รัฐบาลกว่างซี โดยกรมพาณิชย์กว่างซี สานต่อแคมเปญกระตุ้นการใช้จ่าย สำหรับปีนี้ แคมเปญดังกล่าวกำหนดจัดขึ้นระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน 2566 ภายใต้ธีมหลัก “ช้อปสนุกทุกระดับ” ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการขายน้อยใหญ่มากกว่า 800 กิจกรรม พร้อมแจกคูปองแทนเงินสดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากกว่า 2 ล้านใบและเงินอุดหนุน (ซื้อรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อให้ผู้บริโภคนำไปใช้จ่ายที่ร้านค้าออฟไลน์และออนไลน์ในช่วงสุดสัปดาห์และเทศกาลสำคัญของจีน

ข้อมูล ณ วันที่ 23 พฤษภาคม ได้จัดกิจกรรมกระตุ้นการใช้จ่ายไปแล้วกว่า 500 กิจกรรม แจกคูปองแทนเงินสดไปแล้ว 1 ล้านใบ มีร้านค้าที่เข้าร่วมรายการ 600,000 ราย กระตุ้นการบริโภคทางตรง เช่น การค้าปลีกและอาหารและเครื่องดื่ม เกือบ 3,000 ล้านหยวน และขับเคลื่อนการบริโภคทางอ้อมเกือบ 40,000 ล้านหยวน / เฉพาะเดือนเมษายน 2566 ยอดจำหน่ายรถยนต์ในกว่างซีเพิ่มขึ้น 22.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี (YoY) ยอดขายเพิ่มขึ้น 33.5% (YoY)

ล่าสุด ระหว่างวันที่ 26 – 27 พฤษภาคม 2566 กว่างซีได้จัดแคมเปญ(ย่อย)เพื่อส่งเสริมการจำหน่ายสินค้านำเข้าจากประเทศสมาชิกอาเซียน ภายใต้ธีม “ช้อปสนุก(สินค้า)อาเซียน คุณภาพชีวิตที่เหนือระดับ” ที่ศูนย์รวมสินค้าโดดเด่นจีน-อาเซียน หรือที่เรียกสั้นๆว่า CAMEX (China-ASEAN Mercantile Exchange Center/中国—东盟特色商品汇聚中心) เป็นการเติม ASEAN Element เพื่อสร้างสีสันให้กับกิจกรรมกระตุ้นการใช้จ่าย และส่งเสริมให้กว่างซีเป็น ‘ชุมทาง’ ของสินค้าอาเซียนในการกระจายเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคทั่วจีน

กิจกรรมย่อยในแคมเปญดังกล่าว อาทิ การจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ผลิตกับผู้จัดจำหน่ายสินค้าอาเซียน (ธุรกิจ 13 ราย เซ็นต์สัญญามูลค่ารวม 120 ล้านหยวน) การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าอาเซียน (25 บูธ) และการไลฟ์สดขายสินค้าอาเซียน เพื่อส่งเสริมการนำเข้าสินค้าจากประเทศสมาชิกอาเซียนและการส่งออกสินค้าของกว่างซี โดยทุเรียนไทย เวียดนามและมาเลเซีย รวมถึงรังนกมาเลเซีย(ที่แปรรูปในสวนอุตสาหกรรมรังนกในนิคมอุตสาหกรรมจีน(ชินโจว)-มาเลเซีย) ได้รับความสนใจมาเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังมีบะหมี่ไก่อินโดนีเซีย ข้าวหอมและเม็ดมะม่วงหิมพานต์กัมพูชา เบียร์ลาว มะม่วงอบแห้งเวียดนาม และสินค้าหัตถกรรมเมียนมา เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าที่ตนเองชื่นชอบได้แบบ “ช้อปครบจบที่เดียว”

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลายปีมานี้ แคมเปญกระตุ้นการใช้จ่ายได้ให้ความสำคัญกับสินค้าอาเซียนมาโดยตลอด อย่างในปี 2565 ที่ผ่านมา กว่างซีได้จัดแคมเปญ(ย่อย) ภายใต้ธีม “หนึ่งประเทศอาเซียน หนึ่งผลิตภัณฑ์” และได้เชิญบรรดากงสุลใหญ่อาเซียนประจำนครหนานหนิงไปร่วมสร้างสีสันผ่านการไลฟ์สดขายสินค้าของประเทศตนเองด้วย จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการอาเซียน(ไทย)ในการประชาสัมพันธ์และนำสินค้าไปทดลองตลาดผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเขตฯ กว่างซีจ้วง รวมถึงการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม— “ศูนย์ CAMEX” เพื่อต่อยอดการทำตลาดสินค้าในประเทศจีนได้อีกด้วย

บีไอซี ขอนำท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับ “ศูนย์ CAMEX”  ซึ่งได้รับการวาง positioning ให้เป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่จะเป็น ‘จุดเริ่มต้น’ ของผู้ประกอบการอาเซียน(ไทย)ที่จะนำสินค้าและบริการของตนไปบุกตลาดจีน โดยเฉพาะสินค้าศักยภาพ สินค้าแบรนด์ และสินค้าโอท็อปพรีเมี่ยม โดยโครงการเฟสแรกได้เปิดตัว “หอแสดงสินค้า” (pavilion) ของชาติสมาชิก RCEP ไปแล้วในช่วงก่อนงาน China-ASEAN Expo ในปี 2565 ที่ผ่านมา

ศูนย์ CAMEX เป็นหนึ่งในโครงการที่ตั้งอยู่ใน “สวนโลจิสติกส์ระหว่างประเทศจีน(หนานหนิง)-สิงคโปร์” เรียกสั้นๆ ว่า CSILP) ในเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง นครหนานหนิง เน้นการจัดแสดงสินค้าในรูปแบบผสมผสานระหว่าง Online กับ Offline การค้าอีคอมเมิร์ซข้ามแดน (Cross Border e-Commerce) โลจิสติกส์ระหว่างประเทศ หอแสดงสินค้า การค้าทางดิจิทัล และการบริการด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

ที่สำคัญ! ศูนย์ CAMEX แห่งนี้ใช้เป็นสถานที่ต่อยอดการจัด “งาน China-ASEAN Expo” แบบไม่มีวันปิดฉาก หมายความว่า… หลังปิดงาน China-ASEAN Expo แล้ว สินค้าต่างชาติที่นำมาเข้าร่วมงานฯ สามารถนำไปจัดแสดงหรือจำหน่ายต่อที่ “ศูนย์ CAMEX” ได้นั่นเอง เป็นการช่วยต่อยอดธุรกิจและสร้างโอกาสในการ “จับคู่ธุรกิจ” ให้กับคู่ค้าสองฝ่ายได้มากยิ่งขึ้น

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า… ศูนย์ CAMEX เปิดพื้นที่ให้โชว์และขายสินค้าทั้ง Offline และ Online ในส่วนของ “หอแสดงสินค้า” ทางศูนย์ CAMEX ได้เปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการนำสินค้าไปจัดแสดงและจำหน่ายได้ และวัตถุประสงค์ที่สำคัญอีกอย่างของการที่ต้องทำ Offline คือ การต่อยอดและจับคู่ธุรกิจ โดยนักธุรกิจทั่วจีนสามารถมาเสาะหาสินค้า หรือมาติดต่อซื้อขาย หรือเป็นตัวแทนขายสินค้าอาเซียน(ไทย) ได้ที่นี่!!

ศูนย์ CAMEX น่าจะเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มสำคัญที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนโอกาสทางการค้า และยกระดับขีดความสามารถของสินค้าและบริการระดับคุณภาพของไทยในตลาดจีนได้ โดยเฉพาะ Creative economy ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ แฟชั่นและเครื่องประดับ ศิลปะและงานฝีมือ Health & Wellness สินค้า OTOP พรีเมี่ยม Thai Hospitality ตลอดจนการวิจัยพัฒนาและเทคโนโลยี และการศึกษา เพื่อให้นักธุรกิจจีนสามารถเข้าชมและสามารถติดต่อกับผู้ประกอบการไทยได้

 

 

จัดทำโดย : นางสาวหยาง อีเต๋ นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี
เรียบเรียงโดย  : นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา :   เว็บไซต์ http://www.gx.xinhuanet.com (新华网) วันที่ 27 พฤษภาคม 2566 และ 20 มีนาคม 2566
             หนังสือพิมพ์ Guangxi Daily (广西日报) วันที่ 24 พฤษภาคม 2566

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/