ไฮไลท์
- รัฐบาลกลางเล็งเห็นบทบาทสำคัญของ “ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้” และกำหนดให้เป็น 1 ใน 10 ศูนย์กลางท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเลระดับนานาชาติในแผนงานโครงข่ายการคมนาคมขนส่งหลายมิติแบบครบวงจรของประเทศจีน
- กว่างซีกำลังเร่งผลักดันความคืบหน้าของโครงการสำคัญในท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรืออัจฉริยะที่มีฟังก์ชันรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “เรือ+รถไฟ” แห่งแรกของประเทศจีน และการวางแผนโครงการขุดคลองขนส่งผิงลู่ (Pinglu Canal/平路运河) เชื่อมท่าเรือชินโจวกับนครหนานหนิง (คล้ายกับคลองปานามา)
- การพัฒนาโครงการข้างต้นจะสร้างโอกาสทางการค้าให้กับประเทศไทยได้อีกมาก โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากโมเดล “เรือ+รถไฟ” ที่ท่าเรือชินโจว ซึ่งปัจจุบัน มีบริการเที่ยวเรือขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือชินโจวกับท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทยด้วยแล้ว
- ในอนาคต หากเปิดใช้คลองขนส่งผิงลู่แล้ว ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางดังกล่าวในการขนส่งสินค้าจากประเทศไทยมายังท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ และวิ่งผ่านคลองขนส่งผิงลู่เข้าสู่นครหนานหนิง หรือหัวเมืองอื่นๆ ผ่านระบบงานขนส่งทางแม่น้ำซีเจียง หรือใช้ฟังก์ชันด้านโลจิสติกส์ครบวงจรของนครหนานหนิงเป็นฐานการกระจายสินค้าไปยังมณฑลตอนในของจีนได้เช่นกัน
เนื้อหาส่วนหนึ่งในแผนงานโครงข่ายการคมนาคมขนส่งหลายมิติแบบครบวงจร ได้ระบุให้ “ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้” เป็น 1 ใน 10 ศูนย์กลางท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเลระดับนานาชาติ เช่นเดียวกับท่าเรือเซี่ยงไฮ้ ท่าเรือเซินเจิ้น ท่าเรือกว่างโจว ท่าเรือต้าเหลียน ท่าเรือเทียนจิน ท่าเรือชิงต่าว ท่าเรือเซี่ยเหมิน ท่าเรือโจวซานหนิงโป และท่าเรือหยางผู่ไห่หนาน
ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ ประกอบด้วยท่าเรือชินโจว (ท่าเรือหลัก) ท่าเรือฝางเฉิงก่าง และท่าเรือเป๋ยไห่ เป็นกลุ่มท่าเรือที่มีความสำคัญของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และเป็นทางออกสู่ทะเลเพียงช่องทางเดียวของมณฑลภาคตะวันตกของประเทศจีน
หลายปีมานี้ ท่าเรือรอบเป่ยปู้ได้แสดงบทบาทสำคัญในเวทีการค้าระหว่างประเทศของจีน(ตะวันตก)กับต่างประเทศ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปริมาณขนถ่ายตู้สินค้าผ่านท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้สามารถรักษาระดับการขยายตัวเฉลี่ยได้มากกว่า 25% ปัจจุบัน มีเส้นทางเดินเรือ 52 เส้นทางไปยัง 150 กว่าท่าเรือใน 70 กว่าประเทศ/ดินแดนทั่วโลก รวมถึงท่าเรือแหลมฉบังของประเทศไทยด้วย
ผลงานของท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ในปี 2563 มีดังนี้
- ปริมาณขนถ่ายสินค้า 300 ล้านตัน (+17%) มากเป็นอันดับ 2 ในพื้นที่จีนตอนใต้ รองจากท่าเรือกว่างโจว
- ปริมาณขนถ่ายตู้สินค้า 5.05 ล้าน TEUs (+32%) ติดอันดับที่ 10 ของท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเลของจีน และอันดับที่ 40 ของโลก ที่สำคัญ ปริมาณขนถ่ายตู้สินค้าขยายตัวสูงเป็นอันดับ 1 ของท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเลของจีน
- เที่ยวขบวนรถไฟขนส่งตู้สินค้าที่ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีจำนวน 4,607 เที่ยว เมื่อเทียบกับปี 2560 เติบโต 25 เท่า ปริมาณตู้สินค้าที่ขนส่งผ่านโมเดลเรือ+รางมีจำนวน 3 แสน TEUs และขบวนรถไฟเที่ยวประจำมีวันละ 15 เที่ยว
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่รัฐบาลกลางได้วางหมากให้ท่าเรือเป่ยปู้เป็น “ศูนย์กลางท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเลระดับนานาชาติ” ทางการกว่างซีกำลังเร่งผลักดันความคืบหน้าของโครงการสำคัญในท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ อาทิ การพัฒนาท่าเทียบเรืออัจฉริยะแห่งที่ 5 ของประเทศจีน และเป็นท่าเทียบเรืออัจฉริยะที่มีฟังก์ชันรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “เรือ+รถไฟ” แห่งแรกของประเทศจีน (คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จในปี 2565) รวมถึงระบบโครงสร้างพื้นฐานบริเวณท่าเรือ ร่องน้ำเดินเรือขนาดใหญ่ และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและซอฟท์แวร์ที่ทันสมัย เพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงานในท่าเทียบเรือ
นอกจากนี้ ทางการกว่างซีจะเร่งศึกษาวิจัยและวางแผนโครงการขุดคลองขนส่งผิงลู่ (Pinglu Canal/平路运河) เชื่อมท่าเรือชินโจวกับนครหนานหนิง (คล้ายกับคลองปานามา) ระยะทาง 136 กิโลเมตร โดยคลองเส้นนี้จะสามารถรองรับเรือบรรทุกขนาด 5,000 ตัน ซึ่งจะเข้ามาทดแทนงานขนส่งแบบเดิมระหว่างนครหนานหนิงกับพื้นที่ปากแม่น้ำเพิร์ลในมณฑลกวางตุ้ง ช่วยย่นระยะทางได้กว่า 560 กิโลเมตร ประหยัดทั้งเวลาและต้นทุนค่าขนส่งอย่างมาก และเป็นตัวจักรสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการค้าและดึงดูดการลงทุนเข้าสู่พื้นที่
บีไอซี ขอเน้นว่า โมเดล “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือชินโจว เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขนส่งสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีน หรือใช้ช่องทางดังกล่าวขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป ในทางกลับกัน สินค้าจีนก็สามารถใช้รถไฟขนส่งตู้สินค้ามาที่ท่าเรือชินโจวเพื่อขึ้นเรือไปต่างประเทศได้แบบไร้รอยต่อ ปัจจุบัน มีบริการเที่ยวเรือขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือชินโจวกับท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทยด้วยแล้ว โดยระบบงานขนส่งดังกล่าวสามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้หลายประเภท ทั้งตู้คอนเทนเนอร์แบบที่มีเครื่องทำความเย็น (Reefer) สำหรับการขนส่งผลไม้และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่แข็ง และตู้คอนเทนเนอร์แบบ Open Top ซึ่งเหมาะสำหรับสินค้าเทกอง
นอกจากนี้ ในอนาคต หากเปิดใช้คลองขนส่งผิงลู่แล้ว ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางดังกล่าวในการขนส่งสินค้าจากประเทศไทยมายังท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ และวิ่งผ่านคลองขนส่งผิงลู่เข้าสู่นครหนานหนิง หรือหัวเมืองอื่นๆ ผ่านระบบงานขนส่งทางแม่น้ำซีเจียง หรือใช้ฟังก์ชันด้านโลจิสติกส์ครบวงจรของนครหนานหนิงเป็นฐานการกระจายสินค้าไปยังมณฑลตอนในของจีนได้เช่นกัน
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.xinhuanet.com (新华网) วันที่ 2 มีนาคม 2564
หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี่ (广西日报) วันที่ 2 มีนาคม 2564
ภาพประกอบ www.freepik.com