ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของไทยและจีน | Thailand STI and Higher Education Day 2021

ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของไทยและจีน
ดร.พสุภา ชินวรโสภาค
อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง


1 กรกฎาคม ค.ศ. 1975

ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) โดยมีนายกรัฐมนตรี คึกฤทธิ์ ปราโมช และนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล ลงนามในแถลงการณ์ร่วม

31 มีนาคม ค.ศ. 1978

3 ปีต่อมา เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1978 (พ.ศ. 2521) ไทยและจีนมีความร่วมมือทางวิชาการและวิทยาศาสตร์ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (คกร. ไทย- จีน) เป็นกรอบความร่วมมือแรก นับตั้งแต่ไทยและจีนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ตลอดระยะเวลา 44 ปีที่ผ่านมาภายใต้กรอบความร่วมมือ คกร. ไทย-จีน มีการประชุมทั้ง 2 ฝ่าย 22 ครั้ง คณะกรรมการร่วมจีน-ไทยแห่งความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคนิค ได้อนุมัติโครงการเยี่ยมชมศึกษาดูงานและโครงการทวิภาคีหลายร้อยโครงการในด้านการเกษตร เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม พลังงานและสาธารณสุข ระหว่างสองประเทศ เป็นจำนวนมาก

29 กรกฎาคม ค.ศ. 2005

ความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน เริ่มเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548)

11 ตุลาคม ค.ศ. 2013

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) มีความร่วมมือระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย ใน 4 ด้าน คือ

  1. การจัดตั้งศูนย์ร่วมวิจัยรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน
  2. การร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มแบ่งปันข้อมูลดาวเทียมการสำรวจระยะไกลและแพลตฟอร์มบริการ
  3. ความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยี
  4. โครงการนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์

9 ธันวาคม ค.ศ. 2016

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย ยังมีความร่วมมือกับ Chinese Academy of Sciences (CAS) ในเรื่องการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการริเริ่มระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกหรือ EECi และโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางผ่านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เมื่อ วันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559)

5 พฤศจิกายน ค.ศ. 2019

เมื่อกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย ได้ปรับโครงสร้างเป็นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมระหว่างกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562)

นอกจากความร่วมมือในระดับรัฐบาลและระดับกระทรวงแล้ว จีนและไทยยังมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เช่น

  • ปี ค.ศ. 2015 จัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีไทย-จีน ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
  • ปี ค.ศ. 2017 Chinese Academy of Sciences Innovation Cooperation Center Bangkok (CAS-ICCB) เปิดทำการในกรุงเทพมหานคร
  • ปี ค.ศ. 2019 บริษัท หัวเว่ย ประเทศไทย จำกัด ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) จัดตั้ง Huawei Academy ในประเทศไทย เพื่อฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลและบุคลากร ICT เพื่อทำงานในอาเซียน
  • ปี ค.ศ. 2020 หน่วยงานของจีน 2 หน่วยงาน คือ China-ASEAN Technology Transfer Center (CATTC) และ CAS-ICCB ได้เริ่มต้น China-Thailand ASEAN Innovation Hub ในกรุงเทพมหานคร

ไทยและจีนได้ดำเนินการร่วมกันในการส่งเสริมความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ในรูปแบบ

  • การวิจัยและพัฒนาร่วมกัน
  • การแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิจัย
  • การแลกเปลี่ยนนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และประสบการณ์การเป็นผู้ประกอบการ
  • ประชุมร่วมกัน ประชุมเชิงปฏิบัติการ สัมมนา อบรมและศึกษาดูงาน
  • การถ่ายทอดเทคโนโลยี

นอกจากนี้ ในด้านการศึกษาของทั้งสองประเทศ มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาในหลายระดับและหลายสาขาผ่านมหาวิทยาลัยและโรงเรียนที่เป็นพันธมิตรกัน โดยล่าสุด มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีนและสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้มีความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างกัน

5 พฤศจิกายน ค.ศ. 2019

เมื่อพิจารณาแผนพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของไทย และแผนพัมนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14 ของจีน ไทยและจีนสามารถร่วมมือกันในเรื่อง

  1. AI
  2. Frontier research เช่น Quantum, Deep Space
  3. นวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ
  4. Green Technology
  5. การแพทย์
  6. อุตสาหกรรมใหม่ เช่น รถยนต์ EV
  7. เมืองอัจฉริยะ
  8. การแก้ปัญหาความยากจน

รวมถึงความร่วมมือที่จีนมีความเชี่ยวชาญและไทยมีความต้องการ เช่น ระบบราง Startup

ที่มา วารสาร “วิทย์ไมตรีไทย-จีน” ฉบับเดือนมิถุนายน 2564
Thailand STI and Higher Education Day 2021
วันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการอุดมศึกษาไทย ณ กรุงปักกิ่ง พ.ศ. 2564

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]