การระบาดของโรคโควิด-19 ในปีนี้ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมกาแฟของมณฑลยูนนาน โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟ เนื่องจากแรงงานชนบทส่วนมากไม่สามารถเดินทางไปรับจ้างตามไร่กาแฟได้ อันเป็นผลมาจากมาตรการจำกัดการเดินทางเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในช่วงก่อนหน้านี้ เป็นเหตุให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในมณฑลยูนนานหลายรายต้องอาศัยแรงงานในครัวเรือนเพื่อเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟให้ได้ปริมาณมากที่สุดเท่าที่ทำได้
แม้จะเผชิญกับอุปสรรคข้างต้น แต่ในปีนี้ยังคงมีผลผลิตเมล็ดกาแฟจากมณฑลยูนนานออกสู่ตลาดตามปกติ โดยเมล็ดกาแฟจากไร่บางแห่ง เช่น เมล็ดกาแฟรุ่น “Qingkai” จากไร่ของนาย Cai Qingkai และเมล็ดกาแฟจากไร่ของนาย Pan Qizuo ได้รับคัดเลือกจากสตาร์บัคส์ (Starbucks) เพื่อนำไปชงขายในร้านกาแฟระดับพรีเมียม “Starbucks Reserve” ในประเทศจีนด้วย ซึ่งในกรณีเมล็ดกาแฟของนาย Cai นั้น ผ่านการคัดเลือกจากสตาร์บัคส์เป็นปีที่สองติดต่อกัน
สำหรับไร่กาแฟในมณฑลยูนนานที่สตาร์บัคส์คัดเลือกผลผลิตเมล็ดกาแฟมาจำหน่ายในร้านระดับพรีเมียมข้างต้น ล้วนเป็นเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมเกษตรกรมณฑลยูนนานของสตาร์บัคส์ (Starbucks Yunnan Farmer Support Center) ที่ตั้งอยู่ในเมืองผูเอ่อร์ โดยศูนย์แห่งนี้นับเป็นศูนย์ส่งเสริมเกษตรกรเพียงแห่งเดียวของสตาร์บัคส์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 โดยมีภารกิจหลักในการฝึกอบรมและถ่ายทอดองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในท้องถิ่น
จนถึงปัจจุบัน ศูนย์ฯ ดังกล่าวของสตาร์บัคส์ได้จัดการฝึกอบรมให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในมณฑลยูนนานแล้วกว่า 24,000 ครั้ง รวมทั้งสนับสนุนให้ไร่กาแฟในมณฑลยูนนานกว่า 1,600 แห่ง สามารถผ่านการประเมินมาตรฐานการทำไร่กาแฟ “Coffee And Farmer Equity (C.A.F.E.) Practice” ของสตาร์บัคส์ ซึ่งเป็นโครงการตรวจสอบคุณภาพการเพาะปลูกกาแฟที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการทำไร่กาแฟที่โปร่งใส ได้รับผลตอบแทนอย่างเป็นธรรม และมีความยั่งยืน รวมถึงใส่ใจในสวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ แรงงานผู้เก็บเกี่ยวผลผลิต ครอบครัว และชุมชน
ในภาพรวม ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา การส่งเสริมพัฒนาคุณภาพเมล็ดกาแฟในมณฑลยูนนานของสตาร์บัคส์ มีส่วนในการสนับสนุนกระแสสินค้าจีนหรือ “กั๋วหั้ว” (国货) ซึ่งนับเป็นชาตินิยมด้านการบริโภคของชาวจีน ที่หันมาเลือกใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศและ “แบรนด์เนมจีน” มากขึ้น
ในด้านการพัฒนาชุมชน สตาร์บัคส์มีส่วนส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินนโยบายลดความยากจนของรัฐบาลมณฑลยูนนานเป็นอย่างมาก โดยนับตั้งแต่ปี 2560 สตาร์บัคส์ได้ขยายการลงทุนร่วมกับมูลนิธิลดความยากจนแห่งประเทศจีน (China Foundation for Poverty Alleviation: CFPA) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านการปรับปรุงและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ด้วยการจัดโครงการฝึกอบรมทักษะอาชีพ การให้บริการด้านสุขภาพ ตลอดจนการให้คำปรึกษาเพื่อวางแผนทางการศึกษาให้แก่บุตรหลานของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟที่ยากจน โดยสตาร์บัคส์มีเป้าหมายจะขยายโครงการดังกล่าวให้ครอบคลุมเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟจำนวน 50,000 คนในมณฑลยูนนาน รวมถึงบุตรหลานวัยเรียนของบุคคลกลุ่มนี้จำนวน 6,000 คน ซึ่งที่ผ่านมา โครงการนี้ได้ช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้านเป้าหมายกว่าสองในสามแล้ว
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การตลาดในประเทศจีนของสตาร์บัคส์ให้ความสำคัญกับการสร้างห่วงโซ่อุปทานภายในจีนเพื่อส่งเสริมธุรกิจของตนเป็นสำคัญ โดยสตาร์บัคส์ได้ขยายการลงทุนเพื่อสร้างวงจรอุตสาหกรรมกาแฟ “จากไร่สู่ถ้วย” (a farm-to-cup coffee industry) ด้วยการจัดโครงการฝึกอบรมและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมกาแฟอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เมื่อเดือนมีนาคม 2563 สตาร์บัคส์ประกาศจะลงทุนเปิดโรงคั่วกาแฟมูลค่า 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2565 ในประเทศจีน โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนิคมนวัตกรรมกาแฟ (Coffee Innovation Park) ซึ่งเป็นความพยายามของสตาร์บัคส์ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้แก่ห่วงโซ่อุปทานในทวีปเอเชียของตน
อนึ่ง โครงการก่อสร้างนิคมนวัตกรรมกาแฟในจีนของสตาร์บัคส์ นอกจากจะส่งเสริมเป้าหมายในการสร้างเครือข่ายกาแฟในระดับโลกแล้ว ยังขับเน้นยุทธศาสตร์ของสตาร์บัคส์ที่ให้ความสำคัญกับตลาดในสหรัฐอเมริกาและจีนเป็นลำดับต้น ซึ่งเป็นสองตลาดหลักที่มีการเติบโตในระดับสูง โดยสำหรับตลาดจีน นอกจากการลงทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟภายในประเทศอย่างต่อเนื่องแล้ว สตาร์บัคส์ยังมีแผนจะขยายสาขาให้ครบ 6,000 แห่งภายในปี 2565 อีกด้วย
ที่มา: https://global.chinadaily.com.cn/a/202010/19/WS5f8d44a6a31024ad0ba7f98c_1.html