สนามบินนานาชาติต้าซิง สนามบิน “อัจฉริยะ” แห่งใหม่ของจีน

1. ความเป็นมาของสนามบินนานาชาติต้าซิง

สนามบินนานาชาติต้าซิง (Beijing Daxing International Airport) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการหลักของรัฐบาลจีนที่จะพัฒนาความเชื่อมโยงพื้นที่เขตเศรษฐกิจใหม่ Jing-jin-ji ในตอนเหนือของจีนที่ครอบคลุมกรุงปักกิ่ง นครเทียนจิน และมณฑลเหอเป่ย สนามบินมีที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงปักกิ่งห่างจากใจกลางเมืองประมาณ 46 กิโลเมตร ซึ่งจะเป็นใจกลางของเขตเศรษฐกิจใหม่ที่สามารถเดินทางได้ด้วยขบวนรถไฟไปเมืองสงอัน พื้นที่เมืองใหม่ในมณฑลเหอเป่ยที่เป็นจุดหมายการย้ายสำนักงานระดับรองของรัฐบาลกลาง เพื่อสร้างศูนย์กลางของการไหลเวียนของคน สินค้า เงินทุน และเทคโนโลยี กระจายความเจริญเติบโตสู่ภูมิภาคใกล้เคียง

การก่อสร้างสนามบินนานาชาติต้าซิงเริ่มขึ้นในปี 2556 และเสร็จสิ้นในเดือนมิถุนายน ปี 2562 โดยเตรียมเปิดใช้งานในเดือนกันยายน ปี 2562 เพื่อรองรับการเติบโตของการคมนาคมทางอากาศในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแบ่งเบาความหนาแน่นของเที่ยวบินจากสนามบินนานาชาติกรุงปักกิ่ง (Bejing Capital International Airport) ที่ปริมาณผู้โดยสารเข้า-ออกเกิน 100 ล้านคน ในปี 2561 ในระยะแรก สนามบินนานาชาติต้าซิงมีพื้นที่อาคารผู้โดยสารขนาด 700,000 ตารางเมตร ทางวิ่งเครื่องบิน (Runway) จำนวน 4 ทาง เตรียมรองรับผู้โดยสารจำนวน 45 ล้านคนภายในปี 2564 และ 72 ล้านคนในปี 2568 สำหรับระยะต่อไปจะขยาย Runway เป็น 6 ทาง ภายในปี 2568 ซึ่งจะทำให้ในระยะยาวสนามบินสามารถรองรับผู้โดยสารขั้นต่ำ 100 ล้านคน เที่ยวบินขึ้น-ลง 800,000 เที่ยวต่อปี และพัสดุ 4 ล้านตัน

2. เทคโนโลยีสู่ความเป็นอัจฉริยะของสนามบินนานาชาติต้าซิง

เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 สำนักงานการบินพลเรือนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Civil Aviation Administration of China: CAAC) แถลงข่าวว่า จีนมีเป้าหมายการสร้างสนามบินนานาชาติต้าซิงให้เป็นสนามบินอัจฉริยะต้นแบบแก่สนามบินทั่วโลก เป็นสนามบินที่ปลอดภัย ประสิทธิภาพสูง มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยมุ่งตอบสนองความต้องการของผู้โดยสาร โดยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะติดตั้งในสนามบินนานาชาติต้าซิง ได้แก่

(1) ระบบเทคโนโลยีสแกนใบหน้าตรวจสอบความปลอดภัย โดยระบบสแกนใบหน้าจะเชื่อมโยงเข้ากับระบบข้อมูลคะแนนความน่าเชื่อถือบุคคลของรัฐบาลจีนเพื่อตรวจสอบข้อมูลประจำตัว คะแนนความน่าเชื่อถือ เพื่อเพิ่มความรวดเร็วและความราบรื่นของการผ่านช่องตรวจความปลอดภัย และช่วยให้ผู้โดยสารไม่ต้องใช้เอกสารใดๆ ตลอดกระบวนการ ตั้งแต่การเช็คอินไปจนถึงขึ้นเครื่องบิน

(2) การติดตั้งเครื่องเช็คอินด้วยตนเอง (ความครอบคลุมคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 86) และการเช็คอินสัมภาระด้วยตนเอง (ความครอบคลุมคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 76) โดยจะใช้เทคโนโลยีอุปกรณ์ระบุตัวตนด้วยคลื่นวิทยุ (Radio Frequency Identification: RFID) ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับคลื่น RFID จำนวน 82 ชุด เพื่อติดตามสัมภาระของผู้โดยสารจากชิปที่ติดอยู่บนแถบบาร์โค้ดของสัมภาระ ผู้โดยสารสามารถติดตามข้อมูลตำแหน่งสัมภาระตามเวลาจริง (Real Time Information) จากแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ

(3) การติดตั้งหุ่นยนต์ ประกอบไปด้วยหุ่นยนต์เสมือน (Virtual Robot) 10 เครื่อง และหุ่นยนต์จริง (Physical Robot) อีก 10 เครื่อง เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารเกี่ยวกับข้อมูลเที่ยวบิน บริการและสิ่งอำนวยความสะดวกของสนามบิน รวมถึงข้อมูลการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านการรักษาความปลอดภัย เป็นต้น

(4) ระบบพลังงาน สนามบินนานาชาติต้าซิงจะใช้พลังงานหมุนเวียนกว่า 10% ของปริมาณการใช้พลังงานรวม พลังงานหมุนเวียนที่ใช้ในสนามบินประกอบด้วย

  • พลังงานแสงอาทิตย์ ที่มาจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาสนามบิน อาคารจอดรถ โรงเก็บเครื่องบินส่วนตัว อาคารคลังสินค้า ซึ่งคาดว่าจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 6.1 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ต่อปี
  • พลังงานความร้อนจากใต้ดิน (Ground Source Heat Pump: GSHP) ซึ่งมาจากความร้อนใต้พิภพระดับตื้น นำมาใช้กับระบบทำความร้อนและระบบทำความเย็นของสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆในสนามบิน ซึ่งจะมีสัดส่วนราว 8% ของการใช้พลังงานรวม โดยระบบพลังงานความร้อนจากใต้ดินของสนามบินนานาชาติต้าซิงจะเป็นระบบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจีน สามารถผลิตพลังงานความร้อนได้ 563,600 กิกะจูล (GJ) ซึ่งจะช่วยประหยัดการใช้ก๊าซธรรมชาติประมาณ 1,735.89 ลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นถ่านหินประมาณ 21,078 ตัน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 15,800 ตัน
(photo: businesstraveller)

บทวิเคราะห์ / ข้อคิดเห็น

การสร้างสนามบินนานาชาติต้าซิงมีความสำคัญต่อแผนยุทธศาสตร์พัฒนาความเชื่อมโยงพื้นที่เขตเศรษฐกิจใหม่ Jing-jin-ji ที่รัฐบาลจีนต้องการลดความกระจุกตัวของการพัฒนาในกรุงปักกิ่ง กระจายความเจริญเติบโตสู่เมืองต่างๆ ในมณฑลเหอเป่ย การลงทุนติดตั้งและปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ในสนามบินนานาชาติต้าซิงเพื่อสร้างสนามบินอัจฉริยะที่มีประสิทธิภาพสูงและปลอดภัย ยกระดับความสะดวกสบายและความรวดเร็วของผู้เดินทางสัญจร จะช่วยให้สนามบินนานาชาติต้าซิงมีความพร้อมมากขึ้นในการเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมและการไหลเวียนเงินทุน และเทคโนโลยีในภูมิภาคตอนเหนือของจีน

ที่มา

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]