RCEP กับการเพิ่มความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของยูนนาน – thaibizchina

การลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ระหว่างอาเซียน 10 ประเทศกับหุ้นส่วนคู่เจรจา 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 นับเป็นพัฒนาการที่สำคัญของเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับโลก เนื่องจากเมื่อความตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับในอนาคตอันใกล้ จะเป็นการสร้างเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกทั้งในเชิงจำนวนประชากร ขนาดเศรษฐกิจ และมูลค่าการค้า

ความตกลง RCEP เป็นผลประโยชน์ที่สำคัญของอาเซียนในด้านการขยายขนาดตลาด ปรับปรุงมาตรฐานการค้าและการลงทุน ตลอดจนเตรียมความพร้อมสำหรับเศรษฐกิจแห่งอนาคต เช่น อีคอมเมิร์ซ ขณะเดียวกัน สำหรับจีน นอกจากความตกลงดังกล่าวจะเป็นชัยชนะของการดำเนินนโยบายส่งเสริมพหุภาคีนิยมและการค้าเสรี (multilateralism and free trade) ท่ามกลางกระแสกดดันของลัทธิปกป้องทางการค้า (protectionism) ในสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกาแล้ว ความตกลง RCEP ยังเปิดโอกาสและสร้างประโยชน์ให้แก่พื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนที่ยังคงมีระดับการพัฒนาไม่มากและเปรียบเสมือน “แนวหน้า” ในการเชื่อมโยงกับอาเซียนของจีน

ในบรรดามณฑลภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มณฑลยูนนานและเขตฯ กว่างซีนับเป็นมณฑลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอาเซียนมากที่สุด โดยสำหรับยูนนานเป็นเพียงมณฑลเดียวของจีนที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ลาว และเมียนมา ขณะที่เขตฯ กว่างซี แม้จะมีชายแดนติดต่อกับเวียดนามเพียงประเทศเดียว แต่ก็มีบทบาทสำคัญจากการเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (China-ASEAN Expo: CAEXPO) ที่นครหนานหนิงเป็นประจำทุกปี โดยอาเซียนนับเป็นพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินนโยบายการเปิดกว้างสู่ภายนอก (opening-up policy) ของเขตฯ กว่างซี

กล่าวสำหรับมณฑลยูนนาน แม้ในช่วงก่อนหน้านี้จะพลาดโอกาสในการเป็นเจ้าภาพงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน แต่ก็ได้ปรับตัวด้วยการจัดงานแสดงสินค้าจีน-เอเชียใต้ (China-South Asia Expo: CSA Expo) ที่รวมประเทศอาเซียนด้วยแทน นอกจากนี้ ในด้านการค้า ในปี 2562 มณฑลยูนนานมีมูลค่าการค้ากับอาเซียนคิดเป็น 16,576 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2 ปัจจุบัน มูลค่าการค้ายูนนานกับอาเซียนมีสัดส่วนร้อยละ 3.8 ของมูลค่าการค้าจีนกับอาเซียน ที่สำคัญมูลค่าการค้ายูนนานกับอาเซียนยังมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งในมูลค่าการค้ากับต่างประเทศทั้งหมดของมณฑลยูนนาน

ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ขณะนี้มณฑลยูนนานนับเป็น “ประตู” ที่สำคัญของจีนในการเชื่อมโยงกับอาเซียน โดยเฉพาะในระบบราง ทั้งโครงการรถไฟจีน-เมียนมา และโครงการรถไฟจีน-ลาว-ไทย ซึ่งล้วนมีต้นทางที่นครคุนหมิง นอกจากนี้ ตามแผนแม่บทการพัฒนานครคุนหมิง (2554-2563) ที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีจีนเมื่อเดือนกันยายน 2559 ยังกำหนดให้นครคุนหมิงเป็น “ศูนย์กลาง” ของจีนในการเปิดสู่ภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมและศูนย์กลางด้านข้อมูล

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีจีนยังได้อนุมัติเอกสารความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาภาคตะวันตกในยุคใหม่ ซึ่งมีส่วนหนึ่งกำหนดให้เมืองเอกของมณฑลทางภาคตะวันตกซึ่งรวมถึงนครคุนหมิงเร่งเพิ่มการเชื่อมโยงและความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงกรอบความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาค โดยปัจจุบัน นครคุนหมิงเป็นที่ตั้งของสถานกงสุลใหญ่อาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว มาเลเซีย เมียนมา และเวียดนาม นับเป็นเมืองเอกที่มีจำนวนสถานกงสุลใหญ่อาเซียนเป็นลำดับต้นของจีน โดยเป็นรองเพียงนครเซี่ยงไฮ้และนครกว่างโจว แต่มีจำนวนมากกว่านครอู่ฮั่นและนครซีอาน

ความตกลง RCEP ที่จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของทุน การขนส่ง และข้อมูลจึงเป็นโอกาสของมณฑลยูนนานที่จะสามารถประยุกต์ความได้เปรียบข้างต้นมาสร้างประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ ในอนาคต มณฑลยูนนานยังจะเป็น “ข้อต่อ” ที่สำคัญในการเชื่อมโยงเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนกับเขตการค้าเสรีจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับพื้นที่ภาคเหนือของจีนเป็นหลัก แต่สามารถเชื่อมโยงกันด้วยความตกลง RCEP

ที่มา: https://www.thepaper.cn/newsDetail_forward_10051589

webmaster

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ที่มา : https://thaibizchina.com/

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]