“ศุภมาส” แถลงความสำเร็จของกระทรวง อว.ภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง เผยปี 66 ได้รับอนุมัติ 13 โครงการ งบกว่า 103 ล้านบาท

“ศุภมาส” แถลงความสำเร็จของกระทรวง อว.ภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง เผยปี 66 ได้รับอนุมัติ 13 โครงการ งบกว่า 103 ล้านบาท ทั้งรถไฟความเร็วสูงจีน – ลาว – ไทยตามยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหม การใช้สมุนไพรในตำรับการแพทย์แผนไทยและแผนจีนเพื่อรักษาโรคมะเร็ง การบริหารจัดการน้ำ

เมื่อวันที่ 5 ก.พ. น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิด “การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินโครงการของ อว. ภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง” พร้อมแถลงความสำเร็จและความก้าวหน้าของ อว. ในการดำเนินโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง โดยมีนายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัด อว. และนาย อู๋ จื้ออู่ อัครราชทูต และรองหัวหน้าสำนักงานสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำราชอาณาจักรไทย น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ประธานคณะทำงาน รมว.อว. และ น.ส.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เข้าร่วม ที่ ณ ห้องกมลทิพย์ ชั้น 2 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ

น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า กรอบความร่วมมือแม่โขง -ล้านช้าง ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนามและจีน มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน ยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจรวมทั้งลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง โดยมีกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้างเป็นเครื่องมือและกลไกในการส่งเสริมความร่วมมือ โดยในปี 2566 กระทรวง อว.ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง จำนวน 13 โครงการ ในวงเงินเกือบ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 103 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการการเชื่อมโยงและยกระดับขีดความสามารถด้านสมุนไพรในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงด้วยเทคโนโลยีสีเขียว 2.โครงการ MLC-MSME Recovery Network Post COVIT-19 3.โครงการโอกาสของโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กในภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง 4.โครงการการฟื้นฟูเส้นทางการท่องเที่ยวมรดกทางวัฒนธรรมจากยูนนานสู่พื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 5.โครงการการพัฒนาและสาธิตระบบการรู้จำและตรวจจับข้อมูลสำหรับกระบวนการเลี้ยงโคเนื้อและการบริหารจัดการฟาร์มในภูมิภาคแม่โขงล้านช้าง 6.โครงการริเริ่มความร่วมมือเพื่อสำรวจและพัฒนาศักยภาพการใช้สมุนไพรในตำรับการแพทย์แผนไทยและแผนจีนเพื่อการรักษาทางเลือกของโรคมะเร็ง 7.โครงการความร่วมมือทางเทคนิคห่วงโซ่การผลิตที่ครอบคลุมการขยายพันธุ์ใหม่ไทย-จีน เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน 8.โครงการศึกษาผลกระทบของรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว-ไทยตามยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางในมิติความร่วมมือทางสังคมและการดำรงชีพของประชาชน 9.โครงการการเพิ่มศักยภาพบุคลากรด้านสุขภาพจิตเพื่อลดภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและประเทศกัมพูชา 10.โครงการการส่งเสริมการผลิตมันสำปะหลังที่ยั่งยืนโดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในภูมิภาคแม่น้ำโขง 11.โครงการการเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมในประเทศและการจัดเตรียมร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ตามข้อกำหนดของโครงการรถไฟความเร็วสูง 12.โครงการการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเห็ดบริโภคได้เพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเกษตรที่ยั่งยืนระหว่างประเทศในภูมิภาคแม่น้ำโขง และ 13.โครงการการจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาที่ยั่งยืน

“โครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง จะเป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนาประเทศไทยและสอดคล้องกับนโยบายและประเด็นเร่งด่วนที่ อว.ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะด้านการผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ตรงความต้องการ และนำมาใช้งานให้เกิดผลได้อย่างแท้จริง รวมถึงการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยและหน่วยงานของ อว. ต้องมีส่วนร่วมกับภาคชุมชนในการพัฒนาด้านต่าง ๆ อย่างทั่วถึง” น.ส.ศุภมาส กล่าว

ด้านนายเพิ่มสุข กล่าวว่า ตนมั่นใจว่ากระทรวง อว.มีความพร้อมและศักยภาพทั้งในด้านกำลังคน องค์ความรู้ ประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในศาสตร์ต่างๆ ที่สามารถสนับสนุนการวางรากฐานการพัฒนาร่วมกับประเทศสมาชิก ทั้งในสาขาความร่วมมือหลักและความร่วมมือในด้านอื่น ๆ เพื่อการเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนร่วมกันของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

สำหรับโครงการของกระทรวง อว.ได้รับการคัดเลือกและอนุมัติงบประมาณในการดำเนินงานจากกองทุนฯ มีทั้งสิ้น 34 โครงการ วงเงินรวม 322 ล้านบาท โดยในปี 2561 มีจำนวน 2 โครงการปี 2563 จำนวน 4 โครงการ ปี 2564 จำนวน 7 โครงการ ปี 2565 จำนวน 8 โครงการ และปี 2566 จำนวน 13 โครงการ

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]