• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • นครฉงชิ่งทำอย่างไรถึงครองอันดับ 1 การคัดแยกขยะในจีนตะวันตกต่อเนื่อง 9 ไตรมาส

นครฉงชิ่งทำอย่างไรถึงครองอันดับ 1 การคัดแยกขยะในจีนตะวันตกต่อเนื่อง 9 ไตรมาส

 

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 สำนักงานบริหารเมืองนครฉงชิ่งเปิดเผยว่า ผลงานการคัดแยกขยะของนครฉงชิ่งได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 ในจีนตะวันตกติดต่อกัน 9 ไตรมาส ระบบการคัดแยกขยะดังกล่าวครอบคลุมถนนกว่า 215 สาย และประชาชนกว่า 6.38 ล้านครัวเรือน นครฉงชิ่งส่งเสริมการจำแนกประเภทขยะในเชิงลึก มีกลไกการบริหารจัดการที่ดี อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกทันสมัย และมีการประชาสัมพันธ์ทั่วถึง ปัจจุบันมีถังคัดแยกขยะครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 89.3 ของนครฉงชิ่ง เขตพื้นที่ใจกลางเมืองนครฉงชิ่งสามารถคัดแยกขยะเศษอาหารได้ 2,174 ตัน และขยะรีไซเคิลได้ 2,148 ตันต่อวัน โดยมีอัตราการรีไซเคิลร้อยละ 40.2 ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน นครฉงชิ่งได้ดำเนินการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ กิจกรรมอบรม การแข่งขันทักษะความรู้ กิจกรรมการแสดงความคิดเห็น ในโรงเรียน โรงพยาบาล หน่วยงานรัฐบาล หมู่บ้าน และวิสาหกิจ รวม 39,000 ครั้ง มีอาสาสมัครคัดแยกขยะที่ขึ้นทะเบียน 28,000 คน นอกจากนี้ นครฉงชิ่งยังประกาศ “ข้อกำหนดว่าด้วยการจัดการขยะในครัวเรือนนครฉงชิ่ง” ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มีนาคม 2565 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมเทคโนโลยีในด้านการจัดการขยะในครัวเรือนอีกด้วย

เจ้าหน้าที่หมู่บ้าน Luneng Star City ชุมชนเยว่หยิ่นหู ถนนหลงถ่า เขตเจียงเป่ย แจ้งว่า ภายในหมู่บ้านมีการจัดตั้งศูนย์การศึกษาการจำแนกประเภทขยะ ซึ่งใช้พื้นที่ขนาดเล็ก มีป้ายรูปภาพและลำโพงสำหรับถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการจำแนกขยะ ในช่วงเริ่มต้นของการส่งเสริมการคัดแยกขยะ ประชาชนในชุมชนไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคัดแยกขยะ การจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวฯ และจัดสรรถังสำหรับคัดแยกขยะให้ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าใจประโยชน์ของการจำแนกขยะมากขึ้น ทำให้ดูเป็นเรื่องง่ายและน่าสนใจ  เป็นการปลูกฝังทัศนคติที่ดีในการคัดแยกขยะ

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 ชุมชนถนนฉีหลง เขตยวี๋เป่ยได้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์การคัดแยกขยะ อาสาสมัครและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแจกจ่ายเอกสาร และอธิบายให้ความรู้ในการจำแนกประเภทขยะแก่ผู้อยู่อาศัยในชุมชน

นโยบายการคัดแยกขยะของนครฉงชิ่ง สามารถช่วยช่วยลดปริมาณขยะในเมือง เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรม ซึ่งสอดคล้องกับ “BCG Model” ของไทย โดยตามร่างแผยปฎิบัติการขับเคลื่อน BCG Model พ.ศ. 2564-2570 ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (2565-2570) ได้กำหนดโครงการจัดการขยะพลาสติกครบวงจร แยก รวบรวม จัดเก็บ หมุนเวียนใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และส่งเสริมให้มีการนำมาใช้ซ้ำ และโครงการบริหารจัดการและบูรณาการข้อมูลการลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารระดับชาติ ดังนั้น ทั้งไทยและนครฉงชิ่งจึงต่างมีนโยบายและแนวปฎิบัติที่ชัดเจนในการบริหารจัดการขยะ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง และพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักข่าวซินหัวนครฉงชิ่ง (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565)

http://cq.news.cn/2022-02/08/c_1128340083.htm

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]