพื่อเชื่อมต่อเส้นทางรางหรือทางเรือไปยังจุดหมาย นครฉงชิ่งมีการจัดตั้งรูปแบบการบริการแบบครบวงจร (One Stop service) สามารถลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินพิธีการศุลกากรลง รวมไปถึงมีช่องทางการขนส่งทางเรือที่ไม่ต้องเปลี่ยนตู้คอนเทนเนอร์ ช่วยลดความยุ่งยากในการดำเนินการ และยังช่วยประหยัดเวลาและประหยัดค่าใช่จ่ายในการขนส่งได้อีกด้วย

แหล่งที่มา : เว็บไซต์ทางการของ ChongqingNew.net (ฉบับวันที่ 6 เมษายน 2564)
http://cq.cqnews.net/html/2021-04/06/content_51303565.html

The post นครฉงชิ่งเชื่อมต่อโลจิสติกส์ระหว่างประเทศแบบไร้รอยต่อ appeared first on thaibizchina.

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]