ไฮไลท์
- อีคอมเมิร์ซข้ามแดน (Cross Border Electronic Commerce – CBEC) เป็นเทรนด์ธุรกิจใหม่ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งในรูปแบบธุรกิจสู่ผู้บริโภค (B2C) และธุรกิจสู่ธุรกิจ (B2B) ซึ่งแนวโน้มการเติบโตของ CBEC มีความชัดเจนยิ่งขึ้นในยุคที่โลกกำลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 ในขณะนี้
- รัฐบาลกลางได้ทยอยอนุมัติการจัดตั้ง “เขตทดลองการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามแดนแบบครบวงจร” ทั่วประเทศจีน เพื่อเสริมสร้างมาตรฐานและส่งเสริม ecosystem ให้กับธุรกิจ CBEC ในจีน โดย “เขตทดลอง CBEC นครหนานหนิง” เป็นเขตทดลอง CBEC เพียงแห่งเดียวในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง
- ปัจจุบัน เขตทดลอง CBEC นครหนานหนิงมีบริษัทอีคอมเมิร์ซข้ามแดนเข้าไปจัดตั้งแล้วเกือบ 100 ราย ครอบคลุมธุรกิจผู้ให้บริการด้านแพลตฟอร์ม โลจิสติกส์ และคลังสินค้า อาทิ Alibaba / com / LAZADA / SF Express / FTZCOC และยังคงเปิดรับนักลงทุนอยู่ โดยเฉพาะธุรกิจด้านการค้าดิจิทัล (Digital Trade) และธุรกิจโลจิสติกส์อัจฉริยะ
- เขตทดลอง CBEC นครหนานหนิงเป็นอีกช่องทางที่ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้เจาะตลาดภาคตะวันตกและภาคกลางตอนล่างของจีน โดยอาศัยความใกล้ชิดด้านทำเลที่ตั้ง ความสะดวกในการขนส่ง ความคุ้นเคยและการยอมรับสินค้าไทยของผู้บริโภคชาวจีน อีกทั้งยังมีคู่แข่งจำนวนไม่มาก
อีคอมเมิร์ซข้ามแดน (Cross Border Electronic Commerce – CBEC) เป็นเทรนด์ธุรกิจใหม่ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งในรูปแบบธุรกิจสู่ผู้บริโภค (B2C) และธุรกิจสู่ธุรกิจ (B2B) ซึ่งแนวโน้มการเติบโตของ CBEC มีความชัดเจนยิ่งขึ้นในยุคที่โลกกำลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 ในขณะนี้
เพื่อเสริมสร้างมาตรฐานและส่งเสริม ecosystem ให้กับธุรกิจ CBEC ในจีน รัฐบาลกลางได้ริเริ่มการจัดตั้ง “เขตทดลองการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามแดนแบบครบวงจร” (Integrated Pilot Zones for Cross Border e-Commerce /中国跨境电子商务综合试验区) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “เขตทดลอง CBEC” ที่นครหังโจว มณฑลเจ้อเจียงเป็นแห่งแรก (เมืองที่ตั้งของเครือบริษัท Alibaba) ก่อนจะขยายผลไปยังเมืองอื่นๆ จนถึงขณะนี้มีอยู่ 105 แห่งทั่วประเทศ
สำหรับเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มี “เขตทดลอง CBEC นครหนานหนิง” เป็นพื้นที่นำร่องการค้าออนไลน์เพียงแห่งเดียวของมณฑล ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลกลางเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 มีฟังก์ชันครบครันทั้งแพลตฟอร์ม CBEC แบบครบวงจร รวมถึงธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ การชำระเงิน โลจิสติกส์ พิธีการศุลกากร การคืนภาษี และการชำระบัญชีเงินโอน
ด้วยความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ “อาเซียน” จึงเป็นตลาดสำคัญในโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศของกว่างซี ทั้งการค้าทั่วไปและการค้าออนไลน์ ทำให้เขตทดลอง CBEC นครหนานหนิง กลายมาเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการกระชับความร่วมมือทางการค้าระหว่างกว่างซี(จีน)-อาเซียน ระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2563 ยอดธุรกรรมการค้าปลีกอีคอมเมิร์ซข้ามแดน มีจำนวน 37.91 ล้านรายการ รวมมูลค่า 1,800 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 211% (YoY)
ภายในเขตทดลอง CBEC นครหนานหนิง มีศูนย์บิ๊กดาต้าอีคอมเมิร์ซข้ามแดน ศูนย์สั่งซื้อสินค้าต่างประเทศ (Cross-border Bonded Direct Purchase Center) และคลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับสาธารณะเช่าใช้ มีระบบเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (Single window) ซึ่งช่วยให้การตรวจปล่อยพัสดุสินค้าข้ามแดนมีประสิทธิภาพและรวดเร็วเป็นอย่างมาก (ลดระยะเวลาการดำเนินพิธีการศุลกากรจาก 8 ชั่วโมง เหลือ 1 ชั่วโมง) รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานรองรับระบบห่วงโซ่ความเย็น (สำหรับสินค้าสด อย่างผลไม้และเนื้อสัตว์แช่แข็ง)
นอกจากนี้ LAZADA แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ในอาเซียน ได้เข้ามาจัดตั้งใน “ศูนย์บริการนวัตกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามแดน” เพื่อบ่มเพาะบุคลากร/ธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามแดน มีโซนห้องไลฟ์สด (live streaming) อีคอมเมิร์ซข้ามแดนสำหรับทุกประเทศสมาชิกอาเซียน มีการฝึกอบรมอีคอมเมิร์ซข้ามแดนหลายภาษา เพื่อพัฒนาห่วงโซ่อุปทานในธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามแดนจีน-อาเซียน และได้ร่วมมือกับบริษัท Cainiao ผู้ให้บริการด้านคลังสินค้าและโลจิสติกส์ในเครือ Alibaba ในโครงการศูนย์โลจิสติกส์อาเซียน(หนานหนิง) เพื่อรองรับธุรกรรมการค้าในเขตทดลอง CBEC หนานหนิงกับประเทศสมาชิกอาเซียน
ปัจจุบัน เขตทดลอง CBEC นครหนานหนิงมีบริษัทอีคอมเมิร์ซข้ามแดนเข้าไปจัดตั้งแล้วเกือบ 100 ราย ครอบคลุมธุรกิจผู้ให้บริการด้านแพลตฟอร์ม โลจิสติกส์ และคลังสินค้า อาทิ Alibaba / JD.com / LAZADA / SF Express / FTZCOC และยังคงเปิดรับนักลงทุนอยู่ โดยเฉพาะธุรกิจด้านการค้าดิจิทัล (Digital Trade) และธุรกิจโลจิสติกส์อัจฉริยะ
บีไอซี เห็นว่า เขตทดลอง CBEC นครหนานหนิง เป็นอีกช่องทางที่ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์ในการเจาะตลาดภาคตะวันตกและภาคกลางตอนล่างของจีน โดยอาศัยความใกล้ชิดด้านทำเลที่ตั้ง ความสะดวกในการขนส่ง ความคุ้นเคยและการยอมรับสินค้าไทยของผู้บริโภคชาวจีน อีกทั้งยังมีคู่แข่งจำนวนไม่มาก
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西 ) วันที่ 25 ธันวาคม 2563
ภาพประกอบ www.freepik.com และ BIC in Nanning