ท่าเรือกุ้ยก่าง ยืนหนึ่งในระบบขนส่งทางแม่น้ำของพื้นที่จีนตอนใต้

ไฮไลท์

  • ระบบงานขนส่งทางแม่น้ำเป็นตัวเลือกของภาคธุรกิจและกำลังทวีบทบาทสำคัญในระบบการค้าของพื้นที่จีนตอนใน “ท่าเรือกุ้ยก่าง” เป็นท่าเรือแม่น้ำแห่งแรกในลุ่มแม่น้ำเพิร์ลที่มีปริมาณขนส่งทะลุ 100 ล้านตัน ปี 2563 มีปริมาณการขนถ่ายสินค้าผ่านท่าเรือกุ้ยก่าง 105.5 ล้านตัน ขยายตัว 30.9% (YoY)
  • เมืองกุ้ยก่างกำลังเป็นเมืองอุตสาหกรรมน้องใหม่ของกว่างซี รัฐบาลท้องถิ่นได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาท่าเรือเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองและอุตสาหกรรม นอกจากนี้ “อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือก” กำลังเป็นอุตสาหกรรมเสาหลักดาวรุ่งอีกหนึ่งสาขา โดยเฉพาะกลุ่มรถโดยสารขนาดใหญ่
  • เขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นอีกมณฑลของจีนที่เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือก มุ่งเจาะตลาดอาเซียน โดยอาศัยความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง ซึ่งเป็นมณฑลเดียวของจีนที่เชื่อมต่อกับอาเซียน ทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ จึงเป็นโอกาสของภาคธุรกิจไทยที่จะพัฒนาและแสวงหาความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีระหว่างกัน

 

“ท่าเรือกุ้ยก่าง” เป็นท่าเรือแม่น้ำแห่งแรกในลุ่มแม่น้ำเพิร์ลที่มีปริมาณขนส่งทะลุ 100 ล้านตัน ในฐานะท่าเรือแม่น้ำที่มีขนาดใหญ่ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เมื่อปี 2563 มีปริมาณการขนถ่ายสินค้าผ่านท่าเรือกุ้ยก่าง 105.5 ล้านตัน ขยายตัว 30.9% (YoY) มีเที่ยวเดินเรือ 625 เที่ยว เป็นการขนถ่ายสินค้าออกจากท่าเรือ 5.4 หมื่นTEUs (+23.14%) และเป็นการขนถ่ายสินค้าเข้าเทียบท่า 5.33 หมื่นTEUs (+15.56%)  สะท้อนให้เห็นว่า การขนส่งทางแม่น้ำเป็นตัวเลือกของภาคธุรกิจและกำลังทวีบทบาทสำคัญในระบบการค้าในพื้นที่จีนตอนใน เนื่องจากต้นทุนต่ำ สามารถขนส่งได้ในปริมาณมาก และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เมืองกุ้ยก่าง (Guigang City/贵港市) ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของเขตฯ กว่างซีจ้วง มีแม่น้ำซีเจียง (Xi River/西江) ซึ่งเป็นลำน้ำสายสำคัญของแม่น้ำเพิร์ล (แม่น้ำเพิร์ลเป็นแม่น้ำขนส่งขนาดใหญ่ที่สุดในพื้นที่จีนตอนใต้ และขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของจีน รองจากแม่น้ำแยงซีเกียง) และเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่คอยหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมของเมืองกุ้ยก่าง จึงเป็นที่ตั้งของ “ท่าเรือกุ้ยก่าง” ท่าเรือแม่น้ำที่มีความสำคัญสำหรับพื้นที่จีนตอนใน ในฐานะจุดเชื่อมต่อสำหรับพื้นที่ตอนในสู่ภายนอกที่ปากแม่น้ำเพิร์ล (Greater Bay Area – GBA)

หลายปีมานี้ รัฐบาลท้องถิ่นได้ดำเนินยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาท่าเรือเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองและอุตสาหกรรม ช่วง 5 ปีนี้ ได้จัดสรรเงินงบประมาณกว่า 31,800 ล้านหยวน เพื่อพัฒนาระบบงานขนส่งทางแม่น้ำ ทั้งเส้นทางเดินเรือ ร่องน้ำ ประตูเรือสัญจร ท่าเรือ รวมถึงระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multi-modal transportation) ระหว่างถนน+ราง+เรือแม่น้ำ

ผลจากการพัฒนาระบบงานขนส่งทางแม่น้ำได้ช่วยให้การลงทุนภาคอุตสาหกรรมของเมืองกุ้ยก่างเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากอุตสาหกรรมการเดินเรือแม่น้ำ อุตสาหกรรมการต่อเรือ และอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างแล้ว “อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือก” กำลังเป็นอุตสาหกรรมเสาหลักดาวรุ่งอีกหนึ่งสาขา โดยเฉพาะกลุ่มรถโดยสารขนาดใหญ่

ที่ผ่านมา ผู้ผลิตรถพลังงานทางเลือกรายใหญ่น้อยของจีนได้ทยอยเข้ามาจัดตั้งฐานการผลิตในเมืองกุ้ยก่างอย่างต่อเนื่อง เช่น ผู้ผลิตรถโดยสาร HOPE ได้ย้ายฐานการผลิตมาจากมณฑลจี๋หลิน ทำให้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมของรถพลังงานทางเลือกในเมืองกุ้ยก่างครบวงจร ตั้งแต่การผลิตชิ้นส่วนอะไหล่/มอเตอร์ การผลิตและประกอบรถสำเร็จรูป ไม่ว่าจะเป็นรถจักรยานไฟฟ้า 2 ล้อ 3 ล้อ รถยนต์ส่วนบุคคล รถโรงเรียน ไปจนถึงรถโดยสารขนาดใหญ่

ระยะต่อไป เมืองกุ้ยก่างจะเร่งยกระดับอุตสาหกรรมรถพลังงานทางเลือกจากการผลิตทั่วไปไปสู่การพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีหลัก (Core Technology) ของรถพลังงานทางเลือก เช่น เทคโนโลยีการถอยรถเข้าช่องอัตโนมัติ เทคโนโลยีป้องกันล้อระเบิด เทคโนโลยีการขับเคลื่อนบนทางลาดชันสูง โดยเทคโนโลยีที่มีสิทธิบัตรเหล่านี้จะเป็น “กุญแจ” สำคัญของรถพลังงานทางเลือกจีนในการเปิดตลาดสู่โลกอนาคต

BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แนวโน้มการพัฒนา “อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือก” เป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ของโลก กว่างซีเป็นอีกมณฑลของจีนที่กำลังเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือก มุ่งเจาะตลาดอาเซียน โดยอาศัยความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง ซึ่งเป็นมณฑลเดียวของจีนที่เชื่อมกับอาเซียน ทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ จึงเป็นโอกาสของภาคธุรกิจไทยที่จะพัฒนาและแสวงหาความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีระหว่างกัน

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์  
www.gx.chinanews.com (中新社广西 ) วันที่ 6 มกราคม 2564
ภาพประกอบ http://old.sasac.gov.cn

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]