ไฮไลท์

  • ปัจจุบัน ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ ซึ่งประกอบด้วยท่าเรือชินโจว ท่าเรือฝางเฉิงก่าง และท่าเรือเป๋ยไห่ กำลังทวีบทบาทสำคัญในโครงสร้างการค้าของมณฑลจีนตอนในกับต่างประเทศ ผู้นำเข้า-ส่งออกได้หันมาใช้ประโยชน์จากโมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” ที่ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้มากขึ้น เนื่องจากมีความสะดวกรวดเร็ว ประหยัดต้นทุนเวลาและค่าใช้จ่าย ในไตรมาสแรกของปี 2564 มีเที่ยวรถไฟขนส่งสินค้า 1,325 ขบวน เพิ่มขึ้น 89.3% (YoY) ปริมาณขนส่งตู้สินค้า 66,292 TEUs เพิ่มขึ้น 85% (YoY)
  • โมเดล “เรือ+ราง” ที่ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ (ท่าเรือชินโจว) เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขนส่งสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีน โดยระบบงานขนส่งดังกล่าวสามารถรองรับตู้สินค้าได้หลายประเภท ปัจจุบัน มีบริการเที่ยวเรือขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือชินโจวกับท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทยจำนวนหลายเที่ยวต่อสัปดาห์แล้ว
  • ในช่วงฤดูกาลผลไม้ของไทย (ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน) ปริมาณการขนส่งจะพุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้การขนส่งทางบกผ่านเส้นทาง R9 และ R12 มักประสบปัญหาการจราจรแออัดบริเวณชายแดนฝั่งเวียดนามที่มีลักษณะเป็น “คอขวด” ก่อนเข้าด่านโหย่วอี้กวานของกว่างซี การหันมาใช้การขนส่งทางเรือจึงเป็นอีกช่องทางการขนส่งและระบายสินค้าที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกไทย

 

แม้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกต้องชะลอตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่การขนส่งด้วยโมเดล “เรือ+ราง” ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ระเบียงขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก (New Western Land and Sea Corridor – NWLSC/西部陆海新通道) ที่มีอ่าวเป่ยปู้ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็น Hub มีแนวโน้มเติบโตได้ดี ในไตรมาสแรกของปี 2564 มีเที่ยวรถไฟขนส่งสินค้า 1,325 ขบวน เพิ่มขึ้น 89.3% (YoY) ปริมาณขนส่งตู้สินค้า 66,292 TEUs เพิ่มขึ้น 88.5% (YoY)

นับตั้งแต่ต้นปี 2564 เป็นต้นมา กว่างซีได้เปิดให้เส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าสายใหม่เชื่อมระหว่างท่าเรืออ่าวเป่ยปู้กับมณฑลอื่นจำนวนหลายเส้นทาง ขบวนรถไฟวิ่งผ่าน 59 สถานีของ 27 เมืองใน 9 มณฑล สินค้าหลักนอกจากวัสดุก่อสร้างอย่างดินเคโอลิน (Kaolin) ทรายควอตซ์ (Quartz sand) เหล็กกล้าและเซรามิกที่ใช้ในงานก่อสร้างแล้ว ยังมีสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นด้วย อาทิ แป้งสตาร์ชมันสำปะหลังจากไทย ข้าวเหนียวจากเวียดนาม และพริกของอินเดีย

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ ซึ่งประกอบด้วยท่าเรือชินโจว ท่าเรือฝางเฉิงก่าง และท่าเรือเป๋ยไห่ กำลังทวีบทบาทสำคัญในโครงสร้างการค้าของมณฑลจีนตอนในกับต่างประเทศ ผู้นำเข้า-ส่งออกได้หันมาใช้ประโยชน์จากโมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” ที่ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้มากขึ้น เนื่องจากมีความสะดวกรวดเร็ว ประหยัดต้นทุนเวลาและค่าใช้จ่ายได้มาก

จากสถิติในปี 2563 สะท้อนให้เห็นว่า ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีปริมาณขนถ่ายสินค้าราว 300 ล้านตัน ขยายตัว 17% (YoY) เป็นท่าเรือที่มีปริมาณขนถ่ายสินค้ามากเป็นอันดับที่ 11 ของประเทศจีน (ปี 2562 อยู่อันดับที่ 14) มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ในภูมิภาคจีนตอนใต้ รองจากท่าเรือกว่างโจว (แซงหน้าท่าเรือเซินเจิ้นและท่าเรือจ้านเจียงของมณฑลกวางตุ้ง) และมีปริมาณขนถ่ายตู้สินค้า 5.05 ล้าน TEUs ขยายตัว 32% อัตราการขยายตัวสูงที่สุดในบรรดาท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเลของประเทศจีน เป็นท่าเรือที่มีปริมาณขนถ่ายสินค้ามากเป็นอันดับที่ 10 ของประเทศจีน (ปี 2562 อยู่อันดับที่ 15) เป็นครั้งแรก

ในบริบทดังกล่าว โมเดล “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือชินโจว เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขนส่งสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีน หรือใช้ช่องทางดังกล่าวขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป โดยระบบงานขนส่งดังกล่าวสามารถรองรับตู้สินค้าได้หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นตู้คอนเทนเนอร์แบบที่มีเครื่องทำความเย็น (reefer) สำหรับการขนส่งผลไม้และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่แข็ง และตู้คอนเทนเนอร์แบบ open top ซึ่งเหมาะสำหรับสินค้าเทกอง

ปัจจุบัน มีบริการเที่ยวเรือขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือชินโจวกับท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทยจำนวนหลายเที่ยวต่อสัปดาห์ เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะช่วงฤดูกาลผลไม้ของไทย (ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายนของทุกปี) ที่มีปริมาณการขนส่งพุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้การขนส่งผ่านเส้นทาง R9 และ R12 มักประสบปัญหาการจราจรแออัดบริเวณชายแดนฝั่งเวียดนามที่มีลักษณะเป็น “คอขวด” ก่อนเข้าด่านโหย่วอี้กวานในกว่างซี

ทั้งนี้ หากผู้ส่งออกไทยประสงค์ใช้วิธีการขนส่งด้วยรถบรรทุกออกจากภาคอีสานของไทย สามารถเปลี่ยนไปใช้โมเดลการขนส่งทางรถไฟได้เช่นกัน โดยเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าขึ้นรถไฟที่สถานีเมืองด่งดัง จังหวัดล่างเซินของเวียดนาม และใช้รถไฟวิ่งเข้าไปที่ด่านรถไฟผิงเสียงของเขตฯ กว่างซีจ้วง โดยรถไฟเส้นทางดังกล่าวสามารถเชื่อมต่อแบบไร้รอยต่อกับโครงข่ายรถไฟในจีนและโครงข่ายรถไฟ China-Europe Railway ได้อีกด้วย

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 6 เมษายน 2564
ภาพประกอบ baidu.com

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/