ไฮไลท์
- บทบาทของประเทศจีนบนเวทีเศรษฐกิจโลก เป็นปัจจัยที่ช่วยให้ “เงินหยวน” กลายเป็นหนึ่งในสกุลเงินหลักของโลก โดย SWIFT ระบุว่า ในเดือนมกราคม 2564 เงินหยวนติดอันดับ 5 ของสกุลเงินที่ทั่วโลกนิยมใช้ในการชำระบัญชีระหว่างประเทศ มีสัดส่วน 2.42% ของมูลค่าการชำระบัญชีระหว่างประเทศทั่วโลก
- “เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง” เป็นมณฑลที่มีบทบาทสำคัญ โดยมุ่งเป้าการพัฒนาเงินหยวนในการค้าและการลงทุนกับประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นหลัก ซึ่งล้อตามยุทธศาสตร์ Gateway to ASEAN ที่รัฐบาลกลางได้มอบให้กับกว่างซี ในมุมกลับกัน “อาเซียน” ก็มีความสำคัญต่อจีนในการผลักดันให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากล ซึ่ง “หยวน” ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในอาเซียน
- ในเชิงนโยบาย “ไทย” เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความร่วมมือด้านการเงินที่ใกล้ชิดกับจีน โดยประเทศไทยได้กำหนดให้เงินหยวนเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ มีการลงนามในความตก SWAP เงินบาทกับเงินหยวน ได้จัดให้มีการชำระดุลเงินหยวนระหว่างธนาคารสองประเทศและมีการขนย้ายเงินสดระหว่างประเทศโดยตรงผ่านสายการบิน
- ความสำคัญของเศรษฐกิจจีนที่มีต่ออาเซียนและประเทศไทย และความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากวิกฤติการเงินโลก การใช้เงินหยวนจึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ทำการค้าและการลงทุนกับจีน เนื่องจากช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและไม่มีต้นทุน (กำไรขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน) เพิ่มอำนาจการต่อรองกับคู่ค้าจีน และเป็นการกระจายความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจากสกุลเงินเดียว ซึ่งปัจจุบัน ธนาคารไทยหลายแห่งมีให้บริการแล้ว
“เงินหยวน” กำลังเข้าใกล้เป้าหมายการเป็นสกุลเงินหลักของโลกตามแผนการผลักดันให้สกุลเงินหยวนก้าวสู่สากล (RMB Internationalization) ที่รัฐบาลจีนได้วางไว้ ข้อมูลจาก SWIFT ระบุว่า ในเดือนมกราคม 2564 เงินหยวนติดอันดับ 5 ของสกุลเงินที่ทั่วโลกนิยมใช้ในการชำระบัญชีระหว่างประเทศ โดยมีสัดส่วน 2.42% ของมูลค่าการชำระบัญชีระหว่างประเทศทั่วโลก (เดือนธันวาคม 2563 มีสัดส่วน 1.88%) เป็นรองสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วน 38.26%) เงินยูโร (36.60%) เงินปอนด์สเตอริง (6.80%) และเงินเยน (3.49%)
ในแผนการผลักดันการใช้เงินหยวนในการค้าระหว่างประเทศ “เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง” เป็นมณฑลที่มีบทบาทสำคัญ โดยมุ่งเป้าการพัฒนาเงินหยวนในการค้าและการลงทุนกับประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นหลัก ซึ่งล้อตามยุทธศาสตร์ Gateway to ASEAN ที่รัฐบาลกลางได้มอบให้กับกว่างซี ในมุมกลับกัน “อาเซียน” ก็มีความสำคัญต่อจีนในการผลักดันให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากล ซึ่ง “หยวน” ก็ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในอาเซียน
บทบาท “เงินหยวน” ในประเทศสมาชิกอาเซียน มีดังนี้
- 6 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย กัมพูชา และฟิลิปปินส์ ได้กำหนดให้เงินหยวนเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ
- 4 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย ไทย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ได้ลงนามในความตกลงทวิภาคีเพื่อแลกเปลี่ยนเงินหยวนกับสกุลเงินท้องถิ่น (Bilateral Currency Swap Arrangement) กับธนาคารประชาชนแห่งชาติจีน (People’s Bank of China -PBC)
- 4 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ ได้จัดให้มีการชำระดุลเงินหยวนระหว่างธนาคารสองประเทศ
- 3 สกุลเงินในอาเซียน ได้แก่ ดอลลาร์สิงคโปร์ ริงกิตมาเลเซีย และบาทไทย สามารถทำการแลกเปลี่ยน (direct quotation) กับเงินหยวนได้โดยตรง ผ่านระบบ China Foreign Exchange Trading System & National Interbank Funding Center หรือ CFETS (中国外汇交易中心)
- สกุลเงินเรียลกัมพูชาและดองของเวียดนาม เป็นสกุลเงินที่ทำการแลกเปลี่ยนกับเงินหยวนได้โดยตรงระหว่างธนาคารในกว่างซี
- สถาบันการเงิน 71 รายในอาเซียนได้เข้าร่วมใช้งานระบบการชำระเงินข้ามแดนด้วยสกุลเงินหยวน (Cross-border Interbank Payment System-CIPS)
- ธนาคารพาณิชย์ในอาเซียนและจีนแผ่นดินใหญ่ ได้ร่วมกันเป็นตัวแทนในการชำระบัญชีเงินหยวน ซึ่งฟังก์ชันการใช้งานของระบบบริหารจัดการข้อมูลการรับและชำระเงินหยวนข้ามแดน (RMB CrossBorder Payment & Receipt Management Information System – RCPMIS) มีความพร้อมสมบูรณ์มากขึ้น
นับตั้งแต่ปี 2553 ที่รัฐบาลกลางมอบนโยบายให้กว่างซีเป็นจุดทดลองการชำระบัญชีข้ามแดนด้วยสกุลเงินหยวน (บัญชีรายชื่อชุดที่ 2 ของประเทศ) จนถึงปัจจุบัน กว่างซีมีมูลค่าการชำระบัญชีการค้าด้วยสกุลเงินหยวนสูงเป็นอันดับ 1 ใน 12 มณฑลภาคตะวันตก และ 9 มณฑลที่มีพรมแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน
ในปี 2563 กว่างซีมีมูลค่าการชำระบัญชีข้ามแดนด้วยเงินหยวน 155,700 ล้านหยวน ในจำนวนนี้ เป็นการชำระบัญชีข้ามแดนด้วยสกุลเงินหยวนกับอาเซียน 68,100 ล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วน 43.73% ของมูลค่ารวมการรับและชำระเงินหยวนข้ามแดนของกว่างซี และคิดเป็นสัดส่วน 60% ของมูลค่ารวมการรับและชำระเงินหยวนข้ามแดนระหว่างกว่างซีกับอาเซียน (อีก 40% ใช้สกุลเงินอื่น)
นอกจากนี้ ภายหลังการจัดตั้งเขตทดลองการค้าจีน(กว่างซี) เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 รัฐบาลกลางได้สนับสนุนให้กว่างซีเป็น “ศูนย์กลางการเงินและการธนาคาร” ของจีนกับอาเซียน โดยตั้งให้เขตเมืองใหม่อู่เซี่ยงในนครหนานหนิงเป็น “ย่านการเงินจีน-อาเซียน” (China-ASEAN Financial Town) ปัจจุบัน ย่านแห่งนี้มีสถาบันการเงินเข้าไปจัดตั้งสำนักงานแล้ว 163 ราย และในปี 2563 ยอดธุรกรรมการชำระบัญชีข้ามแดนด้วยสกุลเงินหยวนของธนาคารในเขตทดลองฯ มีมูลค่ารวม 26,872 ล้านหยวน
การที่ “ย่านการเงินจีน-อาเซียน” ตั้งอยู่ในเขตเมืองใหม่ และอยู่ในเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) ทำให้ธุรกิจที่เข้ามาจัดตั้งกิจการในย่านแห่งนี้มีได้รับสิทธิประโยชน์จากการลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะธุรกิจสาขาการเงินและการธนาคารจากทั้งในและต่างประเทศ โดยรัฐบาลกว่างซีพร้อมให้เงินสนับสนุนการเข้ามาจัดตั้งกิจการ เงินรางวัลการพัฒนานวัตกรรมและการปฏิรูปภาคการเงิน เงินช่วยเหลือการประกอบธุรกิจ และเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ
บีไอซี เห็นว่า ในเชิงนโยบาย “ไทย” เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความร่วมมือด้านการเงินที่ใกล้ชิดกับจีน โดยประเทศไทยได้กำหนดให้เงินหยวนเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ มีการลงนามในความตก SWAP เงินบาทกับเงินหยวน ได้จัดให้มีการชำระดุลเงินหยวนระหว่างธนาคารสองประเทศ และมีการขนย้ายเงินสดระหว่างประเทศโดยตรงผ่านสายการบิน
ความสำคัญของเศรษฐกิจจีนที่มีต่ออาเซียนและประเทศไทย และความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากวิกฤติการเงินโลก การใช้เงินหยวนจึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ทำการค้าและการลงทุนกับจีน เนื่องจากช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและไม่มีต้นทุน (กำไรขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน) เพิ่มอำนาจการต่อรองกับคู่ค้าจีน และเป็นการกระจายความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจากสกุลเงินเดียว ซึ่งปัจจุบัน ธนาคารไทยหลายแห่งมีให้บริการแล้ว
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.sina.com (新浪财经) วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 04 กุมภาพันธ์ 2564
ภาพประกอบ www.freepik.com