สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้คนเดินทางน้อยลง อุตสาหกรรมการบินซบเซา แต่ปัจจุบัน เมื่อประชาชนในประเทศต่าง ๆ เริ่มได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงมากขึ้น แนวโน้มการเดินทางก็เริ่มทยอยฟื้นตัว ในช่วงเวลาที่ผ่านมา นครฉงชิ่งและนครเฉิงตูได้ปรับปรุงสถานที่ อาทิ การสร้างสนามบินแห่งใหม่ และการสร้างอาคารผู้โดยสารในตัวเมือง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการกลับมาของผู้โดยสารและนักท่องเที่ยว หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

ท่าอากาศยานนานาชาติฉงชิ่งเจียงเป่ย

เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2565 ท่าอากาศยานนานาชาติฉงชิ่งเจียงเป่ยเปิดเผยว่า ปี 2564 ท่าอากาศยานฯ รองรับปริมาณผู้โดยสารรวม 35.76 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับปี 2563 ขนส่งสินค้าและไปรษณีย์ได้ 477,000 ตัน เพิ่มขึ้น 15.9 เมื่อเทียบกับปี 2563 และมีจำนวนเที่ยวบินทั้งหมด 280,600 เที่ยว เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยมีปริมาณผู้โดยสารสูงเป็นอันดับที่ 4 ในประเทศจีน (รองจากท่าอากาศยานนานาชาติกว่างโจวไป๋อวิ๋น ท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูซวงหลิว และท่าอากาศยานนานาชาติเซินเจิ้นเป่าอัน ตามลำดับ)

ท่าอากาศยานนานาชาติฉงชิ่งเจียงเป่ย ยังคงยกระดับการลงทุนด้านการพัฒนาเส้นทางการบินภายในประเทศ โดยเปิดให้บริการเส้นทางด่วนพิเศษกรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ นครกว่างโจว และเมืองเซินเจิ้น นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเคาน์เตอร์เช็คอินและช่องทางพิเศษการตรวจรักษาความปลอดภัย ปัจจุบันมีเที่ยวบินจากนครฉงชิ่งไปยังกรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ นครกว่างโจว และเมืองเซินเจิ้นมากกว่า 30 เที่ยวต่อวัน

ปัจจุบัน ท่าอากาศยานนานาชาติฉงชิ่งเจียงเป่ยยังคงดำเนินการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารในตัวเมืองอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร อาทิ การขอรับ Boarding Pass การเช็คอินสัมภาระ การสอบถามเที่ยวบิน ห้องรับรองผู้โดยสาร และรถรับส่งไปยังสนามบิน

อุตสาหกรรมขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศของนครฉงชิ่งยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในปี  2564 นครฉงชิ่งเปิดเส้นทางการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศใหม่อีก 5 เส้นทาง ได้แก่ 1) นครฉงชิ่ง – เมืองเยคาเตรินเบิร์ก ประเทศรัสเซีย – กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม 2) นครฉงชิ่ง – เมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย 3) นครฉงชิ่ง – เมืองหนานทง มณฑลเจียงซู – กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น 4) นครฉงชิ่ง – กรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ และ 5) นครฉงชิ่ง – เมืองครัสโนยาสค์ ประเทศรัสเซีย

ท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูซวงหลิว

ท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูซวงหลิวเปิดเผยว่า ปี 2564 ท่าอากาศยานฯ รองรับผู้โดยสารได้ 40.117 ล้านคน มากเป็นอันดับ 2 ในประเทศจีน มีเที่ยวบินทั้งหมด 300,900 เที่ยว มีปริมาณการขนส่งสินค้าและไปรษณีย์ 628,000 ตัน ประสบความสำเร็จภายใต้รูปแบบการพัฒนา “หนึ่งเมือง สองสนามบิน” และอาคารผู้โดยสารในตัวเมืองได้ช่วยขยายพื้นที่ให้บริการของท่าอากาศยาน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการช่วยพัฒนาธุรกิจการบินของมณฑลเสฉวนและของจีน


อาคารผู้โดยสารแห่งนี้เป็นอาคารผู้โดยสารในตัวเมืองแห่งที่สองในนครเฉิงตู โดยอาคารผู้โดยสารในตัวเมืองแห่งแรกตั้งอยู่ที่สถานีรถไฟเฉิงตูตะวันออก นับเป็นการขยายพื้นที่ให้บริการแก่ผู้โดยสารสู่สถานที่ท่องเที่ยวครั้งแรกในตัวเมือง

เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2564 “อาคารผู้โดยสารควานไจ่เซี่ยงจื่อ” ซึ่งตั้งอยู่ในตัวเมืองนครเฉิงตู ได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ผู้โดยสารสามารถเช็คอินเที่ยวบิน โหลดสัมภาระ ผ่านจุดตรวจรักษาความปลอดภัย และให้บริการรับส่งผู้โดยสารไปยังท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูซวงหลิวและท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูเทียนฝู่ ทุกวันระหว่างเวลา 08.00 – 21.30 น. ออกทุก 30 นาที โดยคิดค่าโดยสาร 20 หยวน และ 40 หยวน ตามลำดับ นอกจากนี้ยังลดราคาร้อยละ 50 ก่อนวันที่ 23 มกราคม 2564

ผู้โดยสารที่เดินทางมาท่องเที่ยวที่นครเฉิงตูสามารถเดินทางท่องเที่ยวในใจกลางนครเฉิงตูได้โดยไม่ต้องหอบหิ้วกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ไปด้วย สามารถเช็คอินที่อาคารผู้โดยสารดังกล่าวได้เลย นอกจากจะอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารแล้ว ยังสามารถบรรเทาความแออัดของผู้โดยสารภายในสนามบินได้อีกด้วย

อาคารผู้โดยสารควานไจ่เซี่ยงจื่อ ตั้งอยู่ที่ถนนเซี่ยถงเหริน เขตชิงหยาง นครเฉิงตู ห่างจากถนนคนเดินควานไจ่เซี่ยงจื่อเพียง 300 เมตร เป็นอาคารจำลองแบบโบราณ 3 ชั้น ป้ายทางเข้ามีตัวอักษรขนาดใหญ่ “อาคารผู้โดยสารในตัวเมือง” และมีรูปปั้นแพนด้าในชุดกัปตัน ต้อนรับผู้โดยสารอยู่หน้าประตูทางเข้า

เมื่อเข้าสู่อาคาร ชั้น 1 เป็นเคาน์เตอร์เช็คอินและโหลดสัมภาระ มีหน้าจออิเล็กทรอนิกส์แสดงข้อมูลเที่ยวบินของท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูซวงหลิวและเฉิงตูเทียนฝู่ ชั้น 2 เป็นร้านกาแฟ มีร้านหนังสือและร้านขายของฝาก ชั้น 3 เป็นพื้นที่สำหรับการประชุมธุรกิจและการจัดแสดงสินค้า อาคารผู้โดยสารแห่งนี้จึงถือเป็นอาคารผู้โดยสารที่ให้บริการแบบ “ครบวงจร” ที่สุดแห่งหนึ่งของจีน

 

นครเฉิงตูและนครฉงชิ่งถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีศักยภาพสูงทางด้านการบินและการขนส่ง มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ประชาชนมีกำลังซื้อสูง และมีที่ตั้งอยู่ใกล้ไทย ใช้เวลาเดินทางโดยเครื่องบินเพียง 3-4 ชั่วโมงเท่านั้น ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวจึงเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

นอกจากนี้ ไทยยังอาจเรียนรู้เทคโนโลยีและแนวคิดการสร้างอาคารผู้โดยสารในตัวเมือง ที่จริงแล้ว ไทยเคยมีอาคารผู้โดยสารที่สถานีรถไฟ Airport link มักกะสัน อย่างไรก็ดี การบริการดังกล่าว ไม่ได้รับความนิยมจากผู้โดยสาร และได้ปิดทำการไปพร้อม ๆ กับการยุติการให้บริการของ Airport link สาย Express Line ในอนาคต หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารในตัวเมือง ก็อาจพิจารณาเลือกสถานที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สามารถเชื่อมต่อเส้นทางขนส่งสาธารณะ สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ตลอดจนสนามบินหลักของประเทศ เช่น สถานีกลางบางซื่อ หรือ สยาม

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักข่าว cqnews (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565)

http://cq.cqnews.net/html/2022-01/09/content_929639726925897728.html

 

เว็บไซต์ baijiahao.baidu (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565)

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1720737350471450247&wfr=spider&for=pc

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1721196186291902987&wfr=spider&for=pc

 

ขอบคุณรูปภาพจากเว็บไซต์รัฐบาลเขตชิงหยาง นครเฉิงตู

http://www.cdqingyang.gov.cn/qyq/rdtj/2022-01/05/content_8d65cbe04c154d58853f8de2a1c19305.shtml

ที่มา : https://thaibizchina.com/