• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ดันเมืองชายแดนยูนนาน-เมียนมาเป็นศูนย์กลางการขนส่งหลากหลายรูปแบบ “ราง-ถนน-ทะเล” – thaibizchina

ดันเมืองชายแดนยูนนาน-เมียนมาเป็นศูนย์กลางการขนส่งหลากหลายรูปแบบ “ราง-ถนน-ทะเล” – thaibizchina

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าบรรทุกแร่เหล็กจากเมียนมา 32 ตู้ รวมกว่า 1,000 ตัน ได้ออกเดินทางจากสถานีรถไฟขนส่งสินค้า ผูเผี่ยวในเมืองเป่าซาน ใช้เวลาขนส่ง 2 วัน ไปยังสถานีรถไฟขนส่งสินค้าเฉิงเซียงในนครเฉิงตู นับเป็นการเปิดใช้เส้นทางการขนส่งหลากหลายรูปแบบ “ถนน-ราง” เมียนมา-เถิงชง-เป่าซาน-เฉิงตู เป็นครั้งแรก ทั้งนี้ สินค้าทั้งหมดถูกขนส่งโดยรถยนต์ออกจากเมืองมัณฑะเลย์ ของเมียนมาเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2566 เข้าสู่จีน     ที่ด่านโหวเฉียวในเมืองระดับอำเภอเถิงชงของเมืองเป่าซาน จากนั้น จึงเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งเป็นระบบรางที่สถานีรถไฟขนส่งสินค้าผูเผี่ยวเพื่อขนส่งโดยรถไฟไปยังนครเฉิงตู รวมระยะทางกว่า 2,300 กิโลเมตร ใช้เวลาขนส่งประมาณ 5-7 วัน

เส้นทางดังกล่าวนับเป็นเส้นทางการขนส่งหลากหลายรูปแบบ “จีน-เมียนมา” เส้นทางที่ 3 ถัดจากเส้นทางที่ 1 ซึ่งเป็นการขนส่งสินค้าหลากหลายรูปแบบ “ทะเล-ถนน-ราง” ผ่านเส้นทาง “สิงคโปร์-เมียนมา (ท่าเรือย่างกุ้ง)-ด่านชิงสุ่ยเหอ-สถานีรถไฟหลินชาง-เฉิงตู” โดยมีการทดลองขนส่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 จากนั้น ได้ขยายเส้นทางการขนส่งหลากหลายรูปแบบครอบคลุมเส้นทาง “ฉงชิ่ง-หลินชาง-เมียนมา” “เฉิงตู (เต๋อหยาง)-หลินชาง-เมียนมา” และ “เซินเจิ้น-หลินชาง-ท่าเรือย่างกุ้ง-อินเดีย” แล้ว

ขณะที่เส้นทางที่ 2 เป็นการขนส่งสินค้าหลากหลายรูปแบบ “ราง-ถนน” ผ่านเส้นทาง “ฉงชิ่ง-สถานีรถไฟเป่าซาน-ด่านรุ่ยลี่-เมียนมา” ซึ่งเปิดทดลองขนส่งเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566 โดยบรรจุปุ๋ยเคมีและอะไหล่รถจักรยานยนต์ น้ำหนักประมาณ 600 ตัน มูลค่ากว่า 16 ล้านหยวน บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุด จำนวน 32 ตู้ จากศูนย์โลจิสต์รถไฟ   เสี่ยวหนานย่า (สถานีรถไฟเสี่ยวหนานย่า) ในนครฉงชิ่ง จนถึงสถานีรถไฟเป่าซานในมณฑลยูนนาน จากนั้นจึงเปลี่ยนถ่ายใช้รถบรรทุกขนส่งผ่านด่านรุ่ยลี่เพื่อส่งออกไปยังเมียนมา

เส้นทางการขนส่งหลากหลายรูปแบบ “จีน-เมียนมา” ทั้ง 3 เส้นทางข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ระเบียงการค้าบก-ทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor: NILSTC) ภายใต้กรอบความร่วมมือ “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา” (China-Myanmar Economic Corridor: CMEC) เพื่อเปลี่ยนมณฑลยูนนานซึ่งเป็นมณฑลตอนในของจีนให้เป็นศูนย์กลางของเส้นทางการขนส่งหลากหลายรูปแบบผ่านเมียนมาเชื่อมมหาสมุทรอินเดีย โดยในอนาคต มณฑลยูนนานยังมีแผนขยายเส้นทางรถไฟ “คุนหมิง-หลินชาง” จากสถานีหลินชางไปถึงด่านชิงสุ่ยเหอติดชายแดนเมียนมา และขยายเส้นทางรถไฟ “คุนหมิง-เป่าซาน” จากสถานีเป่าซานไปถึงด่านรุ่ยลี่และด่านโหวเฉียว ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟ “คุนหมิง-เป่าซาน-รุ่ยลี่” ที่จะเป็นจุดเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟจีน-เมียนมา “รุ่ยลี่-มัณฑะเลย์-ท่าเรือจ้าวผิวก์” และ “รุ่ยลี่-มัณฑะเลย์-ย่างกุ้ง” ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ โดยหากโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จ ก็จะเป็นการเปิดประตูด้านตะวันตกของมณฑลยูนนานสู่มหาสมุทรอินเดียอย่างสมบูรณ์ในอนาคต

ที่มา: https://mp.weixin.qq.com/s/hLzs4xjWKC9C2lwS4qo0TQ
https://mp.weixin.qq.com/s/F9JBWunEA7gl690vStVqMA
https://mp.weixin.qq.com/s/nqCEtwS8bLb6yA2gig1zTA

ยูนนาน เมียนมา รถไฟ ขนส่งสินค้า

webmaster

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ที่มา : https://thaibizchina.com/

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]