• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • “ไทย” รั้งอันดับ 2 ประเทศแหล่งนำเข้าสินค้าของกว่างซี – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

“ไทย” รั้งอันดับ 2 ประเทศแหล่งนำเข้าสินค้าของกว่างซี – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ไฮไลท์

  • ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 สถานการณ์การค้าต่างประเทศของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงยังคงรักษาระดับการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการค้าต่างประเทศของกว่างซี ทั้งในแง่ของการเข้าไปมีส่วนสำคัญในการช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่อำนวยความสะดวกต่อการค้าการลงทุน การสนับสนุนให้ภาคธุรกิจฟื้นฟูการผลิต รวมทั้งการกระตุ้นการใช้จ่ายภาคประชาชน
  • ในโครงสร้างการค้าต่างประเทศของกว่างซี พบว่า “อาเซียน” เป็นคู่ค้ารายใหญ่ของกว่างซีเป็นปีที่ 21 ติดต่อกัน โดยประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “เวียดนาม” ยังคงครองตำแหน่งคู่ค้าหลักด้วยสัดส่วนทางการค้า 36.1% ของมูลค่ารวม ตามมาด้วยฮ่องกง (สัดส่วน 12.36%) และประเทศไทย (สัดส่วน 9.09%)
  • นบรรดาชาติอาเซียน พบว่า ประเทศไทย เป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของกว่างซี มีสัดส่วน 18.18% ของการค้ากับอาเซียน และเป็นแหล่งนำเข้ารายใหญ่อันดับ 2 ของกว่างซี (รองจากเวียดนาม) ทั้งนี้ เมื่อคำนึงถึงความสัมพันธ์อันดีในทุกระดับ และช่องทางการขนส่งสินค้าและบริการที่หลากหลายทั้งทางทางบก ทางทะเล และทางอากาศแล้ว ประเทศไทยยังมีโอกาสที่จะขยายความร่วมมือด้านการค้ากับกว่างซีเพิ่มขึ้นได้อีก

 

ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 สถานการณ์การค้าต่างประเทศของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงยังคงรักษาระดับการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการค้าต่างประเทศของกว่างซี ทั้งในแง่ของการเข้าไปมีส่วนสำคัญในการช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่อำนวยความสะดวกต่อการค้าการลงทุน การสนับสนุนให้ภาคธุรกิจฟื้นฟูการผลิต รวมทั้งการกระตุ้นการใช้จ่ายภาคประชาชน

สถานการณ์การค้าต่างประเทศของกว่างซี ระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน 2564 มีข้อสังเกตดังนี้

1. ในภาพรวม สถานการณ์การค้าต่างประเทศยังคงรักษาระดับการขยายตัวได้เป็นอย่างดี การค้าต่างประเทศของกว่างซีมีมูลค่ารวม 2.902 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้น 33.9% (YoY) ซึ่งสูงกว่าอัตราขยายตัวเฉลี่ยของทั้งประเทศร้อยละ 6.8 จุด และสูงกว่าอัตราขยายตัวเฉลี่ยของมณฑลทางภาคตะวันตกร้อยละ 4.3 จุด แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 1.503 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้น 27.5% และมูลค่าการนำเข้า 1.398 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้น 41.6% กว่างซี เป็นฝ่ายได้ดุลการค้าต่างประเทศ 10,420 ล้านหยวน

2. การค้าชายแดนเป็นอัตลักษณ์ของการค้าต่างประเทศกว่างซี การค้าชายแดนมูลค่า 83,690 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 32.2% คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 30% ของการค้าต่างประเทศ แบ่งเป็น (1) การค้ามูลค่าต่ำตามแนวชายแดน หรือ Petty trade in border area มีมูลค่า 60,290 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 17.1% คิดเป็นสัดส่วน 20.8% ของการค้าต่างประเทศ และ (2) การค้าผ่านจุดผ่อนปรนตลาดการค้าชายแดนมีมูลค่า 23,400 หยวน เพิ่มขึ้น 98%

ขณะที่ (1) การค้าสากลมีมูลค่า 85,750 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 28.6% คิดเป็น 29.5% ของการค้าต่างประเทศ (2)  การค้าผ่านเขตอารักขาศุลกากร มีมูลค่า 69,590 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 61.2% คิดเป็น 24% ของการค้าต่างประเทศ และ (3) การค้าแปรรูปเพื่อการส่งออกมีมูลค่า 49,700 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 15.8% คิดเป็น 17.1% ของการค้าต่างประเทศ

3. มีความร่วมมือด้านการค้าเชิงลึกกับประเทศที่เป็นหุ้นส่วนในยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 1.554 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้น 34.1% ซึ่งสูงกว่าอัตราขยายตัวเฉลี่ยของทั้งประเทศร้อยละ 6.6 จุด โดย “อาเซียน” เป็นคู่ค้ารายใหญ่ของกว่างซี (ปีที่ 21 ติดต่อกัน) มีมูลค่าการค้า 1.45 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้น 36.4% ตามมาด้วยฮ่องกง (35,870 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 23.1%) และสหรัฐอเมริกา (13,460 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 105.2%)

โครงสร้างการค้ากับ “อาเซียน” มีสัดส่วน 49.9% ของมูลค่ารวม โดยประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “เวียดนาม” ยังคงครองตำแหน่งคู่ค้าหลักด้วยมูลค่า 1.04 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้น 31.5% คิดเป็นสัดส่วน 36.1% ของมูลค่ารวม และคิดเป็น 72.36% ของการค้ากับอาเซียน ทั้งนี้ “อาเซียน” เป็นฝ่ายเสียดุลการค้าให้กว่างซี 27,548 ล้านหยวน

สำหรับการค้ากับประเทศไทย เป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของกว่างซี (รองจากเวียดนาม และฮ่องกง) ด้วยมูลค่าการค้า 26,369 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 52.8% แบ่งเป็นมูลค่านำเข้าจากไทย 23,724 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 57.3% และมูลค่าส่งออกไปไทย 2,645 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 22.1 % โดย ประเทศไทย เป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากว่างซี 21,079 ล้านหยวน

หากมองเฉพาะอาเซียน ประเทศไทย เป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของกว่างซี มีสัดส่วน 18.18% ของการค้ากับอาเซียน และคิดเป็นสัดส่วน 9.09% ของมูลค่ารวม ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดี เนื่องจากที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถขยายสัดส่วนการค้ากับกว่างซีได้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังมีโอกาสที่จะขยายความร่วมมือด้านการค้ากับกว่างซีเพิ่มขึ้นได้อีก เมื่อคำนึงถึงความสัมพันธ์อันดีในทุกระดับ และช่องทางการขนส่งสินค้าและบริการที่หลากหลาย ทั้งทางทางบกผ่านชายแดนและรถไฟที่เวียดนาม ทางทะเลเชื่อมระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง/ท่าเรือกรุงเทพ-ท่าเรือในอ่าวเป่ยปู้ (อ่าวตังเกี๋ย) และทางอากาศ ซึ่งปัจจุบันมีเที่ยวบินคาร์โก้มารองรับแล้วระหว่างกรุงเทพฯ – นครหนานหนิง

4. อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้านำเข้า-ส่งออกสำคัญ หากจำแนกภาคการส่งออก อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าส่งออก 87,230 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 31.5% คิดเป็นสัดส่วน 58% ของมูลค่าส่งออกรวม ในจำนวนนี้ อุปกรณ์ประมวลผลอัตโนมัติ (Automatic Data Processing) และชิ้นส่วนอะไหล่ที่เกี่ยวข้อง มีมูลค่าส่งออก 18,450 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 43.4% ขณะที่สิ่งทอเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่าส่งออก 18,190 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 20.3%

ขณะเดียวกัน ภาคการนำเข้า อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่านำเข้า 50,310 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 35.9% และสินแร่ต่างๆ โดยเฉพาะสินแร่ทองแดง 16,040 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 74.1% และสินแร่เหล็ก 15,900 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 85.8% นอกจากนี้ สินค้าเกษตรมีมูลค่านำเข้า 20,760 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 12.1% โดยเฉพาะธัญพืช (ข้าว) มีมูลค่านำเข้า 10,680 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 26.5%

5. เขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้ ประกอบด้วยนครหนานหนิง เมืองชินโจว เมืองฝางเฉิงก่าง เมืองเป๋ยไห่ เมืองฉงจั่ว และเมืองยวี่หลิน ยังเป็นหัวใจหลักของการค้าต่างประเทศกว่างซี หากจำแนกรายเมือง พบว่า (1) เมืองฉงจั่ว ซึ่งเป็นเมืองการค้าชายแดนที่สำคัญของกว่างซี มีมูลค่าการค้าต่างประเทศสูงสุดที่ 115,780 ล้านหยวน (+35.7%) คิดเป็นสัดส่วน 39.89% ของมูลค่ารวม (2) นครหนานหนิง มีมูลค่า 54,590 ล้านหยวน (+28.6%)
และ (3) เมืองฝางเฉิงก่าง มีมูลค่า 39,780 ล้านหยวน (+10.6%) ขณะที่เมืองอื่นๆ ก็สามารถรักษาระดับการเติบโตภาคการค้าต่างประเทศได้ดีเช่นกัน

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ http://nanning.customs.gov.cn (南宁海关) วันที่ 4 สิงหาคม 2564
      เว็บไซต์ www.gx.xinhuanet.com (广西新华网) วันที่ 23, 24 และ 26 กรกฎาคม 2564

ที่มา : https://thaibizchina.com/

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]