1. โครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีน

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ทุ่มงบประมาณมหาศาลในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเพื่อก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีอวกาศของโลก หนึ่งในโครงการสำคัญของจีน คือ การสำรวจดวงจันทร์ โดยองค์การอวกาศแห่งชาติของจีน (China National Space Administration: CNSA) ได้ริเริ่มการวิจัยความเป็นไปได้ของการสำรวจดวงจันทร์ตั้งแต่ปี 2537 และต่อมาได้จัดทำโครงการ China Lunar Exploration Project (CLEP) หรือโครงการฉางเอ๋อ (Chang’E) ในปี 2547 โดยตั้งเป้าหมายภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของจีนแบ่งเป็น 3 ระยะ ซึ่งมีความคืบหน้า ดังนี้

  • ระยะที่ 1 “การโคจรรอบดวงจันทร์” ในปี 2550 CNSA ได้ทำการส่งยานสำรวจฉางเอ๋อ 1 ขึ้นโคจรรอบดวงจันทร์ที่ระยะความสูง 2,000 กิโลเมตรจากพื้นผิวดวงจันทร์เป็นเวลา 16 เดือน และส่งข้อมูลการสำรวจดวงจันทร์กลับมายังโลก จากนั้นในปี 2553 ยานฉางเอ๋อ 2 ขึ้นไปโคจรรอบดวงจันทร์ที่ระยะความสูงเพียง 100 กิโลเมตรจากพื้นผิวดวงจันทร์ สามารถทำการสำรวจและเก็บข้อมูลดวงจันทร์ที่ละเอียดยิ่งขึ้น เช่น ภาพสามมิติของแผนที่ดวงจันทร์ แหล่งแร่ธาตุสำคัญของดวงจันทร์ และคุณสมบัติของดินบนผิวดวงจันทร์ เป็นต้น
  • ระยะที่ 2 “การลงจอดบนดวงจันทร์” ในปี 2556 CNSA ได้ส่งยานฉางเอ๋อ 3 ลงจอดบนดวงจันทร์ พร้อมปล่อยหุ่นยนต์สำรวจ Yutu-1 (Jade Rabbit-1) เก็บข้อมูลบนพื้นผิวดวงจันทร์และเก็บข้อมูลภาพหน้าตัดธรณีวิทยาของดวงจันทร์ ซึ่งทำให้พิสูจน์ได้ว่าบนดวงจันทร์ไม่มีน้ำ โดยยานฉางเอ๋อ 3 เป็นยานสำรวจดวงจันทร์ลำแรกที่สามารถทำงานสำรวจบนดวงจันทร์ได้นานถึง 2 ปีกว่า ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2556 ถึงเดือนกรกฎาคม 2559 และล่าสุดในปี 2561 CNSA ได้ส่งยานฉางเอ๋อ 4 พร้อมหุ่นยนต์สำรวจ Yutu-2 ลงจอดบนพื้นผิวด้านไกลของดวงจันทร์ ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของมนุษยชาติในการสำรวจด้านไกลของดวงจันทร์
  • ระยะที่ 3 “การกลับสู่โลก” ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป หากการดำเนินงานราบรื่น CNSA คาดว่าจะสามารถส่งยานสำรวจฉางเอ๋อ 5 ไปลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้ในปี 2562 หรือ 2563 และจะทำการเก็บตัวอย่างดินของดวงจันทร์ส่งกลับมายังโลกเพื่อใช้ศึกษาวิจัยต่อไป

2. ภารกิจของยานฉางเอ๋อ 4

ยานฉางเอ๋อ 4 ได้ออกเดินทางจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมซีชาง (Xichang Satellite Launch Center) มณฑลเสฉวน เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2561 และร่อนลงจอดบนพื้นผิวด้านไกลของดวงจันทร์ในวันที่ 3 มกราคม 2562 พร้อมปล่อยรถสำรวจ Yutu-2 ซึ่งเป็นยานลูกออกมาทำการสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ การปฏิบัติภารกิจของยานฉางเอ๋อ 4 มีความท้าทายอย่างมาก ตำแหน่งที่ยานลงจอดในฝั่งด้านไกลของดวงจันทร์ คือ หลุม Von Kármán ซึ่งเป็นหลุมอุกกาบาตกว้างขนาด 186 กิโลเมตรในแอ่ง South Pole-Aitken Basin ที่ภูมิประเทศเต็มไปด้วยเทือกเขาและหลุมอุกกาบาตจำนวนมาก ต่างจากด้านใกล้ที่ส่วนมากเป็นที่ราบ ทำให้การลงจอดมีความเสี่ยงมากกว่า นอกจากนี้ ยานฉางเอ๋อ 4 ไม่สามารถรับส่งสัญญาณโดยตรงกับทางโลก โดยต้องสื่อสารข้อมูลผ่านดาวเทียมถ่ายทอดสัญญาณเชวี่ยเฉียว (Que Qiao) ที่ถูกส่งขึ้นไปประจำตำแหน่งที่จุดลากรันจ์ 2 ของระหว่างโลกและดวงจันทร์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561

ภารกิจหลักของยานฉางเอ๋อ 4 ได้แก่ การสำรวจและวิจัยคลื่นวิทยุความถี่ต่ำบริเวณด้านไกลของดวงจันทร์ซึ่งปลอดสัญญาณรบกวนความถี่วิทยุจากโลก การสำรวจภูมิประเทศ องค์ประกอบแร่ธาตุ และโครงสร้างพื้นผิวของดวงจันทร์ และการตรวจสอบสภาพแวดล้อมของดวงจันทร์ เช่น การทดลองวัดปริมาณรังสี (ระดับการแผ่รังสีจากนิวตรอน) และนิวตรอนจากยานที่แล่นลงจอดบนดวงจันทร์ ทั้งนี้ นอกจากภารกิจสำรวจดวงจันทร์ ยานฉางเอ๋อ 4 จะทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ซึ่งรวมถึงโครงการทดลองปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์บนดวงจันทร์ โดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยฉงชิ่งและมหาวิทยาลัยในจีนอีก 27 แห่ง ด้วยการเลี้ยงหนอนไหม ปลูกต้นเธลเครส (Thale Cress) และมันฝรั่งในกระป๋องอะลูมิเนียมขนาด 0.8 ลิตรที่บรรจุดิน น้ำ ปุ๋ย และมีช่องที่แสงธรรมชาติจะส่องเข้าถึงได้ เป็นระบบนิเวศน์ขนาดเล็กเพื่อทดลองการสังเคราะห์แสงและการเจริญเติบโตของพืชในสภาพแวดล้อมบนดวงจันทร์ โดยนายหลิว ฮั่นหลง ประธานโครงการทดลองและรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยฉงชิ่งกล่าวว่า “การเลือกพืชสองชนิดนี้ในโครงการทดลอง เนื่องจากช่วงชีวิตของเธลเครสสั้น เหมาะสมต่อการสังเกตการณ์และเก็บข้อมูล ส่วนมันฝรั่งเป็นพืชสำคัญที่อาจเป็นแหล่งอาหารสำหรับมนุษย์อวกาศในอนาคต โครงการทดลองมุ่งวิจัยความรู้พื้นฐานสำหรับการสร้างฐานบนดวงจันทร์เพื่อการอาศัยระยะยาวในอนาคต”

3. การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านอวกาศของจีน

จีนได้สร้างความร่วมมือด้านอวกาศกับนานาประเทศ โดยร่วมมือกับประเทศเยอรมัน สวีเดน เนเธอร์แลนด์ และซาอุดิอาระเบีย ทำการพัฒนาอุปกรณ์การทดลองสำหรับใช้ในภารกิจของยานฉางเอ๋อ 4 และได้ลงนามในเอกสารความตกลงความร่วมมือการสำรวจดวงจันทร์ร่วมกับหน่วยงาน United Nations Office for Outer Space Affairs (UNOOSA) และประเทศตุรกี เอธิโอเปีย และปากีสถาน โดยที่จีนแสดงท่าทีชัดเจนในการเปิดประตูกว้างต่อความร่วมมือระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2562 สำนักข่าว China Daily รายงานทิศทางนโยบายด้านอวกาศของจีนจากบทความ “China’s present and future lunar exploration program” ที่ตีพิมพ์ในวารสารพิเศษเนื่องในวาระครบรอบ 50 การลงจอดบนดวงจันทร์ของยานอพอลโล 11 โดยนายหลี่ ชุนไหล หัวหน้าวิศวกรและผู้อำนวยการฝ่ายระบบวิจัยและการประยุกต์ภาคสนามประจำโครงการฉางเอ๋อ ระบุว่า “โครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีนมีความยืดหยุ่นและต่อเนื่อง จีนมีเป้าหมายการสร้างสถานีวิจัยต้นแบบเพื่อเตรียมส่งมนุษย์ขึ้นไปสำรวจดวงจันทร์ภายในปี 2573 ที่จะสามารถใช้เป็นฐานที่ตั้งในการขึ้นไปบนดวงจันทร์ทั้งสำหรับการวิจัยระยะสั้นและการอยู่อาศัยระยะยาว โดยความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญต่อยุทธศาสตร์การสำรวจดวงจันทร์และอวกาศของจีน จีนยินดีสร้างความร่วมมือกับ NASA โดยอาจเริ่มจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และความตระหนักรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์อวกาศ จีนหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะพัฒนาความร่วมมือกับ NASA เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมของอวกาศสำหรับคนรุ่นต่อไป”

(photo: bloomberg)

บทวิเคราะห์ / ข้อคิดเห็น

ความสำเร็จของยานฉางเอ๋อ 4 ถือเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและการสำรวจอวกาศของจีน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถานะและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของชาติมหาอำนาจทางอวกาศกับจีน ความสำเร็จของจีนอาจนำมาซึ่งการแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศระหว่างชาติมหาอำนาจที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับโครงการสำรวจอวกาศของสหรัฐฯ และรัสเซีย พัฒนาการของจีนยังค่อนข้างช้า ทำให้จีนพยายามสื่อถึงความต้องการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศด้านอวกาศ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การดำเนินงานของจีนสามารถบรรลุเป้าหมายตามแผนการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ที่มา