คาด ‘ม้าเหล็กความเร็วสูง’ หนานหนิง-กุ้ยหยาง พร้อมวิ่งในปี 2566 นี้

 

 

ความคืบหน้าล่าสุดของโปรเจกต์ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสาย ‘กุ้ยหนาน’ ที่วิ่งเชื่อมระหว่างนครกุ้ยหยางเมืองเอกของมณฑลกุ้ยโจวกับนครหนานหนิงเมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา งานวางรางรถไฟในส่วนกว่างซีได้ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์แล้ว ถือเป็นการวางรากฐานที่สำคัญให้กับการเปิดวิ่งแบบเต็มเส้นทางที่คาดว่าจะให้บริการได้ภายในสิ้นปี 2566 นี้

            ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสาย ‘กุ้ยหนาน’

  • รถไฟความเร็วสูงสายนี้ได้ชื่อว่าเป็นเส้นทางรถไฟที่มีความยากในก่อสร้างมากที่สุดในโลกเส้นทางหนึ่ง ความท้าทายของงานก่อสร้างอยู่ที่ “สภาพภูมิประเทศ” และ “โครงสร้างทางธรณีวิทยา” ที่มีความสลับซับซ้อน พื้นที่ภูเขาสูง (ผาตั้ง) ในมณฑลกุ้ยโจว และพื้นที่ภูเขา Karst (หินปูน โพรงถ้ำ) ของเขตฯกว่างซีจ้วง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร่องเขาลึกที่ค่อนข้างอันตราย เส้นทางที่เป็นสะพานกับอุโมงค์คิดเป็น 89% ของเส้นทางทั้งหมด นับเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดในโลก
  • เป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง ‘8 แนวตั้ง 8 แนวนอน’ ในเส้นทางสูงเปาโถว (เขตฯ มองโกเลียใน) – ไห่หนาน ภายใต้ “แผนงานพัฒนาโครงข่ายรถไฟระยะกลาง-ระยะยาว” (ปี 2559-2573)
  • เป็นรถไฟความเร็วสูงเส้นทางแรกของกว่างซีที่ได้รับการออกแบบให้วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เงินลงทุน 75,760 ล้านหยวน ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 6 ปี
  • เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อเดือนธันวาคม 2560 เป็นรถไฟรางคู่ ระยะทางยาว 482 กิโลเมตร เป็นระยะทางในเขตฯ กว่างซีจ้วง 282 กิโลเมตร และในมณฑลกุ้ยโจวอีก 199 กิโลเมตร มีทั้งหมด 14 สถานี ช่วงเส้นทางในกว่างซี ต้องสร้างสะพานมากกว่า 110 แห่ง เจาะอุโมงค์ 45 แห่ง คิดเป็น 90.3% ของเส้นทางในกว่างซี
  • ช่วงเส้นทางในกว่างซี เริ่มวางรางรถไฟจ้วงเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 เป็นทางรถไฟคู่แบบไม่ใช้หินโรยทาง (Double-Block Ballastless Track) มีบริษัท China Railway No.14 (中国铁路十四局) เป็นผู้รับผิดชอบงานวางรางรถไฟ รวมความยาว 597 กิโลเมตร หมอนรองรางรถไฟแบบ Double-Block89 แสนท่อน
  • ช่วงเส้นทางในกว่างซี งานวางรางรถไฟได้ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์แล้วเมื่อเดือนต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการตรวจรับงานเบื้องต้น (Static Acceptance) ก่อนดำเนินการทดสอบระบบและทดลองวิ่งในระยะต่อไป

 

รถไฟความเร็วสูงสาย ‘กุ้ยหนาน’ สำคัญขนาดไหน เมื่อเส้นทางรถไฟสายดังกล่าวเปิดใช้งาน นั่นหมายความว่า 14 เมืองในกว่างซีจะมีโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมถึงกันทุกเมือง โดย “เมืองเหอฉือ” เมืองทางภาคเหนือของกว่างซีเป็นเมืองสุดท้ายของกว่างซีที่มีรถไฟความเร็วสูงใช้ ซึ่งจะช่วยร่นเวลาการเดินทางระหว่างเมืองเหอฉือ-นครหนานหนิงเหลือเพียง 1 ชั่วโมง

ที่สำคัญ เป็นการพลิกโฉมการเดินระหว่างเมืองเอกของสองมณฑลในจีนตะวันตกให้เหลือเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น จากปัจจุบันที่การเดินทางด้วยรถไฟระหว่างนครหนานหนิง-นครกุ้ยหยาง (1) รถไฟธรรมดา วิ่งตรงใช้เวลามากกว่า 11 ชั่วโมง และ (2) รถไฟความเร็วสูงที่ต้องเปลี่ยนเที่ยวขบวนที่เมืองกุ้ยหลิน ใช้เวลามากกว่า 5 ชั่วโมง

รถไฟเส้นทางดังกล่าวเป็นหนึ่งในเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่ข้างทางมีทัศนียภาพงดงามมากที่สุดสายหนึ่งในจีน และจะมีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่จีนตะวันตกแบบรอบด้าน ช่วยนำความเจริญสู่พื้นที่ห่างไกลและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคมในพื้นที่ที่มีชนชาติส่วนน้อยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ช่วยพัฒนาการท่องเที่ยว ช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนจากการสร้างงานสร้างอาชีพในพื้นที่ชนบท

 

 

จัดทำโดย : นายกฤษณะสุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา
: เว็บไซต์ http://gx.news.cn (广西新闻网)  วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566
เว็บไซต์
http://m.news.cntv.cn  (央视新闻客户端) วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566
        เว็บไซต์ www.sasac.gov.cn (国资委) วันที่ 07 กุมภาพันธ์ 2566
เครดิตภาพ www.xinhuathai.com และ https://m.thepaper.cn

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]