เศรษฐกิจหนิงเซี่ยปี 63 ขยายตัว 3.9% ไทยขึ้นเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียน

เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2564 รัฐบาลเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุยจัดการประชุมสภาครั้งที่ 12 วาระที่ 4 โดยมี นางเสียน ฮุย (咸辉) ประธานเขตฯ หนิงเซี่ยหุยเป็นผู้แถลงผลงานรัฐบาลปี 2563 พร้อมทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจปี 2564 ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

  1. ภาพรวมเศรษฐกิจ

1.1 ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP)

เขตฯ หนิงเซี่ยหุยมีมูลค่า 392,100 ล้านหยวน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 3.9 แบ่งเป็น

– อุตสาหกรรมปฐมภูมิ มูลค่า 33,801 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 3.3

– อุตสาหกรรมทุติยภูมิ มูลค่า 160,896 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 4

– อุตสาหกรรมตติยภูมิ มูลค่า 197,358 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 3.9

ในส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของนครหยินชวนมีมูลค่า 196,400 ล้านหยวน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 3.56

1.2 ผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัว (GDP Per Capita)

ปี 2563 ผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัว (GDP Per Capita) ของประชากรเขตฯ หนิงเซี่ยเฉลี่ยอยู่ที่ 56,400 หยวน (ราว 8,170 ดอลลาร์สหรัฐ) สามารถจำแนกตามกลุ่มพื้นที่ ได้ดังนี้

เขตพื้นที่การปกครองท้องถิ่น GDP Per Capita (หยวน) / อัตราการเติบโตเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 จำนวนประชากร (ล้านคน)
1. นครหยินชวน (银川市) 85,800 / + ร้อยละ 18.62 2.29
2. เมืองสือจุ่ยซาน (石嘴山市) 66,900 / – ร้อยละ 7.45 0.81
3. เมืองอู๋จง (吴忠市) 43,800 / – ร้อยละ 39.42 1.42
4. เมืองจงเว่ย (中卫市) 37,600 / – ร้อยละ 47.99 1.17
5. เมืองกู่หยวน (固原市) 28,200 / – ร้อยละ 61.05 1.25

2. ภาพรวมการเกษตร

ภาคการเกษตรของเขตฯ ในปี 2563 ได้รับการยกระดับมากขึ้น โดยมีจำนวนแปลงเกษตรทันสมัย (High standard farmland) เพิ่มขึ้น 1.08 ล้านหมู่ (ราว 422,623 ไร่) ผลผลิตข้าวและธัญพืชเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 17 ที่ 3.8 ล้านตัน

3. การค้าและการลงทุน

3.1 การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่

ตลอดปี 2563 เขตฯ มีการก่อสร้างในโครงการลงทุนที่แล้วเสร็จมากถึง 80 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 53,700 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 มากถึง 1.04 เท่า โดยโครงการขนาดใหญ่ที่น่าสนใจ ได้แก่ (1) โครงการลงทุนในสายการแปรรูปซิลิกอนแผ่นและแท่ง (Single crystal silicon rod/ Monocrystalline silicon) กำลังการผลิต 15 GW ของบริษัท LonGi (隆基) (2) โครงการผลิตกรด hydrofluoric ขนาดกำลังผลิต 20,000 สำหรับอุตสาหกรรมการผลิต Semiconductor (3) โครงการปรับปรุงเทคโนโลยีของ บ. ผลิตภัณฑ์ผลิตและแปรรูปนม YiLi (伊利乳业) (4) โครงการยกระดับการผลิตและถลุงเหล็กด้วยความร้อนสูงของ บ. หนิงกัง (宁钢) (5) โครงการบำบัดและกรองตระกรันเขตพลังงานหนิงตง (宁东能源基地) และ (6) โครงการลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมกว่า 28 โครงการ โดยในปี 2563 เขตฯ มีการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด (ลม และแสงอาทิตย์) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 61.3 ของโครงการลงทุนด้านพลังงานของเขตฯ

3.2 การค้าระหว่างประเทศ

การค้าระหว่างประเทศของเขตฯ มีมูลค่ารวม 12,320 ล้านหยวน (ราว 1,780 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 48.8 แบ่งเป็น

การส่งออก มูลค่า 8,670 ล้านหยวน (ราว1,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 41.8

การนำเข้า มูลค่า 3,650 ล้านหยวน (ราว 530 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 60.4

สินค้าส่งออกของเขตฯ ที่มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง ได้แก่ (1) อุปกรณ์และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า 1,650 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 19.4 (2) ยารักษาโรค 1,480 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 20.4 (3) สินค้าเกษตร 1,090 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 37.2 โดยมีกลุ่มสินค้าส่งออกจำพวกล้อยางรยนต์เครื่องประดับ และโลหะผสมเหล็กที่แนวโน้มการเติบโตลดลง โดยมีคู่ค้าสำคัญได้แก่ (1) สหภาพยุโรป (2) อาเซียน (3) แอฟริกา (4) ญี่ปุ่น และ (5) สหรัฐอเมริกา

สินค้านำเข้าของเขตฯ ที่มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง ได้แก่ (1) โพลีซิลิกอน 120 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 59.4 และ (2) เหล็กแปรรูป 170 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 23.2 โดยมีสินค้านำเข้าในกลุ่มทองคำ ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป แร่โลหะ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 94.6 48.5 60.8 และ 3.5 ตามลำดับ

5 คู่ค้าสำคัญของเขตฯ ได้แก่ (1) แอฟริกา (2) ญี่ปุ่น (3) สหภาพยุโรป (4) ออสเตรเลีย และ (5) ไทย

3.3 การค้ากับไทย

ข้อมูลจาก Global Trade Atlas ระบุว่า ในปี 2563 มูลค่าการค้าระหว่างไทย-เขตฯ หนิงเซี่ยหุย รวม 98.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 678 ล้านหยวน) เพิ่มขึ้นจากปี 2562 มากถึง 2.33 เท่า โดยไทยขาดดุลการค้า 91.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็น

3.3.1 การส่งออก มูลค่า 91.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 628.8 ล้านหยวน) เพิ่มขึ้นจากปี 2562 มากถึง 1.16 เท่า ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 5 ที่เขตฯ ส่งออกมากที่สุด รองจาก อินเดีย สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น และเป็นอันดับ 1 ของกลุ่มประเทศอาเซียน

โดยสินค้าที่เขตฯ ส่งออกไปไทย 5 อันดับแรกได้แก่

1.เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ บอยเลอร์ เครื่องจักร เครื่องใช้กลและชิ้นส่วน 65.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 8.44 เท่า

2.เคมีภัณฑ์อินทรีย์ 16.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 24.22

3.ยางและของที่ทำด้วยยาง 2.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 26.16

4.โลหะสามัญชนิดอื่นและเซอร์เมต (วัสดุทนความร้อนสูงชนิดหนึ่งจากการรวมวัสดุใหม่ของ (Ceramic+Metal) 1.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 83.63

5.เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด 1.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 8.36 อย่างไรก็ดี ยังพบกลุ่มสินค้าที่มีอัตราการเติบโตสูงมากในช่วงปี 2562 ได้แก่

6.เคมีภัณฑ์อนินทรีย์และสารประกอบอินทรีย์ฯ 423,122 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2562 มากถึง 6.68 เท่า

7.พืชผักรวมทั้งรากและหัวบางชนิดที่บริโภคได้ 117,873 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2562 กว่า 11.91 เท่า

8.สิ่งสกัดที่ใช้ฟอกหนังหรือย้อมสี 117,666 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2562 กว่า 296 เท่า

3.3.2 การนำเข้า มูลค่า 7.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 50.02 ล้านหยวน) เพิ่มขึ้นจากปี 2562 มากถึง 50.54 เท่า ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 16 ที่เขตฯ หนิงเซี่ยนำเข้ามากที่สุดรองจาก ญี่ปุ่น กานา แอฟริกาใต้ เยอรมนี ออสเตรเลีย สาธารณรัฐคองโก สหรัฐอเมริกา เขตบริหารพิเศษฮ่องกง รัสเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตน์ เกาหลีใต้ บราซิล สวีเดน อินเดีย และไต้หวัน และเป็นอันดับ 1 ของกลุ่มประเทศอาเซียน

โดยสินค้าที่เขตฯ นำเข้าจากไทย 5 อันดับแรก ได้แก่

1. ยางและของที่ทำด้วยยาง 7.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไม่พบสถิติการนำเข้าในปี 2562)

2. พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก 54,965 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 43.35

3. อุปกรณ์และเครื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในทางทัศนศาสตร์ฯ 15,306 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 52.65

4. เครื่องจักรไฟฟ้าและเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าฯ 7,248 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ราว 1 เท่าตัว

5. กลุ่มสินค้าที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มพิเศษ (Special Classification Provisions) 2,021 ดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ หากวิเคราะห์เพิ่มเติมพบว่ามีกลุ่มสินค้ายางและของที่ทำจากยางและกลุ่มอุปกรณ์และเครื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในทางทัศนศาสตร์ฯที่เขตฯ นำเข้าจากไทยนั้นมี 2 รายการที่มีการนำเข้าอย่างสม่ำเสมอในปี 2562 ได้แก่

6. กลุ่มยางธรรมชาติ บาลาตา กัตตาเปอร์ชา กวายูล ชิเคิล และกัมธรรมชาติที่คล้ายกัน ในลักษณะขั้นปฐม หรือเป็นแผ่น แผ่นบางหรือมีลักษณะเป็นแถบ

7. อุปกรณ์และเครื่องอุปกรณ์สำหรับบังคับหรือควบคุมโดยอัตโนมัติ

พัฒนาการเด่นของเขตฯ ในปี 2563

 4.1 การประกาศหลุดพ้นจากพ้นเกณฑ์ความยากจน

ตลอดหลายปีที่ผ่านมาจีนพยายามเร่งขจัดความยากจนในประเทศให้หมดไป และก้าวสู่สังคมที่มีความเจริญรุ่งเรืองภายในปี 2563 ผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรมตามศักยภาพและความต้องการของแต่ละพื้นที่การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค การพัฒนาอุตสาหกรรม การสนับสนุนการจ้างงานในพื้นที่และลดการโยกย้ายถิ่นฐาน ที่รัฐบาลท้องถิ่นได้เน้นให้ความช่วยเหลือในกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และปลูกพืชท้องถิ่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม และส่งเสริมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อทำการตลาดออนไลน์ ซึ่งเป็นกลไกการลดความยากจนที่สำคัญในพื้นที่

4.2 การให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาพื้นที่สาธาณะ  

ในปี 2563 เขตฯ ให้ความสำคัญกับคุณภาพของสิ่งแวดล้อม โดยนำระบบให้ความคุ้มครองสิ่งแวดล้อมมาใช้เป็นครั้งแรก (Provincial Ecological Environmental Protection Supervision, 首轮省级生态环保督察) ให้ความสำคัญต่อระบบบำบัดน้ำเสียและการตรวจสอบคุณภาพน้ำในแม่น้ำเหลืองอย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบัน ระดับคุณภาพน้ำในแม่น้ำเหลืองในเขตอาณาอยู่ในระดับ II (มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมน้ำผิวดินระดับที่ 2 เหมาะกับการนำมาใช้อุปโภค) ติดต่อกันมาแล้ว 4 ปี มีจำนวนวันที่คุณภาพอากาศดีรวม 311 วันตลอดปี ระดับ PM2.5 เฉลี่ยต่อพื้นที่ลดลง 33 มิลลิกรัม/ ลบ.ม.

นอกจากนี้ เขตฯ ยังได้พัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยเสื่อมโทรมให้กับ 52,000 ครัวเรือน พัฒนาที่อยู่อาศัยแบบชั่วคราวให้มีสภาพดีรวม 6,200 ชุด ยกระดับอัตราความเป็นเมืองของประชากรได้กว่าร้อยละ 61

4.3 การยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลเขตฯ นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และส่งเสริมและลงทุนในอุตสาหกรรมสมัยใหม่เพื่อเพิ่มโอกาสในการผลิตสินค้าที่มีคุณค่าและมูลค่าสูง ในปี 2563 เขตฯ ยังคงเร่งต่อยอดการใช้แอปพลิเคชัน Wo De Ningxia ที่ได้เริ่มนำมาใช้รองรับประชาชนตั้งแต่ ปี 2560 โดยทยอยเพิ่มฟังก์ชั่นและความสามารถในการรองรับธุรกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนให้มากขึ้น ปัจจุบัน มีผู้ใช้งานกว่าร้อยละ 74 ของจำนวนประชากรทั้งหมด สามารถรองรับธุรกรรมหรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐได้กว่า 3,368 รายการ

นอกจากนี้ เขตฯ ยังเร่งสานต่อโครงการทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยมีวิกฤต COVID19 เป็นปัจจัยเร่ง โดยเฉพาะการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อรองรับการเรียนออนไลน์ รวมไปถึงการให้บริการ Telemedicine ที่ได้รับการกระจายไปยังสถานพยาบาลระดับ 3 ขึ้นไปทั้งในระดับอำเภอ เขต และเมืองต่าง ๆ อย่างทั่วถึง

5. แผนการพัฒนาเศรษฐกิจในปี 2564 และเป้าหมายการพัฒนาในระยะยาว 5 ปี

รัฐบาลเขตฯ ประกาศเป้าหมายดัชนีทางเศรษฐกิจในปี 2564 อาทิ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 GDP Per Capita ไม่ต่ำกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ อัตราการขยายตัวของการจ้างงานในพื้นที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 อัตราการว่างงานคงไว้ไม่ให้เกินร้อยละ 5.5 ยกระดับรายได้ประชากรให้ได้มากกว่าร้อยละ 6 เป็นต้น

เป้าหมายการพัฒนาในระยะยาว 5 ปี สรุปสาระสำคัญได้ 5 ด้าน ดังนี้

5.1 ยึดถือการพัฒนาอย่างมีคุณภาพสูง (High quality development) ยกระดับการพัฒนาด้านความปลอดภัย ระบบนิเวศน์วิทยา ระบบกำจัดและบำบัดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจและเขตพื้นที่ด้านนวัตกรรม (经济转型发展创新区Economic transformation and Development Innovation Zone) การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำเหลือง

5.2 เร่งส่งเสริมการนำนวัตกรรมมาใช้ในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าและชิ้นส่วนที่ต้องอาศัยเทคโนโลยี อุตสาหกรรมสีเขียวที่เน้นการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Intelligent industry) และการเงินการธนาคาร โดยต้องมีสัดส่วนรายได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ของภาคอุตสาหกรรมการผลิตทั่วทั้งเขตฯ พร้อมนำมาใช้ในการยกระดับมาตรฐานการเกษตรในพื้นที่ให้ทัดเทียมระดับชาติ

5.3 กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ให้ความสำคัญต่อทิศทางตลาดในประเทศมากขึ้น เพิ่มกิจกรรมประชาสัมพันธ์และยกระดับแบรนด์สินค้าท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักในผู้บริโภค และดึงดูดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหลักได้แก่ ระบบคมนาคม เครือข่ายน้ำอุปโภค-บริโภคที่ทันสมัย (Modern water network) พลังงาน และเครือข่ายการสื่อสาร

5.4 ปรับปรุงคุณภาพระบบนิเวศวิทยา เน้นการรักษาคุณภาพอากาศที่ได้มาตรฐานไว้อย่างต่อเนื่อง เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของเหมืองแร่ที่ได้ทั้งคุณภาพและปริมาณโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ลดอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานในองค์กรขนาดใหญ่ให้ไม่เกินร้อยละ 15/ปี (Reduce Coal and Electricity Consumption) เพิ่มกิจกรรมบำบัดคุณภาพภาพน้ำในแม่น้ำเหลืองให้ไม่ต่ำกว่าระดับ II ซึ่งเป็นเกรดที่สามารถใช้นำมาเป็นที่อยู่อาศัยแหล่งที่สัตว์น้ำที่หายากได้ และเพิ่มปริมาณพื้นที่ป่าทั่วเขตฯ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 จากพื้นที่ป่าเดิม

5.5 ยกระดับคุณภาพชีวิตประชากร ตั้งเป้ายกระดับ 4 ด้านใหญ่ คือ (1) เพิ่มสัดส่วนการจ้างงานในพื้นที่อย่างมีคุณภาพ (2) เพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย (ต่ำกว่าเกณฑ์) และยกระดับรายได้ประชากรเฉลี่ยในเขตตัวเมือง (Disposable Income of urban residents Per capita) ต้องไม่ต่ำกว่า 35,000 หยวน (3) การพัฒนาประชากรและเมืองอย่างมีอารยะ เพิ่มสัดส่วนการเรียนรู้ soft power เพื่อขัดเกลาการรับรู้และเพิ่มระดับของอารยธรรมทางสังคม และ (4) ส่งเสริมความแข็งแกร่งของระบบสุขภาพท้องถิ่น ปัจจุบัน อายุขัยเฉลี่ยของประชากรเขตฯ อยู่ที่ 78.2 ปี โดยตั้งเป้าจะปรับปรุงระบบประกันสังคมอย่างครอบคลุม และยกระดับธรรมาภิบาลในพื้นที่ชุมชนที่อยู่อาศัย

ข้อมูลอ้างอิง

  1. http://yinchuan.customs.gov.cn/yinchuan_customs/531985/531987/3523721/index.html
  2. https://www.globaltimes.cn/content/1132233.shtml

The post เศรษฐกิจหนิงเซี่ยปี 63 ขยายตัว 3.9% ไทยขึ้นเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียน appeared first on thaibizchina.

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]