• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • รู้จัก “ศูนย์โลจิสติกส์ท่าเรือบกนครกุ้ยหยาง” ข้อต่อเชื่อมจีนตะวันตกตอนในกับยุทธศาสตร์ ILSTC – thaibizchina

รู้จัก “ศูนย์โลจิสติกส์ท่าเรือบกนครกุ้ยหยาง” ข้อต่อเชื่อมจีนตะวันตกตอนในกับยุทธศาสตร์ ILSTC – thaibizchina

เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Commission: NDRC) และกระทรวงคมนาคมจีนได้ประกาศรายชื่อเมืองที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งศูนย์โลจิสติกส์ระดับชาติกลุ่มที่ 2 จำนวน 22 แห่ง โดยในจำนวนนี้รวมถึง “ศูนย์โลจิสติกส์ท่าเรือบกนครกุ้ยหยาง” (Guiyang Inland Port Logistics Hub) ซึ่งนับเป็นโครงการท่าเรือบกระดับประเทศแห่งแรกของมณฑลกุ้ยโจว

ศูนย์โลจิสติกส์ท่าเรือบกนครกุ้ยหยาง มีขนาด 5,500 หมู่ หรือประมาณ 2,300 ไร่ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของนครกุ้ยหยาง มีจุดเด่นจากการเป็นจุดศูนย์รวมและจุดสับเปลี่ยนการขนส่งรูปแบบต่าง ๆ (multimodal transportation) โดยภายในพื้นที่ศูนย์โลจิสติกส์แบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนแรก เป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มบริษัท Guizhou Material Modern Logistics Group และศูนย์โลจิสติกส์ระบบรางไก่เม่านครกุ้ยหยาง (Guiyang Gaimao Railway Port) ขณะที่อีกส่วนเป็นที่ตั้งของศูนย์โลจิสติกส์ระบบถนนฉวนฮั่วนครกุ้ยหยาง (Guiyang Transfer Logistics) สำหรับจุดเน้นของศูนย์โลจิสติกส์แห่งนี้ ได้แก่ การขนส่งและกระจายสินค้าทางบกในภูมิภาค ข้อมูลโลจิสติกส์ การขนส่งระหว่างประเทศ การขนส่งหลากหลายรูปแบบ การบริหารห่วงโซ่อุปทาน การสร้างห่วงโซ่อุปทานทางการเงิน และอีคอมเมิร์ซ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มณฑลกุ้ยโจวได้เร่งส่งเสริมการพัฒนามณฑลให้เป็น “ข้อต่อ” เพื่อเชื่อมโยงกับระเบียงการค้าบก-ทะเลนานาชาติสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor: ILSTC) และเส้นทางขนส่งสินค้าด้วยรถไฟจีน-ยุโรป โดยตั้งเป้าหมายให้นครกุ้ยหยางเป็นท่าเรือบกที่สำคัญในภาคตะวันตกของจีนที่สามารถเป็นศูนย์กระจายสินค้าทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ ที่สำคัญ ขณะนี้กุ้ยโจวได้เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของมณฑลทุกระบบเพื่อส่งเสริมเป้าหมายข้างต้น อาทิ โครงการจัดตั้งศูนย์โลจิสติกส์นานาชาติบก-ทะเลตูลาอิ๋ง (Dulaying International Land-Sea Logistics Port) ภายในเขตปลอดอากรนครกุ้ยหยาง (Guiyang Free Trade Zone) โครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรปผ่านศูนย์โลจิสติกส์ระบบรางไก่เม่านครกุ้ยหยาง ตลอดจนโครงการขยายท่าอากาศยานนานาชาติหลงต้งเป่า นครกุ้ยหยาง ระยะที่ 3

ในระยะยาว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของนครกุ้ยหยางมีแผนดำเนินงานเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพด้านโลจิสติกส์และเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในหลายด้าน ได้แก่ การเร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ การสร้างตลาดภายในให้แข็งแกร่ง การแลกเปลี่ยนและเปิดกว้างสู่ภายนอก การสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือและการเชื่อมโยง ตลอดจนการส่งเสริมบูรณาการระหว่างระบบคมนาคมกับระบบโลจิสติกส์ การค้า และอุตสาหกรรม

อนึ่ง รัฐบาลจีนอนุมัติการจัดตั้งศูนย์โลจิสติกส์ระดับชาติกลุ่มแรกจำนวน 23 แห่ง เมื่อปี 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการความเชื่อมโยงของระบบคมนาคมเพื่อตอบสนองการพัฒนาพื้นที่ตามยุทธศาสตร์ชาติที่สำคัญ เช่น เขตเศรษฐกิจปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย (Beijing-Tianjin-Hebei Integration) เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Economic Belt) และเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area) รวมถึงกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจจีน นับจนถึงปัจจุบัน จีนมีศูนย์โลจิสติกส์ระดับชาติ 45 แห่ง ครอบคลุมการขนส่ง 6 รูปแบบ ได้แก่ โลจิสติกส์ท่าเรือบก โลจิสติกส์ท่าเรือ โลจิสติกส์ท่าอากาศยาน โลจิสติกส์บริการอุตสาหกรรม โลจิสติกส์บริการการค้า และโลจิสติกส์ด่านชายแดนทางบก

ที่มา: http://guizhou.chinadaily.com.cn/2020-10/29/c_560548.htm

กุ้ยหยาง โลจิสติกส์ ขนส่ง

webmaster

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]