• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ท่าเรือเป๋ยไห่ลุยทดสอบรถบรรทุกไร้คนขับ ตามเทรนด์ท่าเรืออัจฉริยะในจีน

ท่าเรือเป๋ยไห่ลุยทดสอบรถบรรทุกไร้คนขับ ตามเทรนด์ท่าเรืออัจฉริยะในจีน

 

ไฮไลท์

  • ท่าเรือเที่ยซานในเมืองเป๋ยไห่ (Tieshan Port) ซึ่งเป็นหนึ่งในท่าเรือสำคัญรอบอ่าวเป่ยปู้ ได้เริ่มทดสอบประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของรถบรรทุกไร้คนขับ ซึ่งมีระบบสัญญาณ 5G เป็นเทคโนโลยีแกน (Core technology) ร่วมกับรถบรรทุกที่มีอยู่ในปัจจุบันภายในท่าเทียบเรือ นับเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าครั้งสำคัญของโครงการพัฒนาท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ หรือที่คนไทยรู้จักชื่อ “อ่าวตังเกี๋ย” ก้าวสู่การเป็นท่าเรืออัจฉริยะของประเทศจีน
  • กระบวนการทำงานของรถบรรทุกไร้คนขับเกิดจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหลายแขนงเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี IoT กับกล้องและเซ็นเซอร์ติดรถยนต์ที่สามารถตรวจจับวัตถุและมองเห็นสภาพแวดล้อมรอบคันรถ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ทำงานร่วมกับ Big Data Analytics ที่ช่วยยกระดับความอัจฉริยะในการขับขี่ โดยข้อมูลจำนวนมหาศาลเหล่านี้จะถูกส่งผ่านเทคโนโลยีสื่อสาร 5G ภายในเสี้ยวนาที ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมระยะไกลและมองเห็นภาพจริงที่ถูกส่งกลับไปยังห้องควบคุมได้อย่างรวดเร็ว
  • ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี กำลังทวีบทบาทสำคัญในการเป็น “ประตู” เชื่อมโยงการค้าและระบบขนส่งโลจิสติกส์ระหว่างจีนกับนานาประเทศ ปริมาณการขนถ่ายสินค้าผ่านท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง การอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากร และความพร้อมของระบบงานขนส่ง เรือ+รางของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ในการขนส่งสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีน (ตะวันตก) หรือใช้ช่องทางดังกล่าวในการขนสินค้าจากเรือขึ้นรถไฟไปยังเอเชียกลางและยุโรป ซึ่งจะช่วยย่นระยะเวลาลงเกือบครึ่งเมื่อเทียบกับการขนส่งทางเรือเพียงอย่างเดียวตลอดเส้นทาง

 

นับเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าครั้งสำคัญของโครงการพัฒนาท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ หรือที่คนไทยรู้จักชื่อ “อ่าวตังเกี๋ย” สู่การเป็นท่าเรืออัจฉริยะของประเทศจีน ล่าสุด ท่าเรือเที่ยซานในเมืองเป๋ยไห่ (Tieshan Port/铁山港) ได้เริ่มทดสอบประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของรถบรรทุกไร้คนขับ ซึ่งมีระบบสัญญาณ 5G เป็นเทคโนโลยีแกน (Core technology) ร่วมกับรถบรรทุกที่มีอยู่ในปัจจุบันภายในท่าเทียบเรือ

โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท Guangxi Beibu Gulf International Port Group (广西北部湾国际港务集团有限公司) กับผู้ผลิตรถบรรทุกยักษ์ใหญ่ Dongfeng Liuzhou Motor (东风柳汽) และผู้ให้บริการโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ China Mobile สาขากว่างซี ซึ่งเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ ขยับเข้าใกล้เป้าหมายสำคัญในการเป็นท่าเทียบเรืออัจฉริยะแบบเต็มรูปแบบแห่งแรกในภูมิภาคตะวันตกของประเทศจีน

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาเทคโนโลยี 5G ได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกเป็นอย่างมาก 5G ได้เข้ามาพลิกโฉมการเชื่อมโยงเครือข่ายสื่อสารไร้สายในทุกรูปแบบ โดยจุดเด่นของ 5G อยู่ที่ความรวดเร็วและศักยภาพในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อินเทอร์เน็ตทุกชนิด หรือที่เรียกว่า Internet of Thing (loT) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดนวัตกรรมและการบริการรูปแบบใหม่ รวมไปถึงการพัฒนาการทำงานของรถบรรทุกไร้คนขับ

กระบวนการทำงานของรถบรรทุกไร้คนขับเกิดจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT กับกล้องและเซ็นเซอร์ติดรถยนต์ที่สามารถตรวจจับวัตถุและมองเห็นสภาพแวดล้อมรอบคันรถ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ทำงานร่วมกับ Big Data Analytics ช่วยยกระดับความอัจฉริยะในการขับขี่ โดยข้อมูลจำนวนมหาศาลเหล่านี้จะถูกส่งผ่านเทคโนโลยีสื่อสาร 5G ภายในเสี้ยวนาที ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมระยะไกลและมองเห็นภาพจริงที่ถูกส่งกลับไปยังห้องควบคุมได้อย่างรวดเร็ว

โครงการดังกล่าววางแผนใช้ระยะเวลาในการทดสอบ 3 ปี โดยระยะเริ่มต้นจะทดสอบการปฏิบัติงานของรถบรรทุกไร้คนขับร่วมกับรถบรรทุกสำหรับการขนส่งตู้สินค้าระหว่างหน้าท่ากับลานตู้สินค้า ในระยะต่อไป จะติดตั้งระบบไร้คนขับให้รถบรรทุกตู้สินค้าทั้งหมดในท่าเทียบเรือ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรในท่าเทียบเรือ เพิ่มขีดความสามารถในการลำเลียงตู้สินค้าในท่าเทียบเรือ เพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการตู้สินค้า ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และเพิ่มความปลอดภัยในการทำงานภายในท่าเทียบเรือ

 

https://sourcing.hktdc.com

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี ซึ่งประกอบด้วยท่าเรือชินโจว (Qinzhou Port/钦州港) ท่าเรือฝางเฉิงก่าง (Fangchenggang Port/防城港) และท่าเรือเป๋ยไห่ กำลังทวีบทบาทสำคัญในการเป็น “ประตู” เชื่อมโยงการค้าและระบบงานขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศจีนกับต่างประเทศ การขนถ่ายสินค้าผ่านท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปริมาณขนถ่ายตู้สินค้าผ่านท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้สามารถรักษาระดับการขยายตัวเฉลี่ยได้มากกว่า 25% ปัจจุบัน มีเส้นทางเดินเรือ 52 เส้นทางไปยัง 150 กว่าท่าเรือใน 70 กว่าประเทศ/ดินแดนทั่วโลก รวมถึงท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือกรุงเทพของประเทศไทยด้วย

            ผลงานของท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ในปี 2563 มีดังนี้

  • ปริมาณขนถ่ายสินค้า 300 ล้านตัน (+17%) มากเป็นอันดับ 2 ในพื้นที่จีนตอนใต้ รองจากท่าเรือกว่างโจว
  • ปริมาณขนถ่ายตู้สินค้า 5.05 ล้าน TEUs (+32%) อันดับที่ 10 ของท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเลของจีน และอันดับที่ 40 ของโลก ที่สำคัญ ปริมาณขนถ่ายตู้สินค้าขยายตัวสูงเป็นอันดับ 1 ของท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเลของจีน
  • เที่ยวขบวนรถไฟขนส่งตู้สินค้าที่ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีจำนวน 4,607 เที่ยว เมื่อเทียบกับปี 2560 เติบโต 25 เท่า ปริมาณตู้สินค้าที่ขนส่งผ่านโมเดลเรือ+รางมีจำนวน 3 แสน TEUs และขบวนรถไฟเที่ยวประจำมีวันละ 15 เที่ยว

ที่ผ่านมา บีไอซี ได้นำเสนอความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการพัฒนาท่าเทียบเรืออัจฉริยะของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้อยู่อย่างต่อเนื่อง โดยแต่ละท่าเทียบเรือได้นำเริ่มโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือในด้านต่างๆ เช่น ท่าเรือชินโจว ซึ่งเป็นท่าเรือสำคัญในอ่าวเป่ยปู้และเป็นท่าเรือพี่น้อง (sister port) กับท่าเรือแหลมฉบัง กำลังก่อสร้างท่าเรืออัจฉริยะแห่งที่ 5 ของประเทศจีน มีศักยภาพรองรับเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขนาดแสนตัน สามารถรองรับปริมาณขนถ่ายสินค้าได้ปีละ 1.25 ล้าน TEUs ที่สำคัญ คือ เป็นท่าเทียบเรืออัจฉริยะที่มีฟังก์ชันรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) เรือ+รถไฟ แห่งแรกของประเทศจีน คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จภายในปี 2565

ขณะที่ท่าเรือฝางเฉิงก่าง ได้จับมือกับบริษัท China Mobile สาขากว่างซีในการนำเทคโนโลยี Edge Computing / Computer Vision / AI และการระบุตำแหน่งที่มีความแม่นยำสูง มาใช้พัฒนาและต่อยอดกิจกรรมการผลิตที่เกิดขึ้นในท่าเรือ และใช้เทคโนโลยี 5G ขับเคลื่อนการทำงานในท่าเทียบเรือให้เป็นระบบอัตโนมัติ ระบบดิจิทัล และระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ท่าเรือฝางเฉิงก่างก้าวไปสู่การเป็นท่าเรืออัจฉริยะอีกระดับเช่นกัน

การพัฒนาเทคโนโลยีของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ และการยุทธศาสตร์ระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเล (International Land and Sea Trade Corridor – ILSTC) ที่มีโมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบเป็นตัวชูโรง จะช่วยเพิ่มศักยภาพการขนถ่ายสินค้าในท่าเทียบเรือ และช่วยดึงดูดให้ผู้ค้าหันมาใช้ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ในการนำเข้า-ส่งออกเพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง การอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากร และความพร้อมของระบบงานขนส่ง เรือ+รางของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ในการทำการค้ากับจีน โดยเฉพาะกับพื้นที่ภาคตะวันตกตอนใน

สำหรับประเทศไทย ท่าเรือชินโจว (ท่าเรือหลักในกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้) และท่าเรือแหลมฉบัง มีความร่วมมือด้านท่าเรือระหว่างกันอยู่แล้ว โดยมีสายเรือ 3 รายให้บริการอยู่ ได้แก่ บริษัท SITC บริษัท PIL บริษัท EMC และสายเรือร่วมดำเนินการของบริษัท Wanhai Lines, YangMing Lines และ Sealand MAERSK Asia จึงเป็น “ทางเลือก” ที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขนส่งสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีน (ตะวันตก) หรือใช้ช่องทางดังกล่าวในการขนสินค้าจากเรือขึ้นรถไฟไปยังเอเชียกลางและยุโรป ซึ่งจะช่วยย่นระยะเวลาลงเกือบครึ่งเมื่อเทียบกับการขนส่งทางเรือเพียงอย่างเดียวตลอดเส้นทาง

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (广西新华网) วันที่ 29 มิถุนายน 2564
ภาพประกอบ gx.chinanews.com / freepik.com

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]