เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานสถิตินครฉางซาเปิดเผยข้อมูลผลสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) ของนครฉางซาในปี 2563 ซึ่งคิดเป็น 101.8 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 จากปี 2562 อย่างไรก็ดี CPI ของนครฉางซาในปีที่ผ่านมายังต่ำกว่า CPI ระดับประเทศของจีน 0.7 จุด ต่ำกว่า CPI ทั่วมณฑลหูหนาน 0.5 จุด รวมทั้งต่ำกว่าในกลุ่มเมืองขนาดใหญ่และขนาดกลางจำนวน 36 เมือง 0.3 จุด โดยในบรรดาเมืองขนาดใหญ่และขนาดกลางจำนวน 36 เมือง CPI นครฉางซาในปี 2563 มีอัตราเพิ่มขึ้นอยู่ในอันดับที่ 30 เท่ากับนครหยินชวนของเขตฯ หนิงเซี่ย และมีอัตราเพิ่มขึ้นอยู่ในอันดับที่ 6 ในบรรดาเมืองเอกมณฑลภาคกลางของจีน
เมื่อพิจารณาอัตราเพิ่มขึ้นของ CPI นครฉางซาทุกเดือนในปี 2563 กับปีก่อนหน้าตามข้อมูลสถิติ พบว่า เดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนที่ CPI นครฉางซามีอัตราเพิ่มขึ้นสูงที่สุด คิดเป็นร้อยละ 4.2 จากนั้น จึงค่อย ๆ ลดลง จนกระทั่งมีอัตราเพิ่มขึ้นต่ำที่สุดในเดือนพฤศจิกายน คิดเป็นติดลบร้อยละ 0.6 ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนธันวาคม 2563 นอกจากเดือนมีนาคมที่ CPI นครฉางซามีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และเดือนกรกฎาคมที่มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าแล้ว อีก 8 เดือนที่เหลือ CPI นครฉางซาล้วนมีอัตราเพิ่มขึ้นต่ำกว่าร้อยละ 2
หน่วยสำรวจของสำนักงานสถิตินครฉางซาเปิดเผยข้อมูลว่า ราคาสินค้าอาหารที่ปรับขึ้นลงบ่อยครั้งนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อระดับราคาภาพรวมในนครฉางซา โดยปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความผันผวนของราคาสินค้าอาหาร ได้แก่ ราคาสินค้าเกษตรและราคาสินค้าข้างเคียงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระบวนการผลิตได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติ โดยในปี 2563 ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าข้างเคียงที่เกี่ยวข้องในนครฉางซา เช่น เนื้อหมู ผักสด และผลไม้ ล้วนมีการปรับขึ้นลงตลอดทั้งปี ทั้งนี้ สำหรับสินค้าประเภทเนื้อหมูนั้น ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ปรากฏการณ์ “วงจรเนื้อหมู” (Pork Cycle) ซึ่งเป็นวงรอบความผันผวนด้านปริมาณและราคาของสินค้าปศุสัตว์ และการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever) ส่งผลให้ปริมาณสุกรลดลงเป็นอย่างมากและทำให้ราคาเนื้อหมูปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยมีอัตราปรับเพิ่มสูงสุดถึงร้อยละ 100 ซึ่งในขณะเดียวกันก็ส่งผลให้ราคาสินค้าประเภทเนื้อวัว เนื้อแกะ และเนื้อของปศุสัตว์อื่น ๆ รวมถึงสินค้าแปรรูปปรับเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
ในทางกลับกัน กระแสนิยมรักษาสุขภาพที่ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจาก “กินดี” มาสู่ “กินเพื่อสุขภาพ” ก็ได้ส่งผลต่อการปรับราคาสินค้าประเภทผักสด ผลไม้ รวมถึงสินค้าเกษตรและสินค้าข้างเคียงที่เกี่ยวข้องให้สูงขึ้นตามไปด้วย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของมณฑลหูหนานและนครฉางซาได้ออกมาตรการเพื่อรับประกันปริมาณและรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าประเภทผักและผลไม้ จนทำให้ราคาสินค้าทั้งสองประเภทในนครฉางซามีอัตราเพิ่มขึ้นต่ำกว่าระดับประเทศและระดับมณฑลในปี 2563
ที่มา: http://www.enghunan.gov.cn/hneng/News/Localnews/202102/t20210209_14440970.html
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู