รถไฟฉางซา-ยุโรปคึกคัก ติด Top 5 เส้นทางศักยภาพ รถไฟจีน-ยุโรปสองปีซ้อน

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 รถไฟขนส่งสินค้าฉางซา-ยุโรปเดินรถไปแล้ว 781 เที่ยว เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 84 และในช่วงปี 2562-2563 ยังติด Top 5 เส้นทางศักยภาพรถไฟจีน-ยุโรปสองปีซ้อน

รถไฟฉางซา-ยุโรปเปิดดำเนินการครั้งแรกในปี 2557 ต่อมา ในปี 2561 รัฐบาลนครฉางซาได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับบริษัท Sinotrans เพื่อจัดตั้งบริษัท Central South China International Land Port จำกัด ให้เป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินงานทั้งหมดของรถไฟฉางซา-ยุโรป รวมถึงทำหน้าที่ส่งเสริมให้รถไฟฉางซา-ยุโรปเกิดการพัฒนาอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน การดำเนินงานของบริษัท Central South China International Land Port จำกัด ในช่วงปี 2562-2563 นอกจากจะมีปริมาณการเดินรถมากกว่าการดำเนินงานในช่วง 5 ปีก่อนหน้า (ปี 2557-2561) แล้ว สินค้าที่ขนส่งยังมีความหลากหลายเพิ่มขึ้นจากเดิม สำหรับสินค้าส่งออกที่สำคัญของมณฑล ได้แก่ เครื่องจักรและชิ้นส่วนเครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า อะไหล่รถยนต์ และรองเท้า โดยในปี 2563 รถไฟฉางซา-ยุโรปขนส่งสินค้ารวมมูลค่า 1,138 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 119.92

ในส่วนของเส้นทางการขนส่งก็ขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งฝั่งขาไปและฝั่งขากลับ ปัจจุบัน นครฉางซามีเส้นทางขนส่งไปยังหลายเมืองในยุโรปและเอเชียกลางกว่า 10 เส้นทาง เช่น มอสโก มินสก์ Malashevich บูดาเปสต์ ฮัมบูร์ก ทาชเคนต์ และอัลมาตี ซึ่งตามปกติการเดินรถจะอยู่ที่ 30-35 เที่ยวต่อสัปดาห์ โดยสาเหตุที่ทำให้รถไฟฉางซา-ยุโรปได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นแม้จะเป็นช่วงที่ทั่วโลกยังคงเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องมาจาก

  1. การขนส่งทางรถไฟไม่ได้รับผลกระทบด้านต้นทุนและยังสามารถกำหนดเวลาการขนส่งที่แน่นอนได้ ส่วนการขนส่งทางทะเลและทางอากาศกลับประสบปัญหาอย่างมาก เช่น การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และต้นทุนสูง ทำให้การขนส่งทางรถไฟกลายเป็นช่องทางการขนส่งระหว่างประเทศในการเชื่อมต่อจีน ยุโรปและเอเชียกลางที่ยังสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง
  2. การสนับสนุนจากภาครัฐในการส่งเสริมรถไฟฉางซา-ยุโรปเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ ยกตัวอย่างเช่น (1) การเปิดตัวขบวนรถไฟฉางซา-ยุโรปสำหรับเขตการค้าเสรีนำร่องมณฑลหูหนานโดยเฉพาะครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 และเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟฉางซา-มินสก์สัปดาห์ละ 1 ขบวน ซึ่งโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่สำนักงานโลจิสติกส์และท่าเรือของรัฐบาลนครฉางซาร่วมกับศุลกากรซิงซาและบริษัท Central South China International Land Port จำกัด ได้หารือและศึกษาความต้องการด้านโลจิสติกส์จากบริษัทผู้ผลิตในนครฉางซา 114 บริษัท เช่น Lens Technology, Zoomlion, Sany Heavy Industry, VIA Technologies และ Ausnutria Dairy ทั้งนี้ เส้นทางขนส่งสินค้าด้วยรถไฟจากจีนไปมินสก์ถือเป็นเส้นทางยอดนิยมของรถไฟจีน-ยุโรป โดยมีสัดส่วนเกือบร้อยละ 60 ของปริมาณการขนส่งรถไฟจีน-ยุโรป (2) การผลักดันให้ผู้ประกอบการหันมาใช้ระบบ “การยื่นเรื่องล่วงหน้า” โฉมใหม่ของศุลกากรนครฉางซา โดยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ศุลกากรนครฉางซาได้ปรับปรุงระบบ “การยื่นเรื่องล่วงหน้า” สำหรับสินค้าขาออกที่ขนส่งด้วยรถไฟฉางซา-ยุโรป ส่งผลให้เวลาดำเนินพิธีการศุลกากรขาออกลดลงจาก 5 ชั่วโมง เหลือเพียง 1 ชั่วโมง ซึ่งทำให้การตรวจปล่อยสินค้ามีความรวดเร็วและถึงปลายทางตรงต่อเวลา

ที่มา: http://hunan.voc.com.cn/article/202110/202110120657588788.html

The post รถไฟฉางซา-ยุโรปคึกคัก ติด Top 5 เส้นทางศักยภาพ รถไฟจีน-ยุโรปสองปีซ้อน appeared first on thaibizchina.

ที่มา : https://thaibizchina.com/

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]