อุตสาหกรรม IoT ของมณฑลเจียงซีมาแรง มีมูลค่ารายได้ทะลุ 1 แสนล้านหยวน

โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

 

การขยายตัวของ IoT สำหรับภาคอุตสาหกรรมและโรงงานการผลิตทั่วโลกมีแนวโน้มการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผลจากการศึกษาวิจัยข้อมูลทางการตลาดโดยบริษัทวิจัยชื่อดังของสหรัฐฯ Gartner ประเมินว่า IoT ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา และมีโอกาสที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในระยะข้างหน้าในอัตราเร่งที่ร้อยละ 30-35 ต่อปี โดยในปี 2563 จำนวนของอุปกรณ์ IoT ทั่วโลกมีประมาณ 2.04 หมื่นล้านเครื่อง ตลาด IoT มีมูลค่าตลาดโดยรวมสูงถึง 2.93 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคาดว่าภายในปี 2568 จำนวนของอุปกรณ์ IoT จะเพิ่มถึง 7.54 หมื่นล้านเครื่อง มีมูลค่ากว่า 11.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอุปกรณ์ส่วนใหญ่จะถูกใช้อยู่ในสาขาการผลิตอัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ สุขภาพอัจฉริยะ และการค้าปลีกอัจฉริยะ เป็นต้น

สำหรับประเทศจีน ในปี 2563 อุตสาหกรรม IoT ของจีนมีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านหยวน ซึ่งคาดว่าภายในปี 2573 จะมีอุปกรณ์ IoT เพิ่มเป็นกว่า 1 พันล้านเครื่อง ขณะที่จีนเป็นประเทศที่ได้จัดตั้งระบบเครือข่าย NB-IoT (Narrow Band Internet of Things) ที่ใหญ่ที่สุดของโลก และปัจจุบัน จีนมีการก่อสร้างสถานีฐาน NB-IoT มากกว่า 1.5 ล้านแห่งทั่วประเทศ

เมื่อต้นเดือนธันวาคมของปี 2563 รัฐบาลเจียงซีประกาศ “หนังสือวิเคราะห์อุตสาหกรรม IoT เคลื่อนที่แห่งมณฑลเจียงซีปี 2563” ซึ่งระบุว่า ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2563 อุตสาหกรรม IoT ของมณฑลเจียงซีมีมูลค่ารายได้ทั้งหมด 1.06 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 และคาดว่าจะมีมูลค่ารายได้ทะลุ 1.2 แสนล้านหยวนภายในสิ้นปี 2563 การเติบโตของอุตสาหกรรม IoT ของมณฑลเจียงซีมีผลมาจากเป้าหมายการพัฒนาโรงงานอัจฉริยะ และเทคโนโลยีการผลิตแบบอัตโนมัติโดยการริเริ่มของภาครัฐ ตัวอย่างเช่น “แผนการพัฒนาระบบเครือข่าย IoT เคลื่อนที่มณฑลเจียงซี (ปี 2560-2563)” ที่มีการส่งเสริมการใช้โซลูชั่น IoT ในสาขาการแปรรูปทองแดงเชิงลึก พลังงานใหม่ ยาชีวภาพ และวัสดุใหม่ โดยเฉพาะเมืองอิงถานซึ่งมีการประยุกต์ใช้ระบบ IoT ในอุตสาหกรรมผลิตทองแดงอย่างแพร่หลาย ซึ่งได้ช่วยวิสาหกิจลดต้นทุนกว่าร้อยละ 10 และเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการทำงานกว่าร้อยละ 15 นอกจากนี้ วิสาหกิจในสาขา IoT ท้องถิ่นยังพัฒนาความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องโดยพากันลงทุนและก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ในมณฑลเจียงซี โดยเฉพาะที่เมือง   อิงถาน อาทิ บริษัท WoDell Technology มณฑลเจ้อเจียง / Huawei / JD / CRRC Corporation Limited

โอกาสของไทย สำหรับประเทศไทย IoT เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนกระบวนการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล และ IoT ถูกนำมาประยุกต์ใช้งานในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งในกลุ่มผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ส่งผลให้มูลค่าตลาดของ IoT ในประเทศไทยคาดว่าจะเติบโตจาก 3.6 พันล้านบาทในปี 2561 เป็นประมาณ 4.4 แสนล้านบาทในปี 2578 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละร้อยละ 27.4 ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว โดยเจียงซีเป็นมณฑลแรกของจีนที่ได้ติดตั้งระบบ 5G ครอบคลุมทุกเขตของนครเอกของมณฑล และจนถึงสิ้นเดือนตุลาคมของปี 2563 เจียงซีมีการจัดตั้งสถานีฐาน 5G แล้วทั้งหมด 27,246 แห่ง และมีการจัดตั้งสถานีฐาน NB-IoT ทั้งหมด 73,048 แห่ง และเจียงซีมีความได้เปรียบทางทรัพยากร IoT โดยมีวิสาหกิจ IoT กว่า 800 แห่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในมณฑลของจีนที่มีวิสาหกิจ IoT จำนวนมากเป็นอันดับต้น ๆ ดังนั้น มาตรการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม IoT จึงถือเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับวิสาหกิจ  ในสาขาผลิต IoT ของไทย โดยไทยอาจเรียนรู้และสำรวจความร่วมมือกับวิสาหกิจของมณฑลเจียงซีได้เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของไทยในการแข่งขันตลาด IoT กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

แหล่งอ้างอิง https://bbs.jxnews.com.cn/forum.php?mod=viewthread&tid=3295259

https://www.chyxx.com/industry/202002/833915.html

https://www.chyxx.com/industry/202004/856244.html

webmaster

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]