• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • นครหนานหนิงเร่งขยายสนามบิน ลงเสาอาคารผู้โดยสาร T3 และขยายธุรกิจขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

นครหนานหนิงเร่งขยายสนามบิน ลงเสาอาคารผู้โดยสาร T3 และขยายธุรกิจขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2566 นครหนานหนิงได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 (T3) และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องของท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง (เรียกสั้นๆว่า สนามบินหนานหนิง)

ตามรายงาน โครงการดังกล่าวมีมูลค่าการลงทุน 19,800 ล้านหยวน พื้นที่ก่อสร้าง 4.32 แสน ตร.ม. อาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ (T3) มีศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 34 ล้านคนครั้ง คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2570) เมื่อแล้วเสร็จ จะช่วยให้สนามบินหนานหนิงรองรับผู้โดยสารได้ 50 ล้านคนครั้ง

ตัวอาคารได้รับออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของ ‘ชนชาติจ้วง’ ซึ่งเป็นชนชาติส่วนน้อยกลุ่มใหญ่ในเขตฯ กว่างซีจ้วง ซึ่งล้อกับอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 (T2) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่มีขนาดใหญ่กว่า ภายในตัวอาคารมี Observation Deck ซึ่งเป็นจุดชมวิวเครื่องบินและทัศนียภาพของสนามบิน

นอกจากนี้ อาคารผู้โดยสาร T3 ได้รับการออกแบบให้มีจำนวนประตูทางออกขึ้นเครื่อง (Gate) 63 ช่อง เป็นประตูทางออกที่เชื่อมต่อกับหลุมจอดประชิดอาคารมากกว่า 80% ของประตูทางออกทั้งหมด ระยะทางจากจุดตรวจค้นเพื่อการรักษาความปลอดภัยของสนามบิน (Security Screening Point) ถึงประตูทางออกขึ้นเครื่องที่ใกล้ที่สุดมีระยะห่างเพียง 110 เมตร และประตูทางออกขึ้นเครื่องกว่า 70% มีระยะห่างจากจุดตรวจค้นไม่เกิน 600 เมตร ภายในอาคาร T3 ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน รวมถึงผู้พิการ แม่และเด็ก

บริเวณชั้นผู้โดยสารขาออกและชั้นใต้ดินมีจุดเช็คอินและจุดตรวจค้นเพื่อการรักษาความปลอดภัยของสนามบินแยกกันเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร เมื่อปีที่แล้ว สนามบินหนานหนิงได้เปิดใช้งาน “ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน” หรือ Ground Transportation Center (GTC) ซึ่งอยู่บริเวณชั้นใต้ดินของสนามบิน ซึ่งเป็นจุดให้บริการขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบ ณ จุดเดียว นั่นหมายความว่า ผู้โดยสารที่เดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าใต้ดิน และรถขนส่งสาธารณะ สามารถเช็คอินและผ่านจุดตรวจค้นที่ชั้นใต้ดินเพื่อเข้าไปภายในอาคารผู้โดยสารขาออกได้โดยตรง

ในส่วนของผู้โดยสารระหว่างประเทศ ภายในอาคาร T3 ได้แยกพื้นที่สำหรับผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ และแยกระบบปรับอากาศจากพื้นที่ส่วนอื่น ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการแยกกักกันผู้โดยสารจากต่างประเทศในตัว เป็นการสร้างหลักประกันด้านสุขภาพให้กับผู้โดยสารที่ใช้สนามบินหนานหนิง

นอกจากนี้ อาคารผู้โดยสาร T3 ยังใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร เช่น การเช็คอินด้วยการวิธีการแตะบัตรประจำตัวประชาชน หรือวิธีการสแกนใบหน้า การส่งเสริมแนวคิด ‘หลังคาเขียว’เพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ และระบบกักเก็บน้ำฝนเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กรมคมนาคมขนส่งเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ได้ประกาศ “แผนการพัฒนาศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศหนานหนิง ระหว่างปี 2565-2093” โดยมีการกำหนดเป้าหมาย ดังนี้

  • ในปี 2568 สนามบินหนานหนิงจะมีพื้นที่ขนถ่ายสินค้า 1.4 แสน ตร.ม. โดยแบ่งพื้นที่ขนถ่ายสินค้าฝั่งเหนือเป็นสถานีสินค้าระหว่างประเทศ ปริมาณขนถ่ายสินค้าอยู่ที่ 3 – 3.5 แสนตัน แบ่งเป็นสินค้าระหว่างประเทศ 1.3 – 1.5 แสนตัน มีเส้นทางขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศที่เป็น All Cargo Flight มากกว่า 12 เส้นทาง โดยครอบคลุมเมืองสำคัญในประเทศสมาชิกอาเซียน และเน้นสินค้าสดและมีชีวิต และสินค้าที่ซื้อขายผ่านแพลตฟอร์ม Cross border e-Commerce เป็นหลัก เพื่อพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กระจายสินค้าสด สินค้ามีชีวิต และสินค้าห่วงโซ่ความเย็น และศูนย์กระจายสินค้า Cross border e-Commerce
  • ในปี 2578 สนามบินหนานหนิงจะมีพื้นที่ขนถ่ายสินค้า 3.1 แสน ตร.ม. ปริมาณขนถ่ายสินค้าอยู่ที่ – -1.1 ล้านตัน แบ่งเป็นสินค้าระหว่างประเทศ  5 – 6 แสนตัน เพิ่มความถี่ของเที่ยวบินไปยังประเทศสมาชิกอาเซียน และขยายเส้นทางบินไปยังประเทศอื่นในเอเชียแปซิฟิก
  • ในปี 2593 สนามบินหนานหนิงจะมีพื้นที่ขนถ่ายสินค้า 5.9 แสน ตร.ม. ปริมาณขนถ่ายสินค้าอยู่ที่ 2 ล้านตัน แบ่งเป็นสินค้าระหว่างประเทศ 9 แสนตัน เป็นโครงข่ายศูนย์กลางเส้นทางบินในเอเชียแปซิฟิก และขยายเส้นทางบินไปยังฝั่งยุโรปและอเมริกา

นอกจากนี้ ในแผนงานฯ ยังระบุถึง การส่งเสริมธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ การพัฒนาโมเดลงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multi-modal Transportation) การพัฒนางานขนส่งและกระจายสินค้าระหว่างบกกับอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง การพัฒนาขีดความสามารถในการจัดหาแหล่งสินค้าเพื่อส่งเสริมการพัฒนางานขนส่งสินค้าทางอากาศของสนามบินให้เติบโตอย่างยั่งยืน และการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่าง IoT และ Cloud Computing มาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับประสิทธิภาพงานขนส่งสินค้าสู่ความเป็นอัจฉริยะ

 

 

 

จัดทำโดย : นายกฤษณะสุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา
: เว็บไซต์ www.nnnews.net (南宁新闻网)  วันที่ 09 มกราคม 2566
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (
中国新闻网)  วันที่ 08 และ 09 มกราคม 2566
เว็บไซต์
http://gx.news.cn (广西新闻网)  วันที่ 05 และ 09 มกราคม 2566
หนังสือพิมพ์หนานหนิง อีฟนิ่ง (
南宁晚报) วันที่ 05 และ 09 มกราคม 2566

ที่มา : https://thaibizchina.com/

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]