• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ท่าเรือฝางเฉิงก่างพลิกโฉมงานขนส่งสินค้าทางรถไฟในท่าเรือสู่ “เส้นทางอัจฉริยะ” ต้นแบบการเรียนรู้ของท่าเรือในประเทศไทย – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ท่าเรือฝางเฉิงก่างพลิกโฉมงานขนส่งสินค้าทางรถไฟในท่าเรือสู่ “เส้นทางอัจฉริยะ” ต้นแบบการเรียนรู้ของท่าเรือในประเทศไทย – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

กล่าวได้ว่า หลายปีมานี้ กลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี หรือคนไทยเรียกว่า “อ่าวตังเกี๋ย” ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มท่าเรือน้องใหม่ในจีนที่มีพลวัตทางเศรษฐกิจสูง ด้วยอานิสงส์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของมณฑลในจีนตะวันตกที่ช่วยขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศ และนำมาซึ่งยุทธศาสตร์การพัฒนาระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งใหม่ หรือ ILSTC (New International Land and Sea Trade Corridor) กับโมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “เรือ+ราง” (Multimodal Transportation)  ซึ่งมีท่าเรืออ่าวเป่ยปู้เป็น ‘ข้อต่อ’ ตัวสำคัญ

กลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี ประกอบด้วย 3 ท่าเรือ นอกจากท่าเรือชินโจวที่ค่อนข้างคุ้นหูกันแล้ว ยังมีท่าเรือเป๋ยไห่ และท่าเรือฝางเฉิงก่าง โดยรัฐบาลกว่างซีได้แบ่งหน้าที่ตามความถนัดให้กับแต่ละท่าเรือ ในข่าวฉบับนี้ บีไอซีจะขอนำท่านผู้อ่านไปจับตามองพัฒนาการใหม่ของ ท่าเรือฝางเฉิงก่าง

ท่าเรือฝางเฉิงก่าง ได้รับการกำหนดฟังก์ชันให้เป็นท่าเรือหลักในการขนถ่ายสินค้าโภคภัณฑ์ (แร่โลหะนอกกลุ่มเหล็ก แร่เหล็ก ถ่านหิน วัสดุก่อสร้าง ซัลเฟอร์ และปุ๋ยเคมี) และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่เย็นแช่แข็ง ทั้งนี้ หากคิดตามน้ำหนัก ท่าเรือฝางเฉิงก่างเป็นท่าเรือที่มีปริมาณการขนส่งสินค้ามากที่สุดในกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ท่าเรือฝางเฉิงก่างได้เร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าภายในท่าเรือมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “เรือ+ราง” เพื่อรองรับปริมาณสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หลังจากที่เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ท่าเรือฝางเฉิงก่าง ได้เริ่มใช้งานลานตู้คอนเทนเนอร์อัตโนมัติในท่าเทียบเรือหมายเลข 513 เป็นลานตู้สินค้าอัจฉริยะแห่งแรกของกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ ใช้ระบบเครนขนถ่ายตู้สินค้าอัจฉริยะ เชื่อมโยงกับระบบประตูไม้กั้นเข้า-ออกท่าเทียบเรือแบบอัจฉริยะ (ท่าเรือชินโจว เริ่มใช้งานท่าเทียบเรืออัจฉริยะเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2566 ท่าเรือฝางเฉิงก่างได้สร้างปรากฎการณ์ใหม่ โดยการเปิดใช้งาน “ศูนย์ควบคุมสั่งการระบบรางอัจฉริยะ” (铁路智慧调度中心) หรือ Command Center ในท่าเรือเป็นแห่งแรกของกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้

ศูนย์ควบคุมสั่งการระบบรางอัจฉริยะตั้งอยู่ในย่านสับเปลี่ยนรางรถไฟที่ 1 (Rail Yard)ในสถานีรถไฟท่าเรือฝางเฉิงก่าง สามารถควบคุมสั่งการการทำงานด้วยระบบอัจฉริยะไปยังอาคารสับเปลี่ยนรางรถไฟที่ 1 และ 2 อาคารอาณัติสัญญาณรถไฟ และอาคารควบคุมกลางจุดตัดทางรถไฟ ซึ่งจะช่วยประหยัดกำลังคนและลดภาระจากกระบวนการทำงาน (manual work) และเสริมประสิทธิภาพการทำงานด้านการขนส่งสินค้าทางรถไฟภายในท่าเรือให้สูงขึ้นอีกมาก

ความก้าวล้ำของเทคโนโลยีการควบคุมสั่งการระบบรางอัจฉริยะในสถานีรถไฟท่าเรือฝางเฉิงก่าง คือ การรวมศูนย์การทำงานของระบบอัจฉริยะหลายระบบไว้ด้วยกัน อาทิระบบการบังคับสัมพันธ์ด้วยคอมพิวเตอร์ (Computer-Based InterlockingSystem – CBI) ระบบตรวจสอบควบคุมการสั่งการแบบไร้สาย (Shunting Train ProtectionSystem – STP) ระบบควบคุมจุดตัดทางรถไฟระยะไกลแบบรวมศูนย์  ระบบตรวจจับและอ่านเลขขบวนและโบกี้รถไฟอัตโนมัติ (Train Number Recognition System) รวมถึงระบบชั่งน้ำหนักรถไฟโดยระบบดังกล่าวพร้อมเชื่อมโยงกับย่านสับเปลี่ยนรางรถไฟที่ 3 ด้วย (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง)

ศูนย์ดังกล่าวสามารถบริหารจัดการหัวรถจักร จัดทำแผนการจัดขบวนรถไฟ รวมทั้งการสับเปลี่ยนขบวนแบบอัตโนมัติผ่านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(AI)การเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่(Big DataAnalytics)

หากเปรียบเทียบกับระบบเดิม (Manual work) แล้ว ระบบนี้ช่วยประหยัดแรงงาน เพิ่มผลิตภาพ หลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากความผิดพลาดในการสับเปลี่ยนขบวนด้วยคน เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรและใช้งานหัวรถจักรและการสับเปลี่ยนขบวนรถไฟ

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน รัฐบาลกว่างซี(จีน)ให้ความสำคัญกับระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระบบงานขนส่งต่างๆ เข้ากับ “ระบบราง” ซึ่งมีต้นทุนต่ำ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีโครงข่ายครอบคลุมทั่วทั้งประเทศจีน

ปัจจุบัน เมืองฝางเฉิงก่างมีเส้นทางรถไฟลำเลียงสินค้าหลากหลายเส้นทาง ซึ่งรวมถึงขบวนรถไฟขนส่งสินค้าสดและแช่เย็นด้วย เชื่อว่า ผู้ค้าจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาและยกระดับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ที่เกิดขึ้นภายในท่าเรือฝางเฉิงก่างไม่มากก็น้อย รวมถึงผู้ค้าไทยด้วย

การค้าระหว่างเมืองฝางเฉิงก่างกับประเทศไทย ที่ผ่านมาพบว่า เมืองฝางเฉิงก่างมีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทย (ทุเรียน ลำไย มังคุด สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง ปลาดาบแช่แข็ง)และมีการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปไทย (กรดฟอสฟอริกเกรดอาหาร โปรตีนเข้มข้น เคมีภัณฑ์ ซัลเฟอร์)

ในบริบทที่ประเทศไทยก็กำลังส่งเสริมการพัฒนาและยกระดับระบบงานขนส่งทางราง (อย่างโครงการศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟในท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 และการเปิดใช้เส้นทางขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟท่าเรือแหลมฉบังเชื่อมท่าเรือกรุงเทพ)บีไอซี เห็นว่า ศูนย์ควบคุมสั่งการระบบรางอัจฉริยะของสถานีรถไฟท่าเรือฝางเฉิงก่างสามารถเป็นต้นแบบการเรียนรู้ของท่าเรือสำคัญในประเทศไทย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยสามารถแสวงหาความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านวิชาการและการถ่ายทอดเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์กับท่าเรือฝางเฉิงก่าง ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างสองฝ่ายได้ในอนาคต

 

 

จัดทำโดย : นางสาวฉิน อวี้อิ๋ง  ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา  เว็บไซต์ www.chinanews.com.cn(中新网) วันที่ 02 สิงหาคม2566
       เว็บไซต์ http://nanning.customs.gov.cn(南宁海关) วันที่ 30 มิถุนายน 2566
ภาพประกอบ Wechat Official Account – Guangxi Caijing by Guangxi TV

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]