เปิดตลาดเอเชียกลาง ไทย-คาซัคสถาน ผ่านกว่างซี

ไฮไลท์

  • กลุ่มประเทศในแถบเอเชียกลางเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะคาซัคสถาน ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านการค้ากับไทยมากที่สุดในเอเชียกลาง และการพัฒนาความร่วมมือด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรที่ไทยมีความได้เปรียบ หรือใช้คาซัคสถานเป็น hub ในการกระจายสินค้าไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค หรือกระจายไปยังประเทศในยุโรปตะวันออกได้อีกด้วย
  • เมื่อไม่นานมานี้ เขตปกครองตนเองกว่างซีได้เปิดให้บริการเที่ยวขบวนรถไฟขนส่งเครื่องจักรขนาดใหญ่เที่ยวปฐมฤกษ์ ไปยังเอเชียกลาง บรรจุทาวเวอร์เครน จำนวน 11 ตัวในตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต จำนวน 49 ตู้ ออกเดินทางจากนครหนานหนิง – นครซีอาน – ด่านอาลาซานโข่ว (ซินเจียง) – กรุงนูร์-ซุลตัน (คาซัคสถาน) รวมระยะทาง 5,031 กิโลเมตร ใช้เวลาขนส่งเพียง 13 วัน
  • รถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรปเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทยที่ต้องการเปิดตลาดเอเชียกลางเช่นกัน โดยสินค้าไทยสามารถขนส่งทางเรือไปที่ “ท่าเรือชินโจว” ในอ่าวเป่ยปู้กว่างซี (คนไทยรู้จักชื่อ อ่าวตังเกี๋ย) เพื่อใช้โมเดลขนส่ง “เรือ+ราง” แบบไร้รอยต่อ หรือใช้การขนส่งทางบกด้วยรถบรรทุกไปขึ้นรถไฟที่ด่านสถานีด่งดัง (เวียดนาม) – ด่านรถไฟผิงเสียง (กว่างซี) ที่เชื่อมกับเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรปได้เช่นกัน

 

เมื่อไม่นานมานี้ เขตปกครองตนเองกว่างซีได้เปิดให้บริการเที่ยวขบวนรถไฟขนส่งเครื่องจักรขนาดใหญ่เที่ยวปฐมฤกษ์  ไปยังเอเชียกลาง โดยมีทาวเวอร์เครน จำนวน 11 ตัว บรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต จำนวน 49 ตู้ ออกเดินทางจากนครหนานหนิง – นครซีอาน – ด่านอาลาซานโข่ว (ซินเจียง) – กรุงนูร์-ซุลตัน (ชื่อเดิม คือ อัสตานา เมืองหลวงของประเทศคาซัคสถาน) รวมระยะทาง 5,031 กิโลเมตร ใช้เวลาขนส่งเพียง 13 วัน

กลุ่มประเทศในแถบเอเชียกลางที่แตกตัวออกมาจากอดีตสหภาพโซเวียต ไม่ว่าจะเป็นคาซัคสถาน อุซเบกิสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน และเติร์กเมนิสถาน เป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะคาซัคสถาน ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านการค้ากับไทยมากที่สุดในเอเชียกลาง และการพัฒนาความร่วมมือด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรที่ไทยมีความได้เปรียบ หรือใช้คาซัคสถานเป็น hub ในการกระจายสินค้าไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค หรือกระจายไปยังประเทศในยุโรปตะวันออกได้อีกด้วย

คาซัคสถานเป็นประเทศขนาดใหญ่อันดับ 9 ของโลก อยู่กลางทวีปเอเชีย มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียกลาง แต่การที่คาซัคสถานเป็นประเทศ landlock (ไม่มีทางออกทะเล) ทำให้ในอดีต การขนส่งโลจิสติกส์เป็นอุปสรรคสำคัญในการค้าขายระหว่างไทย(อาเซียน)กับเอเชียกลาง คือ ถ้าไม่ใช้เครื่องบินในการขนส่ง ซึ่งค่าขนส่งแพง ก็ต้องใช้เรืออ้อมครึ่งโลกไปขึ้นฝั่งที่ยุโรปเหนือ ซึ่งต้องใช้เวลานานแรมเดือน

การพัฒนาโครงการเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป (China-Europe Express Railway) ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์สายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiatives – BRI) ที่รัฐบาลจีนเป็นตัวตั้งตัวตี ช่วยอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ส่งเสริมการค้าการลงทุน และนำความเจริญเข้าไปให้กับประเทศที่อยู่ตามแนวเส้นทางรถไฟ

ตามรายงาน เส้นทางรถไฟดังกล่าวช่วยดันให้ตัวเลขการค้าระหว่างจีนกับประเทศในเอเชียกลางเติบโตพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ในมุมมองของไทย(อาเซียน) เส้นทางรถไฟก็เป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทยที่ต้องการจะเปิดตลาดเอเชียกลางเช่นกัน

โดยสามารถขนส่งสินค้าไทยทางเรือไปที่ “ท่าเรือชินโจว” ในอ่าวเป่ยปู้กว่างซี (คนไทยรู้จักในชื่อ อ่าวตังเกี๋ย) เพื่อใช้โมเดลขนส่ง “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือชินโจวได้โดยตรง ช่วยลดเวลาการขนส่ง ลดระเบียบขั้นตอนด้านเอกสารและการดำเนินพิธีการศุลกากรเป็นอย่างมาก

ปัจจุบัน การเดินเรือระหว่างท่าเรือชินโจวกับประเทศไทย (ท่าเรือแหลมฉบัง) มีผู้ให้บริการหลายราย อาทิ บริษัท SITC บริษัท PIL บริษัท EMC บริษัท Wanhai Lines บริษัท YangMing Lines และบริษัท Sealand MAERSK Asia โดยแต่ละเส้นทางใช้เวลาไม่เท่ากัน โดยเฉลี่ยระหว่าง 4-7 วัน หรือใช้การขนส่งทางบกด้วยรถบรรทุกไปขึ้นรถไฟที่ด่านสถานีด่งดัง (เวียดนาม) – ด่านรถไฟผิงเสียง (กว่างซี) เชื่อมสู่เส้นทางรถไฟจีน-ยุโรปได้เช่นกัน

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์
www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 15 มีนาคม 2564
เว็บไซต์
www.gx.xinhuanet.com (中新社广西) วันที่ 15 มีนาคม 2564

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]