Science Technology Innovation Weekly No.23/2565

1. จีนเริ่มสร้าง ‘ท้องฟ้าจำลอง’ บนพื้นที่สูงสุดในโลกในนครลาซา

13 มิ.ย. 65 – เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2565 มีการจัดพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างท้องฟ้าจำลองที่สูงที่สุดในโลก ณ นครลาซา (Lhasa) เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองทิเบต ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ตั้งอยู่บนพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 3,650 เมตร มีอากาศที่บริสุทธิิ์ และท้องฟ้าโปร่งใส เหมาะสำหรับการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ เมื่อสร้างเสร็จ จะมีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 11,571 ตารางเมตร ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ออปติคัลแบบหักเหแสง (Refracting Telescope) ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีรูรับแสงขนาด 1 เมตร พัฒนาโดยหลายหน่วยงาน อาทิ หอดูดาวดาราศาสตร์แห่งชาติจีน สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน สถาบันทัศนศาสตร์ กลศาสตร์ขั้นสูงและฟิสิกส์แห่งฉางชุน หอดูดาวภูเขาสีม่วง บริษัทฟู๋เจี้ยนฟู๋กวงจำกัด และพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติทิเบต สถาปัตยกรรมของท้องฟ้าจำลองนี้ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากรูปทรงอุกกาบาต มีกำหนดเปิดเข้าชมในปี พ.ศ. 2567

2. จีนขยายสถานีฐาน 5G เพิ่ม 6 แสนแห่งในปีนี้

13 มิ.ย. 65 – กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีนประกาศแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพิ่มสถานีฐาน 5G อีก 600,000 แห่งในปีนี้ เพื่อสร้างเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมอย่างเต็มรูปแบบในเขตเมืองและชนบท ซึ่งในขณะนี้บรรลุเป้าหมายไปแล้ว 1 ใน 3 จากข้อมูลปลายเดือนเมษายนปีนี้ระบุว่า จีนได้สร้างเครือข่าย 5G ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีการตั้งสถานีฐาน 5G ทั้งหมด 1,615,000 สถานี คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 60% ของสถานีฐาน 5G ของโลก และมีผู้ใช้สูงถึง 450 ล้านคน สัดส่วนเครือข่าย 5G คิดเป็น 70% ของผู้ใช้ 5G ทั่วโลก โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีนกล่าวว่า เครือข่าย 5G ของจีนในปัจจุบัน ได้ครอบคลุมทุกเมืองในมณฑลและเขตปกครองตนเอง ซึ่งรวมถึงระดับอำเภอเมืองด้วย ทั้งนี้ จีนมีแผนจะเพิ่มการครอบคลุมเครือข่าย 5G ใน สวนอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรม และเพิ่มเครือข่ายในระดับอำเภอและตำบลต่อไป

3. เบื้องหลังการวิเคราะห์หินดวงจันทร์ของภารกิจฉางเอ๋อ 5

14 มิ.ย. 65 – นายหลี่ เซียนหัว ผู้เชี่ยวชาญทางด้านธรณีเคมีไอโซโทปและนักวิจัยของสถาบันธรณีวิทยาจีนและผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการSecondary Ion Mass Spectrometry สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน เป็นหัวหน้าทีมนักวิจัยในการวิเคราะห์ ‘ตัวอย่างดวงจันทร์’ ที่เก็บโดยยานสำรวจ “ฉางเอ๋อ 5” เปิดเผยว่า ตัวอย่างดังกล่าวมีอายุประมาณ 2 พันล้านปี เป็นหินบะซอลต์ชนิดใหม่ที่มีอายุน้อยที่สุดเท่าที่เคยพบบนดวงจันทร์ อนึ่ง นายหลี่ เซียนหัว ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญในการอธิบายทฤษฎีต่าง ๆ ทางธรณีวิทยาที่สำคัญต่าง ๆ ในยุค Archaean วิวัฒนาการช่วงธรณีกาลของยุค Neogene และเป็นผู้ชี้แจงมหาทวีป Rodinia เป็นมหาทวีป Neoproterozoic ที่รวมตัวกัน 1.1–0.9 ล้านปีก่อน เป็นต้น

4. สถานีไฟฟ้าจัดเก็บพลังงานอัดอากาศบ่อเกลือแห่งแรกของจีน

16 มิ.ย. 65 – จีนประกาศส่งเสริมการกักเก็บพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่ และเปิดตัวโครงการกักเก็บพลังงานอัดอากาศบ่อเกลือจินถาน ซึ่งเป็นสถานีกักเก็บพลังงานไฟฟ้าอัดอากาศแบบไม่ใช้เชื้อเพลิงแห่งแรกของโลก ณ เมืองฉางโจว มณฑลเจียงซู ทางตะวันออกของจีน ที่ได้รับการพัฒนาโดยบริษัท China National Salt Industry บริษัท China Huaneng Group และ ม.ชิงหัว สถานีไฟฟ้าแห่งนี้ใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อบีบอัดอากาศเข้าสู่ถ้ำเกลือใต้ดินซึ่งอยู่ใต้ดินลึกราว 1,000 เมตร ก่อนจะปล่อยอากาศอัดออกมาหมุนกังหัน สามารถผลิตไฟฟ้าได้เมื่อยามจำเป็น ถ้ำเกลือดังกล่าวก่อตัวหลังการทำเหมืองชั้นเกลือใต้ดิน ภายในถ้ำประกอบด้วยห้องจัดเก็บพลังงานขนาดเท่าสระว่ายน้ำ 105 สระ และมีความจุจัดเก็บพลังงานไฟฟ้าที่ 300,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อรอบ เท่ากับการใช้ไฟฟ้ารายวันของประชาชนราว 60,000 คน ซึ่งสามารถช่วยให้จีนบรรลุการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ และความเป็นกลางทางคาร์บอนได้

5. พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติจีน

17 มิ.ย. 65 – จีนจัดงานเสวนาภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระบุว่าในช่วง10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 จีนมีพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำนวน 408 แห่ง โดยมีการเปิดตัวโครงการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเคลื่อนที่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ดำเนินจัดกิจกรรมคาราวานวิทยาศาสตร์มากกว่า 1,251 กิจกรรม และจัดตั้งพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นในชนบทมากกว่า 1,112 แห่ง ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้บริการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านสื่อดิจิทัลมากกว่า 15 ล้านคน และจากผลสำรวจที่เผยแพร่โดยสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2563 สัดส่วนความเข้าใจวิทยาศาสตร์ของชาวจีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.56% เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2558 ทั้งนี้ในที่ประชุมระบุว่า ควรเร่งเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนและเปิดกว้าง ทำให้วิทยาศาสตร์เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย และส่งเสริมการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์ของประชาชนและต่อยอดการพัฒนาสังคมมนุษย์

  • http://digitalpaper.stdaily.com/http_www.kjrb.com/kjrb/html/2022-06/13/content_536905.htm?div=-1
  • https://news.cctv.com/2022/06/12/ARTIhZ8d6zQLvHtM1b5KaQkK220612.shtml?spm=C94212.PGZDd8bkBJCZ.E850fz1ryIUd.14
  • https://www.zghy.org.cn/item/557391468256264192
  • https://news.cctv.com/2022/06/16/ARTIB9Fqv7kCf3IDn9WPqMZ4220616.shtml?spm=C94212.PGZDd8bkBJCZ.E850fz1ryIUd.5
  • https://tv.cctv.com/2022/06/17/VIDENe7hEbVUDWFgzqfD9VnR220617.shtml?spm=C94212.PGZDd8bkBJCZ.EeCXS9523EQ2.4

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]