การเปิดใช้ทางด่วนเวียงจันทน์-บ่อเต็น ช่วงเวียงจันทน์-วังเวียง เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 นับเป็นหลักไมล์แห่งความสำเร็จล่าสุดภายใต้ความร่วมมือของจีนกับลาวในการพัฒนา “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว” ซึ่งมีมณฑลยูนนานเป็นผู้เล่นหลักของจีนเนื่องจากเป็นมณฑลเดียวที่มีชายแดนติดกับลาว โดยมีด่านโม่ฮาน-บ่อเต็นเป็นช่องทางการค้าชายแดนที่ใหญ่ที่สุดและมีมูลค่าสูงที่สุดระหว่างกัน ดังนั้น ทางด่วนสายดังกล่าวที่บริษัท Yunnan Construction and Investment Holding Group รัฐวิสาหกิจของมณฑลยูนนานได้เข้าไปมีส่วนร่วมก่อสร้าง จึงไม่ได้มีความสำคัญเพียงแค่เป็นทางด่วนสายแรกของลาว แต่ยังเป็นพื้นฐานและหลักประกันความมั่นใจที่จะช่วยดึงดูดและส่งเสริมความร่วมมืออื่น ๆ ของทั้งสองประเทศในอนาคต
ในขณะที่ทางด่วนเวียงจันทน์-บ่อเต็น ช่วงวังเวียง-อุดมไซ-บ่อเต็น ยังคงต้องใช้เวลาในการก่อสร้างอีกหลายปี แต่เส้นทางรถไฟจีน-ลาว ที่มีต้นทางจากนครคุนหมิงถึงเวียงจันทน์กำลังจะเปิดใช้งานแล้วในช่วงปลายปี 2564 สิ่งสำคัญที่น่าจับตามองซึ่งเป็นผลพลอยได้จากทางด่วนและเส้นทางรถไฟดังกล่าว คือ การลงทุนของจีนในลาว ได้แก่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนงาม ซึ่งลงทุนโดยกลุ่มทุนเอกชน Haicheng Group จากเขตฯ สิบสองปันนาของมณฑลยูนนาน และเขตพัฒนาเศรษฐกิจไชยเชษฐา ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐบาลนครหลวงเวียงจันทน์กับบริษัท Yunnan Overseas Investment ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท Yunnan Construction and Investment Holding Group
นายเหลียง ซวีตง รองอธิบดีคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปมณฑลยูนนานให้ความเห็นว่า “การเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบก ทางอากาศ และระบบรางระหว่างมณฑลยูนนานกับประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับเป็นภารกิจสำคัญของจีนในการเชื่อมโยงเข้ากับภูมิภาคทั้งสอง” ปัจจุบัน ทางด่วนจีน-เวียดนาม จีน-ลาว และจีน-เมียนมา ช่วงภายในมณฑลยูนนานได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งานแล้ว ขณะที่เส้นทางรถไฟจีน-เวียดนาม ช่วงคุนหมิง-เหอโข่ว และเส้นทางรถไฟจีน-เมียนมา ช่วงคุนหมิง-หลินชาง ก็ได้เปิดใช้งานแล้ว ส่วนเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ช่วงคุนหมิง-เวียงจันทน์ก็จะเปิดใช้งานได้ในปี 2564 และเส้นทางรถไฟจีน-เมียนมา ช่วงคุนหมิง-รุ่ยลี่ก็จะเปิดใช้งานได้ในปี 2565
นอกจากเส้นทางทางบกและระบบรางแล้ว มณฑลยูนนานยังได้เปิดเส้นทางขนส่งสินค้าทางอากาศทั้งภายในมณฑลและระหว่างประเทศจำนวน 93 เส้นทาง ครอบคลุมเมืองหลวงและเมืองสำคัญของประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครบทุกประเทศ
มณฑลยูนนานเล็งเห็นถึงความสำคัญของบริการอีคอมเมิร์ซข้ามแดน โดยเฉพาะภายใต้สภาวะที่การเดินทางระหว่างประเทศถูกจำกัดด้วยสถานการณ์โรคระบาด โดยสำนักงานศุลกากรนครคุนหมิงภายในเขตการค้าเสรีนำร่องมณฑลยูนนานได้นำนวัตกรรมของระบบศุลกากรมาปรับใช้ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจปล่อยและดึงดูดการลงทุนจากบริษัทอีคอมเมิร์ซและบริษัทโลจิสติกส์ชั้นนำทั้งจากภายในจีนและต่างประเทศ ทั้งนี้ นับจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 มีบริษัทอีคอมเมิร์ซข้ามแดน
จดทะเบียนในมณฑลยูนนาน 117 ราย และตลอดช่วง 11 เดือนแรกของปี 2563 กิจการอีคอมเมิร์ซข้ามแดนของมณฑลยูนนานมีมูลค่าสูงถึง 640 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 13.3 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
นอกจากนี้ มณฑลยูนนานยังได้เร่งผลักดันการพัฒนาการเงินชายแดนและการเงินข้ามแดน โดยเมื่อนับจนถึงปลายเดือนกันยายน 2563 ธุรกรรมเงินสกุลหยวนข้ามแดนได้ขยายครอบคลุมด่านชายแดน 23 แห่ง ครบทั้ง 16 เมืองของมณฑลยูนนาน โดยมีบริษัทที่ใช้ธุรกรรมดังกล่าวกว่า 3,900 ราย รวมมูลค่าการชำระเงินหยวนข้ามแดนสูงถึง 568,082 ล้านหยวน ทั้งนี้ มณฑลยูนนานเป็นมณฑลแรกของจีนที่ให้บริการธุรกรรมซื้อขายเงินตราสกุลหยวนและบาทระหว่างธนาคาร รวมทั้งยังส่งเสริมการสร้างแพลตฟอร์มให้บริการเงินสดสกุลด่องของเวียดนามโดยตรง 2 แพลตฟอร์ม และแพลตฟอร์มให้บริการเงินสดสกุลบาทของไทยโดยตรงเป็นครั้งแรกในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน รวมถึงยังก่อตั้งช่องทางการขนส่งเงินสดสกุลหยวนและกีบสำหรับการชำระเงินข้ามแดน และขยายการใช้ระบบการชำระเงินหยวนข้ามแดน (CIPS) ในมณฑลยูนนาน เหล่านี้ ล้วนเป็นตัวอย่างที่สะท้อนว่ามณฑลยูนนานมีบทบาทนำในการส่งเสริมให้สถาบันการเงินระดับท้องถิ่น “ก้าวออกไป” สู่ภายนอก
ผลจากการเร่งพัฒนาเขตการค้าเสรีนำร่องมณฑลยูนนาน รวมทั้งแพลตฟอร์มเปิดกว้างสู่ภายนอกของมณฑล อาทิ เขตพัฒนาและเปิดกว้างสู่ภายนอกนำร่อง (Development and Opening-up Pilot Zone) ที่รุ่ยลี่และโม่ฮาน เขตความร่วมมือเศรษฐกิจชายแดนในเหอโข่ว รุ่ยลี่ หว่านติงและหลินชาง รวมทั้งเขตความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามแดนจีน-ลาว จีน-เมียนมา และจีน-เวียดนาม ล้วนทำให้บทบาทและการมีส่วนร่วมของมณฑลยูนนานในการสร้างระเบียงเศรษฐกิจจีน-อินโดจีน ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา-บังกลาเทศ-อินเดีย ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว และระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา ยิ่งทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างปี 2559 จนถึงปี 2562 มูลค่าการค้ากับต่างประเทศของมณฑลยูนนานเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 15.12 ต่อปี โดยในปี 2562 มีมูลค่าทะลุ 200,000 ล้านหยวน
อนึ่ง เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลยูนนาน สมัยที่ 10 ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาศักยภาพด้านคมนาคมของมณฑลยูนนนานให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยมีระบบคมนาคมที่ทันสมัยและเป็นศูนย์กลางของจีนในการเชื่อมโยงกับภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการพัฒนาเส้นทางคมนาคมจีน-ลาว-ไทย จีน-เมียนมา และจีน-เวียดนาม การขนส่งหลากหลายรูปแบบ (multimodal transportation) ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ความเชื่อมโยงด้านพลังงานในภูมิภาค และยกระดับการอำนวยความสะดวกการค้าข้ามแดน เพื่อให้มณฑลมีความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มขึ้น รวมถึงเป็นศูนย์กลางของจีนในการเชื่อมโยงกับภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างสมบูรณ์
ที่มา: http://yn.yunnan.cn/system/2020/12/29/031206127.shtml