• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • รู้หรือไม่… ทุเรียนที่จีนนำเข้าทุก 10 ลูก มี 6 ลูกนำเข้าผ่านด่านโหย่วอี้กวานของกว่างซี

รู้หรือไม่… ทุเรียนที่จีนนำเข้าทุก 10 ลูก มี 6 ลูกนำเข้าผ่านด่านโหย่วอี้กวานของกว่างซี

            บรรยากาศด่านทางบกโหย่วอี้กวาน (Youyiguan Border Gate/友谊关口岸) เป็นไปด้วยความคึกคัก รถบรรทุกทุเรียนไทยและเวียดนามรอผ่านพิธีการศุลกากรก่อนกระจายสินค้าไปทั่วประเทศจีน

“ด่านโหย่วอี้กวาน” เป็นช่องทางบกที่ใช้ติดต่อไปมาหาสู่กับอาเซียนที่มีความสะดวกรวดเร็วมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศจีน ตั้งอยู่ในอำเภอระดับเมืองผิงเสียงของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เมืองที่ได้รับการขนานนามเป็น “ประตูเมืองแดนใต้ของจีน” เป็นที่ตั้งของด่านพรมแดนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจีนกับเวียดนาม และเป็นที่ตั้งของด่านที่มีปริมาณการนำเข้า-ส่งออกผลไม้มากที่สุดระหว่างจีนกับอาเซียนด้วย

หนังสือพิมพ์ People Daily ได้รายงานข่าวโดยอ้างอิงสถิติของศุลกากรโหย่วอี้กวาน ระบุว่า ไตรมาสแรก ปี 2566 การนำเข้าทุเรียนผ่านด่านโหย่วอี้กวานขยายตัว 633.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) คิดเป็นสัดส่วน 96% ของทั้งกว่างซี และคิดเป็นสัดส่วน 66.3% ของทั้งประเทศ หรือกล่าวได้ว่า “ทุเรียนที่จีนนำเข้าทุก 10 ลูก มี 6 ลูกนำเข้าผ่านด่านโหย่วอี้กวาน

จากสถิติของสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน บีไอซี มีข้อวิเคราะห์เพิ่มเติมว่า ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา (ม.ค.-มี.ค. 2566) การนำเข้าทุเรียนสดของจีนมีปริมาณ 91,360 ตัน เพิ่มขึ้นราว 154% (YoY) นอกจากทุเรียนไทยแล้ว คะแนนนิยม ‘ทุเรียนญวน’ กำลังตีตื้นขึ้นมา หลังจากที่เวียดนามได้รับ ไฟเขียว ในการส่งออกทุเรียนสดจากรัฐบาลจีนเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา (ยังไม่นับรวม ฟิลิปปินส์ที่เพิ่งคว้าโอกาสทองในการส่งออกทุเรียนสดไปจีนได้แล้ว เมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา)

ในเชิงปริมาณ ตรมาสแรก ปี 2566 ‘ทุเรียนญวน’มีส่วนแบ่งการตลาดถึงเกือบ 30% โดยประเทศจีนนำเข้าทุเรียนจากไทย 63,986 ตัน และนำเข้าจากเวียดนาม 27,373 ตัน ในแง่มูลค่า ทุเรียนไทยมีสัดส่วนเกือบ 74% ของมูลค่ารวมการนำเข้าทุเรียน คิดเป็นมูลค่า 2,581 ล้านหยวน (เวียดนาม 918 ล้านหยวน)

อานิสงส์จากการยกเลิกมาตรการคุมเข้มโควิด-19 ในผลไม้สดที่นำเข้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้  “เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ผงาดกลับขึ้นแท่นเบอร์ 1 ผู้นำเข้าทุเรียนไทยอีกครั้ง” คิดเป็นสัดส่วน 20.36% ของปริมาณนำเข้าทุเรียนไทยทั้งประเทศจีน รองลงมา ได้แก่ นครฉงชิ่ง (19.05%) มณฑลยูนนาน (17.25%) มณฑลเจ้อเจียง (17.06%) และมณฑลกวางตุ้ง (11.60%)

สิ่งที่น่าแปลกใจ คือ การนำเข้าทุเรียนสดจาก “เวียดนาม” พบว่า ผู้นำเข้าทุเรียนรายใหญ่ที่สุดในจีนกลับไม่ใช่เขตฯ กว่างซีจ้วง และมณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นมณฑลที่มีพรมแดนติดเวียดนาม โดยตลาดใหญ่ของ ‘ทุเรียนญวน’ คือ พื้นที่ ‘คนมีสตางค์’ ทางภาคตะวันออกของจีน หรือบริเวณพื้นที่ที่เรียกว่า “เขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซี” (นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจ้อเจียง และมณฑลเจียงซู) ปริมาณการนำเข้าคิดเป็นสัดส่วนราว 46% ของทั้งประเทศ

สถิติการนำเข้าทุเรียนเวียดนาม พบว่า “มณฑลเจ้อเจียง” เป็นผู้นำเข้าทุเรียนรายใหญ่ที่สุดในจีน โดยมีสัดส่วนเกือบ 34% ของปริมาณนำเข้าทุเรียนเวียดนามทั้งประเทศ ตามด้วย เขตฯ กว่างซีจ้วง (22.65%) นครฉงชิ่ง (19.67%) มณฑลกวางตุ้ง (11.63%) มณฑลเจียงซู (10.01%) และนครเซี่ยงไฮ้ (1.4%)

บีไอซี เห็นว่า การแข่งขันของตลาดทุเรียนในจีนจะทวีความเข้มข้นมากขึ้น ท่ามกลางคู่แข่งที่กำลังแข็งแกร่งมากขึ้น ผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุตสาหกรรมทุเรียนไทยต้องเร่งติดตามสถานการณ์การค้าผลไม้ของประเทศคู่แข่ง หาแนวทางรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด โดยเฉพาะในเรื่องยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการของสวนทุเรียนและโรงคัดบรรจุทุเรียนไทยที่จะส่งออกไปจีนให้ได้คุณภาพความปลอดภัย ปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับมาตรฐานด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชในพิธีสารฯ อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของทุเรียนไทยในตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดหลักของทุเรียนไทย

นอกจากการควบคุมคุณภาพของสินค้าแล้ว การพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนใหม่ และสร้างเรื่องเล่า (storytelling) ให้กับทุเรียนสายพันธุ์ใหม่ (และสายพันธุ์เดิมที่คนจีนยังไม่ค่อยรู้จัก) และประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียที่มีอิทธิพลในตลาดจีน ไม่ว่าจะเป็น Tiktok (抖音) / Wechat (微信) / Little Red Book (小红书) และ Weibo (微博) ยังเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยสร้างการรับรู้ในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน ทำให้ทุเรียนไทยยังคงครองแชมป์สินค้ายอดนิยมได้อย่างต่อเนื่อง

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนที่มีต่อทุเรียน นอกจากทุเรียนผลแล้ว ตลาดจีนมีความต้องการทุเรียนแกะเนื้อด้วย โดยมีการนำเนื้อทุเรียนไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารคาวหวานที่หลากหลายด้วย อาทิ เค้ก เครป พิซซ่า ขนมหวาน และเครื่องดื่มที่มีเนื้อทุเรียนเป็นส่วนผสมหลัก จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจในการส่งออกวัตถุดิบ “เนื้อทุเรียน” เพื่อขยายห่วงโซ่อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นอีกสายผลิตภัณฑ์ที่น่าพิจารณาของผู้ประกอบการไทยด้วย

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา
หนังสือพิมพ์ People Daily (人民日报) วันที่ 21 เมษายน 2566
เว็บไซต์
www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่ 21 เมษายน 2566
เว็บไซต์
www.customs.gov.cn

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]