• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • จีนแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอย่างไร จนทำให้กรุงปักกิ่งมีค่า PM2.5ลดต่ำลงเป็นประวัติก…

จีนแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอย่างไร จนทำให้กรุงปักกิ่งมีค่า PM2.5ลดต่ำลงเป็นประวัติก…

จีนแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอย่างไร จนทำให้กรุงปักกิ่งมีค่า PM2.5ลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์?

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2017 ทางกรุงปักกิ่งประกาศทุ่มงบ 1.82หมื่นล้านหยวน หรือประมาณ 9.1 หมื่นล้านบาท แก้ไขปัญหาหมอกควันพิษ – ยกเลิกเผาถ่านหินใน 700 หมู่บ้าน – โละรถยนต์เก่า 300,000 คัน ที่ปล่อยควันมาก – สั่งปิด/ปรับปรุงโรงงานเก่า -ปรับปรุงกฏหมายพร้อม จัดตั้งหน่วยตำรวจพิทักษ์สิ่งแวดล้อม – จับ+ปรับจริง โดย ณ ตอนนั้นเผยว่า ปี 2016 ปรับกว่า 200 ล้านบาท จาก1,400 คดีมลพิษทางอากาศ

.

– โดยทางปักกิ่ง เพิ่มประสิทธิภาพมาตรการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศด้วยการเปลี่ยนจากการใช้พลังงานถ่านหิน มาใช้พลังงานอื่นที่สะอาดกว่าตามที่พักอาศัย โดยเฉพาะในย่านตัวเมือง จะไม่ให้มีการเผาถ่านหิน

.

– ไม่ใช่แค่ตามบ้านเรือน แต่การคมนาคมและใช้รถใช้ถนน ทางจีน โดยเฉพาะที่ปักกิ่ง เมืองหลวง ก็ออกนโยบายใช้พลังงานสะอาด ได้แก่ พลังงานไฟฟ้า แทนพลังงานเดิม โดยสนับสนุนให้ประชาชนใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลสร้างจุดชาร์จแบตอย่างเพียงพอ

ขนส่งมวลชนสาธารณะก็ถูกสนับสนุนให้มีการ transformมาใช้พลังงานไฟฟ้าเช่นกัน อย่างรถเมล์ไฟฟ้า และแท็กซี่ โดยเมื่อปี 2017 ปักกิ่งออกนโยบายเปลี่ยนรถแท็กซี่รุ่นเก่ากว่า 70,000 คุัน แทนที่ด้วยรถแท็กซี่ไฟฟ้า

จริงๆแล้ว นอกจากที่ปักกิ่ง ในจีนมีการใช้รถแท็กซี่ไฟฟ้า มาหลายปีแล้ว เช่น ที่เซินเจิ้น ,เซี่ยงไฮ้, หังโจว

.

– สำหรับรถยนต์เก่าหลายแสนคัน (ข้อมูลเมื่อปี 2017 มีประมาณ 300,000คัน) ที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง จะถูกจำกัดการนำมาใช้งาน รวมถึงโรงงานเก่าที่มีปัญหาด้านมลพิษกว่า 2,500 แห่ง ก็จะถูกสั่งปิดถาวรหรือให้ปรับปรุง

.

– เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองปักกิ่ง โดยตามแผนของทางการจีนในปี 2018 ได้วางแผนเพิ่มพื้นที่ป่าในเมืองจีน 5พื้นที่ รวมถึงพื้นที่สีเขียวระดับย่อมเช่นสวนสาธารณะ/สวนหย่อม 21แห่ง โดยพื้นที่สีเขียวที่ถูกเพิ่มขึ้นมาในปักกิ่งตอนนี้เพิ่มขึ้นมาเกือบทะลุ 50%ของพื้นที่กรุงปักกิ่งเรียบร้อยแล้ว (ปี 2018 พื้นที่สีเขียวในปักกิ่งกินพื้นที่ 48.3% ตามข้อมูลจาก ChinaDaily)

ไม่ใช่แค่ปักกิ่งนะ แต่นโยบายการเพิ่มพื้นที่สีเขียว-พื้นที่ป่า เป็นหนึ่งในนโยบายแก้ปัญหาควันพิษอย่างยั่งยืนในจีน จากข้อมูลของ People’s​ Daily สื่อทางการจีน ระบุว่า “นับตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน​ในปีค.ศ.1949 ซึ่ง ณ ตอนนั้นจีนมีพื้นที่ป่าเพียง 8.6%ของพื้นที่ทั้งประเทศ แต่ตอนนี้ผ่านไป70ปี จีนมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นเป็น 21.66% ของพื้นที่จีนทั้งหมด คิดเป็นพื้นที่ 208ล้านเฮกเตอร์ (ประมาณ​1,300ล้านไร่) โดยพื้นที่ป่า 69.33ล้านเฮกเตอร์ (ประมาณ 433ล้านไร่) เป็นผืนป่า​ที่ปลูกขึ้น ทำให้จีนเป็นเบอร์​1 ประเทศ​ที่ปลูกป่ามากที่สุดในโลก ณ ตอนนี้” พื้นที่ป่าที่ปลูกขึ้น ส่วนใหญ่​จะเน้นพื้นที่แห้งแล้ง​และทะเลทราย ที่ตอนนี้มีความเป็นสีเขียวเพิ่มขึ้น

.

– ทางปักกิ่งยังปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อม และจัดตั้งหน่วยตำรวจที่ดูแล-บังคับใช้กฏหมายเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะ โดยจะปรับจริง จับจริง สำหรับผู้ที่กระทำผิดที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ

เมื่อปี 2016 ซึ่งถือเป็นปีที่ปักกิ่งมีค่า PM2.5เฉลี่ยทั้งปีลดลงมาที่ระดับต่ำกว่า 100 หลังจากที่อากาศแย่สุดๆในปี2013 โดยในปี2016นั้น ทางปักกิ่งดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดอันก่อให้เกิดปัญหาสิ่งเเวดล้อม 13,127 คดี เงินค่าปรับรวมเป็นเงินกว่า 150 ล้านหยวน (ประมาณ 750 ล้านบาท) เฉพาะคดีที่เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ เกือบ 1,400 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับกว่า 40 ล้านหยวน (ประมาณ 200 ล้านบาท)

– ทางปักกิ่งได้เปลี่ยนเสาไฟส่องสว่างเพื่อสู้ศึกควันพิษ และอำนวยความสะดวกอื่นๆ โดยเสาโคมไฟ ในปักกิ่ง จะไม่ได้ทำหน้าที่ส่องสว่างเพียงอย่างเดียว แต่ยังเพิ่มเติมความสามารถมากมาย ได้แก่ ให้บริการฟรีไวไฟ(Wi-Fi ), จุดชาร์จไฟสำหรับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า, กล้องวงจรปิด, จุดตรวจจับค่ามลพิษทางอากาศ PM2.5 – ตรวจวัดอุณหภูมิ-ความเร็วลม พร้อมแสดงข้อมูลออกทางหน้าจอขนาดใหญ่ โดยได้ติดตั้งตามถนนในปักกิ่งกว่า100จุด

– ใช้เครื่องฟอกอากาศขนาดใหญ่ในเมืองปักกิ่ง เพื่อฟอกอากาศในเขตเมือ แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จนักเมื่อมีการนำใช้งานจริง

.

“นอกจากที่เล่ามาตรการแก้ปัญหาในปักกิ่งไปแล้ว มาดูวิธีการแก้ปัญหาควันพิษในจีน ที่เป็นนโยบายกลางและใช้ในหลายพื้นที่ไม่ใช่แค่ปักกิ่งกันบ้าง”

.

– หนึ่งในนโยบายที่แก้ปัญหามลพิษทางอากาศในจีนแบบระยะยาว คือ การปลูกจิตสำนึกและสร้างกฎระเบียบแก่คนในประเทศให้ช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ “ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” โดยทางการจีนให้สิทธิ์เจ้าหน้าที่ในสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมในเขต หรือในเมืองนั้นมีสิทธิ์ลงโทษโรงงาน-ผู้ประกอบการ ที่ก่อให้เกิดภาวะมลพิษทางอากาศในพื้นที่ แต่ถ้ามลพิษทางอากาศในพื้นที่นั้นสูงเกินกว่ากำหนด เจ้าหน้าที่จะต้องรับโทษด้วยเช่นกัน

ดังนั้น จึงมีบางเคสที่เจ้าหน้าที่คิด “กลโกง” เพื่อหลอกค่ามลพิษทางอากาศ ซึ่งถ้าจีนจับได้ เจ้าหน้าที่จะโดนลงดาบทันที อย่างเช่น คดีการจับกุมเจ้าหน้าที่สถานีตรวจเช็กสภาพอากาศในเขตฉางอัน ทางตอนเหนือของเมืองซีอาน มณฑลส่านซี ที่ปลอมแปลงตัวเลขมลพิษทางอากาศ

– ในระบบการแจ้งเตือนปัญหาหมอกควันของจีนในระบบ 4 ระดับ (ระบบแจ้งเตือน 4 ระดับ ได้แก่ สีแดง ระดับสูงสุด อากาศแย่ขั้นวิกฤต AQI >450, สีส้ม AQI > 400, สีเหลือง AQI > 300, สีน้ำเงิน AQI > 200) โดยระบุเอาไว้ว่า หากแจ้งเตือนในระดับสีส้ม (รองสูงสุด AQI > 400) การปิ้งย่าง ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ห้าม แต่โดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโลกออนไลน์ของจีนเหมือนกันนะว่าทางการคิดอะไรอยู่ ปิ้งย่างมันมีควันก็จริง แต่มันก็คงไม่แย่ไปมากกว่าเดิมมากนัก ทำไมไม่คิดมาตรการที่สามารถไปแก้ที่ต้นเหตุจริงๆ หรือจะเป็นวิธีเฉพาะหน้าวิธีอื่นก็ได้ที่มันพอจะดีกว่าการห้ามปิ้งย่าง

– เมื่อเริ่มมีปัญหาหมอกควันเกิดขึ้น ทางจีนจะสั่งปิดโรงงานอุตสาหกรรมในเมืองที่มีปัญหาหมอกควันเป็นการชั่วคราว แต่ก็ไม่ใช่ว่าปิดหมด เพราะในบางอุตสาหกรรมก็ยังจำเป็นในการผลิตสินค้า-ผลผลิตต่างๆ

– ทางการจีนยังมีการสั่งปิดเหมืองถ่านหินกว่า 1,000 แห่ง ตั้งแต่ในปี 2016 โดยส่วนใหญ่จะเป็นเหมืองขนาดเล็กและเหมืองที่เปิดมานาน ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่ค่อยๆ ลดการใช้ถ่านหินของจีนลง

.

บางคนอาจสงสัยว่า ทำไมจีนไม่ใช้พลังงานถ่านหินสะอาดแบบที่มีการรณรงค์ในเมืองไทย ความเป็นจริงก็คือ จีนเองก็มีการเปิดโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินสะอาดอยู่หลายแห่ง แต่กำลังการผลิตก็ยังไม่เพียงพอ แม้จีนจะเคยพยายามสั่งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินแบบเก่าหลายแห่งทั่วประเทศ แต่สุดท้ายก็ยังคงมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดเล็กขึ้นมาใหม่ในหลายเมือง เพราะมิเช่นนั้น พลังงานไฟฟ้าก็ไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ (โรงไฟฟ้าถ่านหินแบบเก่าสามารถทำได้ง่ายกว่าแบบอื่น)

.

อีกประเด็นคือ พลังงานถ่านหินสะอาดก็ยังคงเป็นที่กังขาในจีน ในหมู่นักวิชาการ ตลอดจนนักสิ่งแวดล้อมทั้งหลายว่า มีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่? สะอาดจริงหรือ?

.

– จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการทำฝนเทียมมากที่สุด โดยมีการนำฝนเทียมมาแก้ปัญหาภัยแล้งในประเทศ และสำหรับการแก้ปัญหาหมอกควัน-มลพิษทางอากาศ จีนก็เคยนำมาใช้เพื่อเคลียร์ท้องฟ้าให้ใส และล้างหมอกควันออกไป อย่างเช่นในช่วงก่อนที่โอลิมปิกเกมส์ 2008 ณ กรุงปักกิ่งจะเริ่มขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าจะแก้ไขได้ในทันที เพราะต้องรอสภาวะที่เหมาะสมในการทำฝนเทียม และแม้จะมีความชื้นสูง แต่แทบไม่มีลมเลย ก็ไม่สามารถทำได้

.

– เวลาที่มีการแจ้งเตือนปัญหาหมอกควัน ตั้งแต่ระดับสีเหลืองเป็นต้นไป (AQI > 300) ทางการจีนมักจะนำนโยบายเลขตัวสุดท้ายของทะเบียนรถ เลขคู่-เลขคี่ มาใช้ เพื่อจำกัดปริมาณรถให้ลดลงครึ่งหนึ่ง เพื่อที่จะได้ไม่ปล่อยให้ควันเพิ่มขึ้นไปมากกว่าเดิม

.

– สั่งหยุดการทำงานในเขตก่อสร้างต่างๆ โดยเฉพาะในเขตก่อสร้างที่ไม่ได้รับมาตรการในการควบคุมปริมาณฝุ่น

.

– ห้ามจุดประทัด พลุ ในช่วงที่เริ่มมีปัญหาควันพิษ และ พื้นที่เสี่ยง

.

– ในกรุงปักกิ่ง ซีอาน และเมืองที่ประสบปัญหา ต่างงัดมาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามาใช้ เช่น ปืนใหญ่สู้หมอกควัน เพื่อพ่นน้ำหรือสารเคมีเหลว เพื่อให้จับฝุ่นละอองในอากาศและตกลงมาบนพื้น นอกจากพ่นโดยใช้ปืนใหญ่แบบนี้แล้ว ยังใช้โดรนอีกด้วย

เมื่อปี 2017 ทางปักกิ่งตั้งเป้าว่า จะควบคุมค่าเฉลี่ย PM2.5 ให้ไม่เกิน 60 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งปี2016 มีค่าpm2.5เฉลี่ยทั้งปี อยู่ที่ประมาณ 73 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร แล้วตอนนี้ก็เป็นไปตามเป้า เมื่อปี2019 ค่าPMเฉลี่ยทั้งปีในปักกิ่งอยู่ที่ 42 ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่จีนเจอวิกฤติอากาศหนักสุดเมื่อ2013 หรือราว6ปีก่อนหน้า แต่ก็ยังไม่ใช่ว่าสำเร็จ100%นะ จีนก็ยังเจอปัญหาควันพิษ-อากาศแย่ในปักกิ่งหรือพื้นที่อื่นอยู่ ก็ต้องแก้ไขกันต่อไปครับ

#อ้ายจง #เล่าเรื่องเมืองจีน #ปัญหามลพิษทางอากาศ #ปักกิ่ง

ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
แฟนเพจอ้ายจง

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]