จีนเผยความสำเร็จ “ILSTC” ครึ่งปีแรก 64 ขนส่งเพิ่มขึ้น 112%

 

เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจัดงานแถลงข่าวเกี่ยวกับการพัฒนาเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก (ILSTC/西部陆海新通道) ณ กรุงปักกิ่ง

คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ เปิดเผยว่า เส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ของภาคตะวันตกจีนได้รับการปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2564-2568) ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 การขนส่งในรูปแบบเรือและรางผ่านเส้นทาง ILSTC มีจำนวนทั้งหมด 2,705 ขบวน/ลำ เพิ่มขึ้นร้อยละ 112 การขนส่งผ่านเส้นทางรถไฟข้ามพรมแดนระหว่างจีนและเวียดนาม (ผ่านท่าเรือผิงเซียง) ทั้งหมด 886 ขบวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.2 ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้มีปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 2.61 ล้าน TEU เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.3 ท่าเรือหยางผู่ของมณฑลไห่หนานมีปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 565,000 TEU เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.7 เมื่อเทียบปีต่อปี เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 การขนส่งสินค้าระบบเรือและรางแบบไร้รอยต่อที่นครฉงชิ่งมีจำนวน 290 ครั้ง คิดเป็นมูลค่า 30.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจุบันโครงการก่อสร้างและปรับปรุงเส้นทางภายใต้แผน อาทิ เส้นทางรถไฟระหว่างนครกุ้ยหยาง-นครหนานหนิง เส้นทางระหว่างนครฉงชิ่ง-เมืองจุนอี้ ฯลฯ กำลังดำเนินไปอย่างราบรื่น และมีโครงการก่อสร้างสถานีถวนเจี๋ยชุน นครฉงชิ่ง ระยะที่ 2  (สถานีขนส่งสินค้าทางรางสำหรับรองรับตู้คอนเทนเนอร์) เพื่อรองรับปริมาณการขนส่งที่มีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของท่าเรือ ปัจจุบัน โครงการขยายช่องทางฝั่งตะวันออกของท่าเรือซินโจว ระยะที่ 1 และ 2 ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ และกำลังเริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือรองรับคอนเทนเนอร์ขนาด 200,000 ตัน บริเวณท่าเรือซินโจว

นอกจากนี้ ยังคงมีการลดอัตราค่าบริการสำหรับเส้นทางอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ผู้ประกอบการที่ใช้เส้นทางดังกล่าวได้รับส่วนลดค่าระวางสินค้ารวมกว่า 100 ล้านหยวน

เส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างนคร/มณฑลทางภาคตะวันตกของจีนและสิงคโปร์ โดยมีนครฉงชิ่งเป็นศูนย์กลาง เส้นทางดังกล่าวผ่านเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มณฑลกุ้ยโจว มณฑลกานซู และมณฑลอื่น ๆ ในภาคตะวันตกของจีน เป็นทางรถไฟ ทางเรือและถนน เส้นทางนี้ใช้เวลาในการขนส่งน้อยกว่าการขนส่งทางเรือผ่านภาคตะวันออกของจีน

คณะกรรมการฯ ตั้งนโยบายที่จะพัฒนาเส้นทางดังกล่าวให้เป็นเส้นทางคมนาคมโลจิสติกส์ที่มีคุณภาพมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย และการบริการแบบไร้รอยต่อภายในปี 2568 สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งสินค้าไปยังภาคตะวันตกของจีน หรือนำเข้าสินค้าจากจีนไปประเทศไทย อาจพิจารณาเส้นทางดังกล่าว โดยขนส่งผ่านระบบเรือ+รางแบบไร้รอยต่อที่นครฉงชิ่ง ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่ง กว่าการขนส่งทางเรือผ่านภาคตะวันออกของจีน ทั้งนี้สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความ “ท่าเรือกว่อหยวนและท่าเรือบก Chongqing ASEAN International Logistics Park ประตูสู่เศรษฐกิจของจีนตะวันตก” ของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตูได้ที่ https://bit.ly/3z5X0Xi

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์ 中国青年报 (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564)

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1709792924264646802&wfr=spider&for=pc

เว็บไซต์ China Daily (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564)

https://enapp.chinadaily.com.cn/a/202109/03/AP61317a74a310f03332fa97ca.html

 

ภาพประกอบ : เว็บไซต์ Feepik

<a href=’https://www.freepik.com/photos/water’>Water photo created by tawatchai07 – www.freepik.com</a>

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]