ในปี 2563 มณฑลหูหนานมีอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในมณฑล (GDP) ร้อยละ 3.8 สูงกว่าระดับค่าเฉลี่ยทั่วประเทศของจีน 1.5 จุด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับมณฑลอื่นในจีนที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในเชิงมูลค่า GDP จำนวน 10 มณฑลแล้ว นับว่าหูหนานเป็นมณฑลที่มีอัตราการขยายตัวของมูลค่า GDP สูงที่สุดในกลุ่มเมื่อปีที่ผ่านมา
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้มูลค่า GDP ของมณฑลหูหนานมีอัตราการขยายตัวในระดับสูงช่วงปีที่ผ่านมาแม้จะเผชิญกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ได้แก่ การพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมและการฟื้นฟูตลาดอย่างรอบด้าน โดยในปี 2563 อุตสาหกรรมขั้นปฐมภูมิ ขั้นทุติยภูมิ และขั้นตติยภูมิของหูหนานขยายตัวร้อยละ 3.7 ร้อยละ 4.7 และร้อยละ 2.9 จากปีก่อนหน้าตามลำดับ แสดงให้เห็นว่า มณฑลมีการผลิตในภาคการเกษตรที่มั่นคง การผลิตในภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว รวมถึงภาคบริการที่เร่งฟื้นตัวเช่นเดียวกัน ในภาพรวม อุตสาหกรรมทุกสาขาของหูหนานสามารถฟื้นตัวอย่างเป็นระเบียบ โดยก่อนสิ้นปี 2563 อุตสาหกรรมทุกสาขาในมณฑลยกเว้นในด้านโรงแรมและอาหาร การขนส่ง และบริการที่พักอาศัย ล้วนกลับมาเติบโตอีกครั้ง ทั้งนี้ มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมสารสนเทศซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนสาขาสำคัญของหูหนาน มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 21 จากปีก่อนหน้า ขณะที่มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมการเงินซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนสาขาสำคัญของภาคบริการ มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 8.3 จากปีก่อนหน้า โดยอุตสาหกรรมทั้งสองสาขาข้างต้นมีส่วนช่วยสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจของมณฑลหูหนานในปีที่ผ่านมากว่าร้อยละ 20
นอกจากนี้ เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้สร้างอานิสงส์สำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจมณฑลหูหนาน โดยในปี 2563 การลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทคในมณฑลหูหนานมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.1 สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศของจีน 28.8 จุด ที่สำคัญ มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมการผลิตที่มีขนาดใหญ่กว่าที่กำหนดของหูหนานขยายตัวร้อยละ 16 จากปีก่อน สูงกว่าอัตราการเติบโตในภาพรวมของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่กว่าที่กำหนดทั่วมณฑล 11.2 จุด เช่นเดียวกับรายได้ของอุตสาหกรรมภาคบริการที่เกี่ยวข้องที่เติบโตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน 2563 ผลประกอบการของอุตสาหกรรมการวิจัยและการพัฒนาขนาดใหญ่กว่าที่กำหนดของหูหนานเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 170 ส่วนผลประกอบการของอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในหูหนานเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 ขณะที่ผลประกอบการของการค้าปลีกออนไลน์ในหูหนานเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7
การเติบโตทางเศรษฐกิจของมณฑลหูหนานในปี 2563 ยังเป็นผลมาจากการลงทุนและการก่อสร้างโครงการที่เกี่ยวข้องกับ “โครงสร้างพื้นฐานใหม่” (New Infrastructure) ที่ครอบคลุมตั้งแต่ด้านการขนส่ง พลังงาน การอนุรักษ์น้ำ สารสนเทศ และสถานีฐาน 5G โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมวิดีทัศน์วัฒนธรรมและความสร้างสรรค์หม่าหลานซาน (Malanshan Video Cultural and Creative Industrial Park) ในนครฉางซา ที่สามารถคว้า “โอกาสดิจิทัล” ที่มาพร้อมกับสถานการณ์โรคระบาด ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจจำนวนมากต้องนำ “วิดีโอพลัส” (video plus) มาผนวกเข้ากับรูปแบบธุรกิจดั้งเดิม โดยนิคมฯ สามารถสร้างรายได้กว่า 43,198 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.53 จากปี 2562 รวมทั้งยังสามารถดึงดูดการลงทุนจากบริษัทสื่อสร้างสรรค์ที่สำคัญเข้ามาในนิคมฯ ได้แก่ โครงการสำนักงานภูมิภาคจีนภาคกลางของบริษัท iQiyi ผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งชั้นนำของจีน
ทั้งนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วยังมีส่วนช่วยปรับเปลี่ยนและยกระดับคุณภาพโครงสร้างทางเศรษฐกิจของมณฑลหูหนานอีกด้วย โดยในปี 2563 อุตสาหกรรมขั้นปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ มีส่วนในเศรษฐกิจของมณฑลหูหนานร้อยละ 8.1 ร้อยละ 53.9 และร้อยละ 38 ตามลำดับ โดยภาคอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว มีส่วนในเศรษฐกิจของหูหนานร้อยละ 43.9 นับเป็นกำลังขับเคลื่อนหลักในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของมณฑล ขณะที่ในด้านโครงสร้างอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการผลิตไฮเทคที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นมีสัดส่วนในโครงสร้างเศรษฐกิจของมณฑลเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ขณะที่อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานจำนวนมากมีสัดส่วนในโครงสร้างเศรษฐกิจของมณฑลลดลงร้อยละ 0.6 นับเป็นแนวโน้มการปรับตัวของโครงสร้างอุตสาหกรรมของหูหนานไปสู่ระดับกลางถึงสูงมากขึ้น นอกจากนี้ ในการลงทุนทางอุตสาหกรรม การลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทคของหูหนานมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 25.4 จากปีก่อนหน้า และมีศักยภาพอย่างเพียงพอที่จะพัฒนาอย่างมีคุณภาพสูง
ที่มา: http://www.enghunan.gov.cn/hneng/News/Localnews/202102/t20210220_14521101.html

webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู