ไฮไลท์

  • ระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (คนไทยรู้จักชื่อ อ่าวตังเกี๋ย) ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็นทางเลือกที่ผู้นำเข้า-ส่งออกให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด จุดเด่นโมเดลดังกล่าวช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถคำนวณเวลาที่ใช้และต้นทุนการขนส่งได้ง่าย ขั้นตอนการดำเนินพิธีการทางศุลกากรที่ลดลง ช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าได้มากขึ้น และสินค้าถึงมือผู้รับปลายทางได้ค่อนข้างรวดเร็วและตรงเวลา ช่วยให้เจ้าของสินค้าได้รับเงินค่าสินค้าเร็วขึ้นด้วย
  • ช่วง 6 เดือนแรก ปี 2564 กว่างซีได้เร่งพัฒนาระบบงานขนส่งในโมเดล “เรือ+ราง” อย่างต่อเนื่อง ทั้งการให้บริการเส้นทางเดินเรือใหม่ ซึ่งรวมถึงท่าเรือแหลมฉบังของประเทศไทยด้วย และการพัฒนาโครงข่ายการให้บริการเส้นทางรถไฟลำเลียงสินค้าใน 10 มณฑลทั่วจีน และขยายโครงข่ายการให้บริการไปยังเอเชียกลาง (ประเทศคาซัคสถาน) และยุโรป (ประเทศโปแลนด์ และเยอรมัน)
  • ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้ประโยชน์จากโมเดลดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ด้วยการขนส่งสินค้าทางเรือระหว่าง “ท่าเรือแหลมฉบัง/ท่าเรือกรุงเทพ – ท่าเรือชินโจว(กว่างซี)” เพื่อนำสินค้าไปเจาะตลาดจีนตอนใน ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูงพอสมควร หรือเป็นทางผ่านเพื่อนำสินค้าไปเปิดตลาดใหม่ในเอเชียกลางและยุโรปตะวันออก ปัจจุบัน มีสายเรือที่ให้บริการหลายราย อาทิ บริษัท SITC บริษัท PIL บริษัท EMC บริษัท Wanhai Lines บริษัท YangMing Lines และบริษัท Sealand MAERSK Asia โดยแต่ละเส้นทางใช้เวลาไม่เท่ากัน เฉลี่ยประมาณ 4-7 วัน

 

ระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (คนไทยรู้จักชื่อ อ่าวตังเกี๋ย) ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็นทางเลือกที่ผู้นำเข้า-ส่งออกให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากมีข้อได้เปรียบ ทั้งในด้านประสิทธิภาพงานขนส่ง ความสะดวกรวดเร็วที่ได้รับจากการใช้บริการ ตลอดจนต้นทุนเวลาและค่าใช้จ่ายที่ลดลง

ที่ผ่านมา บีไอซี ได้นำเสนอพัฒนาการของโมเดลงานขนส่ง “เรือ+ราง” ในกว่างซีอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากโมเดลดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งกุญแจดอกสำคัญที่ช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าให้ภาคธุรกิจไทยในการนำเข้า-ส่งออกสินค้ากับจีน โดยเฉพาะตลาดจีนตอนในทางภาคตะวันตก และสามารถขยายตลาดต่อไปถึงเอเชียกลาง และยุโรปได้ด้วย

คณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปเขตฯ กว่างซีจ้วง (Guangxi DRC) ระบุว่า การขนส่งทางเรือที่ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ ปัจจุบัน ท่าเรือแห่งนี้มีเส้นทางเดินเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทั้งในและต่างประเทศ รวม 54 เส้นทาง โดยช่วงครึ่งปีแรกได้เริ่มให้บริการเส้นทางเดินเรือใหม่ 2 เส้นทาง คือ หนึ่ง ท่าเรือชินโจว – ท่าเรือไฮฟอง (เวียดนาม)  – ท่าเรือแหลมฉบัง (ไทย) – ท่าเรือกวนตัน (มาเลเซีย) – ท่าเรือจาการ์ตา (อินโดนีเซีย) และ สอง ท่าเรือชินโจว – ท่าเรือฮ่องกง – ท่าเรือหนานซา (นครกว่างโจว) – ท่าเรือไฮฟอง – ท่าเรือ Nghi Son (เวียดนาม)

สำหรับช่วงครึ่งปีหลัง ปี 2564 กว่างซีมีแผนจะเพิ่มความถี่ของเที่ยวเรือขนส่งสินค้ากับประเทศสมาชิกอาเซียน และเปิดให้บริการเส้นทางเดินเรือใหม่ไปยังประเทศในเอเชียใต้ เพื่อดึงดูดให้ผู้ค้ามาใช้บริการที่ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้เพิ่มมากขึ้น

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติว่า ระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน 2564 ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี มีปริมาณขนถ่ายสินค้า 173 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 24.1% (YoY) ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดของมณฑลที่มีท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเล ซึ่งมีอยู่ 11 มณฑลทั่วประเทศจีน และปริมาณขนถ่ายตู้สินค้า 2.607 ล้าน TEUs เพิ่มขึ้น 22.3% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวอันดับ 2 ของมณฑลที่มีท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเล (รองจากมณฑลไห่หนาน)

ในส่วนของการลำเลียงสินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ “ระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า NWLSC (New Western Land and Sea Corridor/西部陆海新通道) ปัจจุบัน สามารถลำเลียงสินค้าไปยัง 36 เมืองใน 10 มณฑลทั่วประเทศจีนแล้ว โดยเส้นทางรถไฟไปยังเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน มณฑลหูหนาน และเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าทางรถไฟ 3 เส้นทางใหม่ที่เริ่มเปิดให้บริการในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา

ตามข้อมูล พบว่า ช่วง 6 เดือนแรก ปี 2564 โมเดลขนส่ง “เรือ+ราง” ที่กว่างซี มีขบวนรถไฟลำเลียงสินค้าวิ่งให้บริการแล้ว จำนวน 2,902 เที่ยว เพิ่มขึ้น 72% (YoY) หากมองเฉพาะ “ท่าเรือชินโจว” ซึ่งเป็นท่าเรือหลักในกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ มีรถไฟลำเลียงสินค้าวิ่งให้บริการ รวม 2,705 เที่ยว เพิ่มขึ้น 112% (YoY) ลำเลียงตู้สินค้า 2.69 แสน TEUs เพิ่มขึ้น 319% (YoY) โดยกว่างซีคาดหมายว่า ในปี 2564 จะมีรถไฟลำเลียงสินค้าในโมเดล  “เรือ+ราง” วิ่งให้บริการ รวม 6,000 เที่ยว

นอกจากนี้ บริษัท China Railway Nanning Group Co.,Ltd. (中国铁路南宁局集团有限公司) ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางรถไฟข้ามทวีป China-Europe Railway Express เปิดเผยว่า ระบบงานขนส่งระหว่างขบวนรถไฟขนส่งสินค้า NWLSC ได้เชื่อมกับขบวนรถไฟ China-Europe Railway Express พร้อมให้บริการแบบเที่ยวประจำแล้ว ระยะต่อไปคาดว่าจะสามารถให้บริการเดือนละ 4 เที่ยว นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของการพัฒนางานให้บริการขนส่งสินค้าทางรถไฟของกว่างซี หลังจากที่เพิ่งประสบความสำเร็จในการเปิดให้บริการขนส่งสินค้าทางรถไฟไปเอเชียกลางในเส้นทาง “นครหนานหนิง – กรุงนูร์-ซุลตัน – เมืองอัลมาตี” แบบ Direct Route มีระยะทางรวม 4,662 กิโลเมตร (ร่นระยะลงจากเดิม 369 กิโลเมตร) และใช้เวลาเพียง 11 วัน (ประหยัดเวลาลงจากเดิม 2 วัน) และมีแผนจะพัฒนาให้เป็นเส้นทางประจำ เดือนละ 1 เที่ยว

รถไฟขนส่งสินค้า NWLSC (ท่าเรือชินโจว) เชื่อม China-Europe Railway Express ไปยุโรปขบวนแรกในเส้นทาง “ท่าเรือชินโจว – นครเฉิงตู – โปแลนด์ – เยอรมัน” ได้เคลื่อนตัวออกจากสถานีรถไฟท่าเรือชินโจวตะวันออกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ตู้คอนเทนเนอร์ 50 ตู้ ซึ่งภายในบรรจุเตาไมโครเวฟ และของเล่นที่ผลิตจากมณฑลกวางตุ้ง น้ำหนักรวม 2,750 ตัน มุ่งหน้าที่ Malaszewicze ประเทศโปแลนด์ และ Duisburg ประเทศเยอรมัน

ตามรายงาน ระยะทางระหว่างเมืองชินโจว เขตฯ กว่างซีจ้วง – เมือง Duisburg ประเทศเยอรมัน ห่างกันราว 12,000 กิโลเมตร รถไฟขบวนดังกล่าวใช้เวลาการขนส่งราว 25 วัน ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับการขนส่งทางเรือจากมณฑลกวางตุ้งไปยุโรป สามารถประหยัดเวลาลงได้ 20 – 25 วัน

บีไอซี เห็นว่า จุดเด่นของการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “เรือ+ราง” คือ ผู้ใช้บริการสามารถมองภาพการขนส่งได้ทั้งวงจร ช่วยให้สามารถคำนวณเวลาที่ใช้และต้นทุนการขนส่งได้ง่าย ขั้นตอนการดำเนินพิธีการทางศุลกากรที่ลดลง ช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าได้มากขึ้น และสินค้าถึงมือผู้รับปลายทางได้ค่อนข้างรวดเร็วและตรงเวลา ช่วยให้เจ้าของสินค้าได้รับเงินค่าสินค้าเร็วขึ้นด้วย

ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้ประโยชน์จากโมเดลดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ด้วยการขนส่งสินค้าทางเรือระหว่าง “ท่าเรือแหลมฉบัง/ท่าเรือกรุงเทพ – ท่าเรือชินโจว(กว่างซี)” เพื่อนำสินค้าไปเจาะตลาดจีนตอนใน ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูงพอสมควร หรือเป็นทางผ่านเพื่อนำสินค้าไปเปิดตลาดใหม่ในเอเชียกลางและยุโรปตะวันออก ปัจจุบัน มีสายเรือที่ให้บริการหลายราย อาทิ บริษัท SITC บริษัท PIL บริษัท EMC บริษัท Wanhai Lines บริษัท YangMing Lines และบริษัท Sealand MAERSK Asia โดยแต่ละเส้นทางใช้เวลาไม่เท่ากัน เฉลี่ยประมาณ 4-7 วัน

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์
www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 2 สิงหาคม 2564 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2564
เว็บไซต์
https://xxgk.mot.gov.cn (中国交通运输部)

ที่มา : https://thaibizchina.com/