7 กรกฎาคม 2565  – ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยการสนับสนุนของสถานกงสุลใหญ่  ณ นครหนานหนิง จัดประชุมหารือการพัฒนาความร่วมมือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการแก้ปัญหาความยากจนไทย-จีน ในพื้นที่กว่างซีจ้วงขึ้น เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ในรูปแบบออนไลน์  โดยมี รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นางสาวเบญจมาศ ตันเวทยานนท์ กงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง และนายหลี่ ชิงฟา รองอธิบดีกรมพัฒนาชนบท เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ร่วมกล่าวต้อนรับในช่วงพิธีเปิดการประชุม

การประชุมดังกล่าว เป็นการระดมผู้เชี่ยวชาญด้านการแก้ปัญหาความยากจนไทย-จีนครั้งสำคัญ จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) มหาวิทยาลัยกวางสี ศูนย์พัฒนาโครงการลงทุนจากต่างประเทศด้านการพัฒนาชนบทกว่างซี กรมพัฒนาชนบท เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตร เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีในการแก้ปัญหาความยากจน ในหัวข้อการแก้ปัญหาความยากจนเบ็ดเสร็จแม่นยำของไทย ภาพรวมนโยบายการแก้ปัญหาความยากจนของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประสบการณ์จากโครงการขจัดความยากจนในพื้นที่กว่างซีจ้วงของธนาคารโลก โครงการความร่วมมือในการแก้ปัญหาความยากจนจีน-ลาว และบทบาทวัฒนธรรมการท่องเที่ยวและงานบริการในการแก้ไขปัญหาความยากจน

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญได้ร่วมกันหารือถึงแนวทางการแก้ปัญหาความยากจนไทย-จีน ในพื้นที่กว่างซีจ้วง ในเบื้องต้น ที่จะนำไปสู่แนวทางการยกระดับและสร้างรูปแบบการแก้ปัญหาความยากจนในมิติใหม่เชิงพื้นที่ระหว่างไทยและพื้นที่กว่างซีจ้วงอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชน และนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกันในระดับภูมิภาค

การประชุมนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือในการแก้ปัญหาความยากจนระดับพื้นที่ระหว่างประเทศไทยกับเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันทั้งด้านวิทยาศาสตร์และการศึกษามายาวนาน และเป็นก้าวสำคัญของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการดำเนินงานความร่วมมือระหว่างไทย-จีน อย่างเป็นรูปธรรมด้วย


ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
www.stsbeijing.org