• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • “ประเทศไทย” เป็นจุดหมายการ “ก้าวออกไปลงทุน” ของบริษัทกว่างซี พร้อมโอกาสใหม่กับการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “ดิจิทัลไทยแลนด์”

“ประเทศไทย” เป็นจุดหมายการ “ก้าวออกไปลงทุน” ของบริษัทกว่างซี พร้อมโอกาสใหม่กับการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “ดิจิทัลไทยแลนด์”

ไฮไลท์

  • รัฐบาลกว่างซีกำลังสนับสนุนวิสาหกิจ “ก้าวออกไป” ทั้งในลักษณะของการลงทุนโดยตรงและการรับเหมาโครงการก่อสร้างในต่างประเทศ โดยมองว่าการ “ก้าวออกไป” ของภาคธุรกิจเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยสร้างนำผลิตภัณฑ์ บริการ เทคโนโลยี แบรนด์ และมาตรฐานของจีนไปสู่ตลาดต่างประเทศ และหล่อหลอมเข้าสู่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานของโลก
  • ในภาพรวม วิสาหกิจกว่างซีมี “อาเซียน” เป็นจุดหมายการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะ ประเทศไทย เป็นจุดหมายแรกของการออกไปลงทุนด้านการรับเหมาโครงการก่อสร้างในต่างประเทศของวิสาหกิจกว่างซี ปี 2563 ครองสัดส่วน 33.9% ของการออกไปรับเหมาโครงการก่อสร้างในต่างประเทศ ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ อังโกลา อินโดนีเซีย เมียนมา
  • รัฐบาลกว่างซีกำลังมุ่งเน้นสนับสนุนการพัฒนาโครงการลงทุนด้านดิจิทัลของวิสาหกิจกว่างซีในต่างประเทศด้วย ไม่ว่าจะเป็นโครงการด้านการบริการเทคโนโลยีดิจิทัลในต่างประเทศ การพัฒนาแพลตฟอร์มเศรษฐกิจดิจิทัลในต่างประเทศ และการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในต่างประเทศ รวมถึงการบ่มเพาะวิสาหกิจที่มีศักยภาพเพื่อ “ก้าวออกไป” ลงทุนในต่างประเทศ
  • การสนับสนุนการพัฒนาโครงการลงทุนด้านดิจิทัลของวิสาหกิจกว่างซีในต่างประเทศมีความสอดคล้องกับนโยบายการปฏิรูปประเทศไทยสู่ “ดิจิทัลไทยแลนด์” ที่มุ่งสร้างสรรค์และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม ข้อมูล ทุนมนุษย์ และทรัพยากรอื่นเพื่อเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปสู่ความมั่นคงที่ยั่งยืน โดยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไทย (รัฐและเอกชน) สามารถพัฒนาความร่วมมือและชักชวนให้วิสาหกิจในสาขาดิจิทัลใช้ประสบการณ์และองค์ความรู้ด้านดิจิทัลเพื่อเข้าไปลงทุนในประเทศไทยได้ ทั้งด้านรัฐบาลดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัล สังคมดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล กำลังคนดิจิทัล และความมั่นคงด้านดิจิทัล (Cyber security)

 

รัฐบาลกว่างซีสนับสนุนวิสาหกิจ “ก้าวออกไป” ทั้งในลักษณะของการลงทุนโดยตรงและการรับเหมาโครงการก่อสร้างในต่างประเทศ โดยมองว่าการ “ก้าวออกไป” ของภาคธุรกิจเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยสร้างนำผลิตภัณฑ์ บริการ เทคโนโลยี แบรนด์ และมาตรฐานของจีนไปสู่ตลาดต่างประเทศ และหล่อหลอมเข้าสู่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานของโลก

ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2559-2563) เขตฯ กว่างซีจ้วงมีวิสาหกิจที่ได้ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุมัติให้ออกไปลงทุนขยายกิจการนอกจีนแผ่นดินใหญ่ (Non-Financial Corporations Sector) ราว 300 ราย ครอบคลุมในหลากหลายสาขา อาทิ การคมนาคมขนส่งและคลังสินค้า ภาคการบริการ การทำเหมืองแร่ การค้าปลีกค้าส่ง และการผลิต

ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 การออกไปลงทุนของวิสาหกิจกว่างซีมีมูลค่าการลงทุนตามสัญญารวมเกือบ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการลงนามสัญญาโครงการรับเหมาก่อสร้างใหม่ในต่างประเทศมากกว่า 200 ฉบับ มูลค่าตามสัญญามากกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีผลประกอบการมากกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โครงการสำคัญ อาทิ

  • โครงการรับเหมาก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาล OMO2 ของ Guangxi Construction Group (广西建工集团) ในประเทศเอธิโอเปีย โดยโรงงานดังกล่าวมีกำลังการผลิต (หีบอ้อย) ได้วันละ 12,000 ตัน เป็นสายการผลิตน้ำตาลที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีกระบวนการผลิตที่ทันสมัยที่สุด และมีเทคโนโลยีการทำงานแบบอัตโนมัติที่ล้ำสมัยที่สุดในประเทศเอธิโอเปีย
  • โครงการผลิตโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ China Energy Engineering Corporation, Guangxi Branch (中国能建广西局) ที่ประเทศอังโกลา เครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า 6 เมกะวัตต์ เป็นโครงการที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอังโกลา
  • โรงงานผลิตรถยนต์ของ SAIC GM Wuling Automobile หรือ SGMW (上汽通用五菱) ในประเทศอินโดนีเซีย บนเนื้อที่ 6 แสน ตร.ม. มีกำลังการผลิตรถยนต์ได้ปีละ 1.2 แสนคัน โดยโรงงานแห่งนี้จะเป็นฐานการส่งออกรถยนต์ของ SGMW ไปยังประเทศสมาชิกอาเซียน

ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่ปกติจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หมวดการลงทุนในต่างประเทศ ปี 2563 เขตฯ กว่างซีจ้วงมีวิสาหกิจที่ได้ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุมัติให้ออกไปลงทุนขยายกิจการนอกจีนแผ่นดินใหญ่ (Non-Financial Corporations Sector) 46 ราย มูลค่าการลงทุนจริงในต่างประเทศ 475 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าการลงทุนตามสัญญา 1,884 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (มูลค่าการลงทุนตามสัญญาฝ่ายจีน 797 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

สาขาการลงทุน อาทิ การผลิต (สัดส่วน 46.3%) การเกษตร ป่าไม้ ประมง และปศุสัตว์ (15.8%) การบริการ (4%)  การทำเหมืองแร่ (3.1%) การคมนาคมขนส่งและคลังสินค้า (2.9%) และสาขาอื่นๆ (27.9%)

ประเทศ/ดินแดนที่เป็นจุดหมายของการออกไปลงทุน ได้แก่ ฟิลิปินส์ (สัดส่วน 36.1%) อินโดนีเซีย (24.5%) ฮ่องกง (6.6%) ออสเตรเลีย (6.2%) ไอร์แลนด์ (3.5%) และประเทศ/ดินแดนอื่นๆ (23.1%) ทั้งนี้ วิสาหกิจกว่างซีได้ออกไปลงทุนครบใน 10 ชาติสมาชิกอาเซียน ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในสาขาการผลิต และการเกษตร ป่าไม้ ประมง และปศุสัตว์

นิคมอุตสาหกรรมสำคัญของวิสาหกิจกว่างซีในต่างประเทศ ได้แก่ (1) เขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าจีน-อินโดนีเซีย โดยบริษัท Guangxi State-farm Group (广西农垦集团) ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2563 บริษัทฯ ลงทุนไปแล้วกว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างงานสร้างอาชีพให้คนท้องถิ่นได้ 3,025 ตำแหน่ง และสร้างรายได้เม็ดเงินภาษีให้กับรัฐบาลอินโดนีเซียแล้ว 141 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

และ (2) นิคมอุตสาหกรรมมาเลเซีย (กวนตัน) – จีน โดยบริษัท Guangxi Beibu Gulf International Port Group  (广西北部湾国际港务集团) ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2563 บริษัทฯ ลงทุนไปแล้วกว่า 195 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างงานสร้างอาชีพให้คนท้องถิ่นได้ 1,559 ตำแหน่ง และสร้างรายได้เม็ดเงินภาษีให้กับรัฐบาลอินโดนีเซียแล้ว 19.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

หมวดการรับเหมาโครงการก่อสร้างในต่างประเทศ  ปี 2563 วิสาหกิจกว่างซีออกไปรับเหมาโครงการก่อสร้างใน 25 ประเทศ/ดินแดนทั่วโลก ช่วยขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่า 130 ล้านหยวน (ลดลง 88.2% YoY) มีการลงนามสัญญาโครงการรับเหมาก่อสร้างฉบับใหม่ในต่างประเทศ 27 ฉบับ มูลค่าตามสัญญาฉบับใหม่ 398 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีผลประกอบการมากกว่า 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลง 60.4% YoY)

สาขาที่ออกไปรับเหมาก่อสร้าง อาทิ โรงงานอุตสาหกรรม (สัดส่วน 36.5%) โรงผลิตกระแสไฟฟ้า (19.4%) การก่อสร้างทั่วไป (19.3%)  การชลประทาน (12.4%) และโครงการอื่นๆ (12.4%)

ประเทศ/ดินแดนที่เป็นจุดหมายของการออกไปลงทุน ได้แก่ ประเทศไทย (สัดส่วน 33.9%) ฟิลิปปินส์ (10.2%) อังโกลา (9.3%) อินโดนีเซีย (8.3%) เมียนมา (6%) และประเทศ/ดินแดนอื่นๆ (32.3%) ทั้งนี้ วิสาหกิจกว่างซีได้ออกไปรับเหมาก่อสร้างในอาเซียน คิดเป็นมูลค่าผลประกอบการ 193 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ หากจำแนกจากต้นสังกัดของวิสาหกิจ พบว่า การออกไปลงทุนในต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นวิสาหกิจของนครหนานหนิง (สัดส่วน 56%) วิสาหกิจที่ขึ้นตรงกับรัฐบาลมณฑล (30.4%) วิสาหกิจจากเมืองเป๋ยไห่ (4.9%) และวิสาหกิจจากเมืองอื่นๆ (8.7%)

เพื่อให้การ “ก้าวออกไป” ของนักลงทุนกว่างซีเติบโตอย่างมั่นคงและมีคุณภาพ กรมพาณิชย์กว่างซีได้พัฒนาและปฏิรูประบบงานให้บริการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งการให้คำแนะนำแก่วิสาหกิจและการให้บริการขึ้นทะเบียนบริษัทที่ประสงค์จะออกไปลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการแบบครบวงจรผ่านเว็บไซต์ investgx.com (桂企出海+一站式综合服务平台) เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการแก่ภาคธุรกิจที่จะก้าวออกไปลงทุนในต่างประเทศ

รัฐบาลกว่างซียังมีนโยบายการให้เงินสนับสนุน/เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายให้แก่วิสาหกิจกว่างซีที่ “ก้าวออกไป” เพื่อการลงทุนในต่างประเทศ การรับเหมาโครงการก่อสร้างในต่างประเทศ การส่งแรงงานไปต่างประเทศ และการส่งมอบความช่วยเหลือไปยังต่างประเทศ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการรับมือสถานการณ์โควิด-19 ของวิสาหกิจที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในต่างประเทศด้วย

ท้ายสุด รัฐบาลกว่างซีกำลังมุ่งเน้นสนับสนุนการพัฒนาโครงการลงทุนด้านดิจิทัลของวิสาหกิจกว่างซีในต่างประเทศด้วย ไม่ว่าจะเป็นโครงการด้านการบริการเทคโนโลยีดิจิทัลในต่างประเทศ การพัฒนาแพลตฟอร์มเศรษฐกิจดิจิทัลในต่างประเทศ และการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในต่างประเทศ รวมถึงการบ่มเพาะวิสาหกิจที่มีศักยภาพเพื่อ “ก้าวออกไป” ลงทุนในต่างประเทศ

บีไอซี เห็นว่า การสนับสนุนการพัฒนาโครงการลงทุนด้านดิจิทัลของวิสาหกิจกว่างซีในต่างประเทศมีความสอดคล้องกับนโยบายการปฏิรูปประเทศไทยสู่  “ดิจิทัลไทยแลนด์” ที่มุ่งสร้างสรรค์และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม ข้อมูล ทุนมนุษย์ และทรัพยากรอื่นเพื่อเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปสู่ความมั่นคงที่ยั่งยืน โดยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไทย (รัฐและเอกชน) สามารถพัฒนาความร่วมมือและชักชวนให้วิสาหกิจในสาขาดิจิทัลใช้ประสบการณ์และองค์ความรู้ด้านดิจิทัลเพื่อเข้าไปลงทุนในประเทศไทยได้ ทั้งด้านรัฐบาลดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัล สังคมดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล กำลังคนดิจิทัล และความมั่นคงด้านดิจิทัล (Cyber security)

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中国新闻网 广西) วันที่ 30 สิงหาคม 2564
เว็บไซต์ http://swt.gxzf.gov.cn (广西商务厅)

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]