โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
มณฑลเจียงซีเป็นมณฑลหนึ่งของจีนที่อุดมไปด้วยแร่ซีลีเนียม ส่งผลให้ข้าวที่เพาะปลูกในเจียงซีขึ้นชื่อว่าเป็นข้าวที่อุดมไปด้วยแร่ซีลีเนียม (Selenium-Rich Rice) ซึ่งเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย และการทำเกษตรกรรมข้าวซีลีเนียมนี้นับว่ามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของมณฑลเจียงซี โดยเฉพาะที่อำเภอเฟิงเฉิงซึ่งมีประวัติศาสตร์การปลูกข้าวซีลีเนียมมายาวนาน และเป็น 1 ใน 5 “เมืองแห่งข้าวซีลีเนียมของจีน” นอกเหนือจากอีก 4 เมือง ได้แก่ เมืองเอินซือ (มณฑลหูเป่ย) อำเภอจือหยาง (มณฑลส่านซี) อำเภอซือไท (มณฑลอานฮุย) และอำเภอปาม๋า (มณฑลกว่างซี) ปัจจุบัน อำเภอเฟิงเฉิงมีพื้นที่ที่อุดมไปด้วยแร่ซีลีเนียมกว่า 500 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นกว่าร้อยละ 18 ของพื้นที่ทั้งอำเภอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำบลต่งเจียซึ่งระดับซีลีเนียมในข้าวที่ผลิตจากการเพาะปลูกในตำบลดังกล่าวมีค่าสูงกว่าพื้นที่อื่น 20 เท่า ตำบลดังกล่าวจึงได้รับการขนานนามว่า “หุบเขาระบบนิเวศวิทยาซีลีเนียมของจีน”
รัฐบาลอำเภอเฟิงเฉิงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมซีลีเนียมอย่างมาก โดยตั้งเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมซีลีเนียมภายในปี 2564 ดังนี้ (1) การก่อสร้างศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอาหารซีลีเนียม และพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมซีลีเนียม 5 โครงการ ได้แก่ ห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหารซีลีเนียม ห่วงโซ่อุตสาหกรรมชาน้ำมันซีลีเนียม ห่วงโซ่อุตสาหกรรมผักซีลีเนียม ห่วงโซ่อุตสาหกรรมการปศุสัตว์ซีลีเนียม และห่วงโซ่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงนันทนาการในพื้นที่ที่มีแร่ซีลีเนียม เช่น การแช่น้ำพุร้อนแร่ซีลีเนียม (2) การขยายพื้นที่ฐานอุตสาหกรรมซีลีเนียมจำนวน 83,333 ไร่ ตั้งเป้ามูลค่าการผลิตในอุตสาหกรรมซีลีเนียมให้ได้ 1 หมื่นล้านหยวน และส่งเสริมวิสาหกิจซีลีเนียมนำร่องซึ่งมีมูลค่าการผลิตมากกว่า 50 ล้านหยวนต่อปี จำนวน 5 แห่ง (3) ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรและปศุสัตว์ที่มีแร่ซีลีเนียมให้เป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ได้แก่ ข้าวซีลีเนียม ชาน้ำมันซีลีเนียม ใบชาซีลีเนียม ไข่ซีลีเนียม เป็ดซีลีเนียม เนื้อวัวซีลีเนียม และสมุนไพรซีลีเนียม
ในปี 2562 มีการสำรวจและค้นพบแร่ซีลีเนียมในเมืองอีชุนครอบคลุมพื้นที่กว่า 6.44 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 55 ของพื้นที่ทั้งเมือง ในจำนวนนี้ พื้นที่ที่มีแร่ซีลีเนียมถูกนำไปใช้ประโยชน์แล้วกว่า 200,000 ไร่ ก่อให้เกิดมูลค่าการผลิตทะลุ 1 หมื่นล้านหยวน ขณะเดียวกันรัฐบาลเมืองอีชุนได้จัดตั้งกองทุน 50 ล้านหยวนต่อปีเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมซีลีเนียม และตั้งเป้าหมายในการขยายพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรซีลีเนียมอีกกว่า 800,000 ไร่ เพื่อสร้างมูลค่าการผลิตให้ได้มากกว่า 4.5 หมื่นล้านหยวนภายในปี 2565 ตามนโยบายส่งเสริมเมืองอีชุนให้ก้าวสู่ “เมืองแห่งซีลีเนียมระดับโลก”
นัยต่อไทย ในปี 2563 ไทยประสบปัญหาการส่งออกข้าวโดยส่งออกข้าวได้เพียง 5.7-5.8 ล้านตัน ต่ำสุดในรอบสองทศวรรษ จากเดิมที่เคยส่งออกได้สูงสุดเฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านตัน อีกทั้งตลาดข้าวไทยยังต้องเผชิญกับคู่แข่งอย่างอินเดียและเวียดนามที่มีต้นทุนการผลิตข้าวที่ต่ำกว่า นอกเหนือจากการเพิ่มปริมาณผลผลิต ไทยจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพและความหลากหลายของพันธุ์ข้าวด้วยการนำนวัตกรรมเข้าไปช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวไทย เพื่อส่งเสริมและขยายโอกาสในการส่งออกไปยังตลาดบริโภคในระดับสูงมากขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อเดือนมีนาคม 2563 ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยได้จัดทำโครงการร่วมมือระหว่างไทยกับจีนว่าด้วยการพัฒนาข้าวไทยด้วยการเพิ่มธาตุซีลีเนียมลงในข้าวผ่านการใช้ปุ๋ย โดยสามารถเพิ่มมูลค่าข้าวปกติถึง 6 เท่า และเปิดตลาดส่งออกไปสู่ประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันมีการปลูกในแปลงทดลองที่จังหวัดชัยภูมิและได้ผลผลิตข้าวซีลีเนียมแล้ว รวมทั้งได้ขยายการเพาะปลูกใน ไร่นาของเกษตรกรที่จังหวัดนครนายกจำนวน 28 ไร่
แหล่งอ้างอิง http://www.jxfc.gov.cn/xxgk-show-93222.html
http://www.jxfc.gov.cn/news-show-13358.html
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู