ร้อยโท อรรณพ ทองเหลี่ยว | นักศึกษาด้านการบินและอวกาศปักกิ่ง

สวัสดีครับ กระผมร้อยโท อรรณพ ทองเหลี่ยว นักศึกษาปริญญาโทปีที่ ๒ มหาวิทยาลัยการบิน และอวกาศปักกิ่ง สาขาดาวเทียมขนาดเล็ก วันนี้ขอเล่าสู่กันฟังถึงสถานศึกษาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศจีนด้านการบินและอวกาศ ซึ่งเดิมก่อนที่จะมาเรียนด้านนี้ผมสนใจด้านอวกาศตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมต้นที่โรงเรียนสมเด็จพระปิยมหาราชรมณียเขต จังหวัดกาญจนบุรี ได้มีโอกาสดูฝนดาวตก เนื่องจากเป็นกิจกรรมการเรียนการสอนของวิชาวิทยาศาสตร์ ทำให้ผมใคร่อยากเรียนรู้ดาราศาสตร์ กอปรกับในช่วงเวลานั้น ได้ติดตามข่าวการสร้างสถานีอวกาศนานาชาติในช่วงเริ่มต้น ยิ่งทำให้ผมมีความสนใจอวกาศมากขึ้น

ในการมาเรียนครั้งนี้ได้ทราบการประกาศรับสมัครจาก กองกิจการอวกาศ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยรับสมัครบุคลากรของไทยที่มีพื้นฐานความรู้ด้านกิจการอวกาศเพื่อสมัครรับทุนการศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก โดยผ่านองค์กรความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Space Cooperation Organization) เป็นหน่วยคัดเลือก ซึ่งผู้สมัครเป็นบุคลากรของประเทศสมาชิกองค์กรความร่วมมือด้านอวกาศฯ ได้แก่ ไทย จีน บังคลาเทศ อิหร่าน มองโกเลีย ปากีสถาน เปรู และตุรกี โดยจัดให้ศึกษาที่มหาวิทยาลัยการบินและอวกาศปักกิ่ง (Beijing University of Aeronautics and Astronautics) สำหรับในปี พ.ศ.๒๕๖๓ นี้ ได้เปิดรับสมัครในสาขาเทคโนโลยีอวกาศประยุกต์ ได้แก่ การสื่อสารดาวเทียมและระบบดาวเทียมนำทาง  (Satellite Communications & Global Navigation Satellite Systems), การสำรวจระยะไกล  (Remote Sensing and Geo-information System),  วิทยาศาสตร์อวกาศและสภาวะแวดล้อม (Space Science and Environment) และกฎหมายอวกาศ (Space Law and Policy) อีกทั้งปริญญาเอกในสาขาเทคโนโลยีอวกาศ

เมื่อปีที่ผ่านมา องค์กรความร่วมมือด้านอวกาศฯ ได้ขยายความร่วมมือในการคัดเลือกบุคลากรของประเทศสมาชิกเข้ารับทุนการศึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศ กับมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคนอร์ทเวสเทิร์น และสถาบันเทคโนโลยีฮาร์บิน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสเพิ่มมากขึ้นให้กับผู้ที่สนใจศึกษากิจการด้านอวกาศของประเทศไทย ที่จะได้เรียนรู้และได้เห็นในสิ่งที่เป็นวิธีวิทยาการขั้นสูงในงานด้านอวกาศ

สำหรับกิจการด้านอวกาศของประเทศไทยในห้วงเวลานี้กำลังเป็นเรื่องที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสนใจกันอย่างจริงจัง ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่ดูแลงานด้านนี้ อาทิ เช่น กระทรวงกลาโหม กองทัพอากาศ สถาบันดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและอวกาศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมชลประทาน กรมอุตนิยมวิทยา ฯลฯ ซึ่งประเทศไทยได้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้งานด้านอวกาศกับทางประเทศจีนตลอดมา โดยผ่านทางองค์การด้านอวกาศและสถาบันการศึกษา เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่ก้าวหน้าในกิจการด้านอวกาศ และมีวิธีวิทยาขั้นสูงทั้งยังเป็นผู้นำทางด้านกิจการอวกาศระดับแนวหน้าของโลก กอปรกับไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรความร่วมมือด้านอวกาศฯ จึงมีการถ่ายทอดวิธีวิทยาระหว่างกัน

เนื่องจากงานในหน้าที่ที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องกับการสื่อสารดาวเทียม และเล็งเห็นว่าในห้วงเวลานี้ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับกิจการด้านอวกาศเป็นอย่างมาก กอปรกับทางมหาวิทยาลัยฯ กำลังสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก ในชื่อโครงการ Student Small Satellite ผมจึงได้เลือกเรียนในสาขาดาวเทียมขนาดเล็ก

สำหรับสภาพแวดล้อมการเรียนในมหาวิทยาลัยฯ มีห้องทดลองและเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับด้านดาวเทียมครบครัน อีกทั้งผู้สอนประกอบด้วยอาจารย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศและใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนตลอดหลักสูตร ซึ่งช่วยทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ภาษาต่างประเทศให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งได้มีโอกาสเยี่ยมชมสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตร เช่น สถานีจานสายอากาศขนาดใหญ่ที่สุดของจีน เข้าเยี่ยมชมการปล่อยจรวด ณ ฐานปล่อยจรวดซีฉาง มณฑลเสฉวน เข้าดูงานหน่วยงานศูนย์บรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กระทรวงสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ กรมอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติ โดยหน่วยงานส่วนใหญ่ใช้งานดาวเทียมในด้านการสำรวจระยะไกล จากกิจกรรมประกอบหลักสูตรการเรียนข้างต้น ทำให้นักศึกษาจีนและต่างชาติมีแรงบันดาลใจอย่างยิ่ง ในการเรียนรู้ด้านอวกาศอย่างจริงจัง จะเห็นได้ในเรื่องการสวมใส่เสื้อผ้า รองเท้า ที่มีตราสัญลักษณ์นาซ่า อีกทั้งมีตำราด้านการบินและอวกาศสำหรับประกอบการเรียน จำนวนมาก สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ www.onde.go.th โดยในปีนี้ เปิดรับสมัคร ตั้งแต่วันที่ ๑๖ มกราคม ถึง วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๓ ก็ขอเรียนเชิญพี่ๆ น้องๆ สมัครเข้ามาเรียนกันเยอๆ นะครับ เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศไทยเราให้ก้าวหน้าโดยใช้ประโยชน์จากกิจการอวกาศต่อไป สวัสดีครับ

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]