• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ชีวิต Ph.D. ในแดนมังกรตอนที่ 21 ธีรภาพ ปรีดีพจน์ อ.ประจำสำนักจีนวิทยา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กับงานวิจัยด้านการเปรียบเทียบระบบคำในภาษาไทยกับภาษาจีน สาขาภาษาศาสตร์และภาษาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัย Xiamen University – Thai Ph.D. in China

ชีวิต Ph.D. ในแดนมังกรตอนที่ 21 ธีรภาพ ปรีดีพจน์ อ.ประจำสำนักจีนวิทยา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กับงานวิจัยด้านการเปรียบเทียบระบบคำในภาษาไทยกับภาษาจีน สาขาภาษาศาสตร์และภาษาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัย Xiamen University – Thai Ph.D. in China

Ptee3

 

สวัสดีค่ะ คอลัมน์ของเราในวันนี้ขอนำเสนอบทสัมภาษณ์ของปริญญาเอกทุน Confucius China Studies Program (新汉学)ผ่านเรื่องราวของอ.ธีรภาพที่กำลังศึกษาในเรื่องของระบบคำ (Lexicology) ที่มหาวิทยาลัย Xiamen University มาฝากกันค่ะ

 

Admin: สวัสดีค่ะพี่ธีรภาพ

อ.ธีรภาพ: สวัสดีครับน้องจี

Admin: แนะนำตัวนิดนึงค่ะ

อ.ธีรภาพ: ครับผม ชื่อธีรภาพ ปรีดีพจน์นะครับ ตอนนี้ศึกษาด้านการเปรียบเทียบระบบคำในภาษาไทยกับภาษาจีนโดยเน้นศึกษากลุ่มคำที่ผู้เรียนภาษาจีนในไทยมักใช้ผิด (易混淆词)ครับ

Admin: การเรียนที่นี่?

อ.ธีรภาพ: การเรียนอย่างในปีแรกทั้งปีก็มีวิชาเรียนครับ ที่นี่เป็นหลักสูตร 4 ปี มีทั้งหมด 12 หน่วยกิตและอีก 2 หน่วยไม่มีคลาสเรียนแต่แบ่งเป็นบำเพ็ญประโยชน์ (活动社会)หรือเป็นผู้ช่วยวิจัย ก็ให้หน่วยงานเหล่านั้นรับรองแล้วเอามายื่นเป็นหน่วยกิตครับ ส่วนอีกอันคือการสอบวัดประมวลผลองค์ความรู้รวมในสาขาวิชาของเรา ซึ่งเป็นกระบวนการในการเรียนที่นี่ที่จะต้องผ่านอันนี้ก่อน จึงจะสามารถเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ได้ครับ

Admin: ค่ะ

อ.ธีรภาพ: อย่างของพี่คือทำงานมาก่อน พออยู่ในวัยทำงานเราออกจากที่ทำงานมาเข้าสู่ภาวะของการเรียนอีกครั้งหนึ่งมันก็รู้สึกผ่อนคลายลงบ้างนะ

Admin: ค่ะ พี่ธีรภาพแนะนำเรื่องระบบคำคร่าวๆให้ฟังหน่อยได้ไหมคะ?

อ.ธีรภาพ: ครับผม ในส่วนของระบบคำหรือ Lexicology ภาษาจีนเรียกว่า词汇学 (อ่านว่า ฉือ-ฮุ่ย-เสวีย) ครับต้องบอกว่าระบบคำนั้นมันมีความสัมพันธ์กับไวยากรณ์ คือเมื่อก่อนนี้ก็จะรวมอยู่ในเรื่องไวยากรณ์นั่นล่ะ แต่ตอนหลังก็แยกออกมาเป็นสายต่างหาก ก็จะเรียนเกี่ยวกับเรื่องคำ รู้ว่าอะไรคือคำ ต้องรู้จักว่าคำมีประเภทอะไรบ้าง คำโดด คำผสม พอเข้ามาในคำผสมอีกทีก็แยกย่อยว่าเป็นคำประเภทไหน แล้วก็โครงสร้างของคำ การสร้างคำ (构词)มีแบบไหนบ้าง มีคำประสมที่แยกย่อยไปอย่างไร แต่งานวิจัยหลักๆที่ทำกันก็ยังจับเกี่ยวกับหลักภาษาและไวยากรณ์อยู่ครับ อย่างที่ปรึกษาผมเน้นไปที่การวิจัยคำศัพท์ในเชิงปริมาณ (计量)ก็รวมไปถึงพวกพจนานุกรมต่างๆเช่น 现代汉语词典 ก็ดูว่าคำประเภทต่างๆในพจนานุกรมนั้นมีเท่าไหร่ ทำเป็นสถิติออกมา หรือพจนานุกรมเองก็มีการเปรียบเทียบเล่มเดียวกันตีพิมพ์รอบต่างกัน หรือพจนานุกรมเองก็มีแนวว่าทำเพื่อให้คนเจ้าของภาษาใช้หรือให้คนต่างชาติใช้ ประมาณนี้ครับ คือแนววิจัยเชิงเปรียบเทียบก็จะเห็นเกี่ยวกับการนำไปใช้งานได้จริง เพราะถ้าเน้นทำเฉพาะทฤษฎี มันก็จะเอาไปใช้งานโดยตรงได้ไม่ดีเท่าที่ควร

Admin: ฟังดูน่าสนใจดีนะคะ

อ.ธีรภาพ: ครับผม

Admin: พูดถึงการเรียนด้านภาษาศาสตร์บ้างค่ะ?

อ.ธีรภาพ: ครับ ผมว่าคนที่เรียนสาขาภาษาศาสตร์น่าจะประสบปัญหาคล้าย ๆ กันคือเราไม่ได้เรียนภาษาศาสตร์โดยตรงมาจากไทย ดังนั้นทฤษฎีเราจึงค่อนข้างอ่อน แต่เราจะไปเน้นที่การใช้งานและการสอนเสียมากกว่า ซึ่งในส่วนนี้จีนพัฒนาไปไกลมาก งานวิจัยเยอะมาก ๆ ครับ อย่างในบ้านเราคือตำราด้านไวยากรณ์และภาษาศาสตร์ก็มีจำกัด ในขณะที่จีนมีงบประมาณสนับสนุนเยอะ มีคนทำวิจัยเยอะเขาก็เลยพัฒนาไปเร็วมาก ยิ่งถ้าเทียบสัดส่วนสายภาษาของคนที่ไทยที่จะเรียนมาลึกถึงระดับป.โทป.เอกก็ยิ่งน้อยครับ

Ptee4

Admin: แต่การวิจัยทางด้านภาษาเองก็สำคัญไม่แพ้กัน?

อ.ธีรภาพ: ครับ ทุกสาขาก็มีความสำคัญในแบบของตัวเอง จริงอยู่ที่ไทยเราไม่ใช่ภาษาตระกูลใหญ่ และไม่ได้แพร่หลายมาก เพราะฉะนั้นเราไม่มีเรื่องของการขยายอิทธิพลทางภาษาออกไปสู่ทั่วโลกเท่าไหร่ ปัจจัยนี้อาจจะทำให้บ้านเราให้ความสนใจค่อนข้างน้อย งบมาถึงน้อย ก็เลยทำให้ผลงานต่างๆและการพัฒนาด้านภาษาศาสตร์ในไทยก็ยังไม่ไกลเท่าที่ควร อย่างพวกพี่สอนภาษาจีนในไทยใช่ไหมครับ เรารับองค์ความรู้จากจีนในสายต่าง ๆเพื่อมาถ่ายทอดให้กับนักเรียนในบ้านเรา เราจะคิดแต่ว่าระดับภาษาจีนเราดี สื่อสารรู้เรื่องก็พอแล้วคงไม่ได้ ถ้าคิดแค่นี้เราก็จะติดว่าเราอธิบายในเรื่องของการใช้ภาษาไม่ได้ แต่หลังจากที่เราเรียนสาขานี้แล้ว เราก็จะพบว่าเราสามารถอธิบายอะไรได้อีกหลาย ๆ อย่าง บริบทไหนควรใช้อะไร มันทำให้เราอธิบายได้เยอะขึ้น เช่นคำพ้องความหมายหรือความหมายใกล้เคียงเราอาจจะคุ้นชินเลยเลือกใช้ได้ถูกต้อง แต่เราอธิบายไม่ได้ว่าแต่ละคำมันต่างกันยังไง ซึ่งในการสอนภาษาต่างประเทศเราจะทำอย่างนั้นไม่ได้ มันเหมือนเราไม่รับผิดชอบกับหน้าที่ของเรา เหมือนเราโยนภาระให้นักเรียนว่าไปจำ ๆ เอาเองนะ ซึ่งเราเป็นอาจารย์เรามีหน้าที่ และเราควรจะหาคำตอบให้เค้าได้ ผมก็เลยสนใจศึกษาในเรื่องคำพ้องความหมายพวกนี้ ซึ่งหากผู้วิจัยไม่มีเซ้นส์ทางภาษาก็ต้องไปหาหลักและทฤษฎีมาสนับสนุน เพื่อที่ผู้อื่นจะได้เอาไปอ่านประกอบ เอาไปสอนและนำไปประยุกต์ใช้ เช่นคำที่มีความหมายใกล้เคียงนี้มันจะมีเรื่องของการเข้าคู่กัน เรื่องของความต่างบางทีมันอยู่ที่การใช้งาน ไม่ได้อยู่ที่ความหมาย เราก็ต้องอธิบายออกมาให้ได้ว่ามันเข้าคู่กับอันไหน อย่างไร และบางทีมันมีความต่างกันตรงที่เป็นบริบทความหมายที่เป็นบวกลบ นี้คือหน้าที่ที่นักภาษาศาสตร์ต้องเอาไปจัดกลุ่มจัดก้อนและแบ่งแยกระบบให้ชัดเจน เวลาใช้คำจะได้ใช้คำได้แม่นยำมากขึ้น

Admin: ค่ะ การเข้าถึงฐานข้อมูลที่นี่?

อ.ธีรภาพ: ผมว่า Corpus ที่จีนเยี่ยมมากครับ โดยเฉพาะด้านภาษาศาสตร์ มีให้เลือกใช้ทั้ง CCL ของม.ปักกิ่ง BCC ของเป่ยอวี่ อย่าง BCC นี้มีทำสถิติ ทำกราฟให้ด้วยว่าคำนี้เข้าคู่กับคำไหน และมีลิงก์ไปหา Corpus อื่นๆได้ด้วย ของที่จงซาน กับของจี้หนานรู้สึกยังใช้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นะ อีกอันของ CNCORPUS นี้ก็ดีครับ ซึ่งส่วนนี้หากเทียบกับของบ้านเราแล้ว เรายังใช้งานยากกว่าครับ

Admin: การดูแลของที่ปรึกษา?

อ.ธีรภาพ: อ.ที่ปรึกษาผมชื่อซูซินชุน苏新春 ครับ ที่จริงท่านเกษียณแล้วแต่มหาวิทยาลัยยังให้ท่านต่ออายุอยู่ครับ อย่างที่ม.ผมนี้เป็นศูนย์วิจัยด้านการตรวจทานภาษา国家语言资源监测教育教材研究中心ซึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาผมเป็นหัวหน้าศูนย์ เราก็เลยได้เข้ามาทำในส่วนนี้ด้วย นอกจากนี้ก็จะมีอาจารย์ท่านอื่น ๆ ในศูนย์อีกครับ สัดส่วนของนักเรียนจีนกับต่างชาติเลยพอ ๆ กัน ที่ปรึกษาผมท่านดูแลเอาใจใส่นักศึกษาดีครับ อย่างพวกเราเป็นนักศึกษาต่างชาติอาจารย์ก็จะบอกให้คนจีนคอยดูแลพวกเราด้วย ถ้าหากมีปัญหาต่าง ๆ พวกเขาก็จะมีส่วนรับผิดชอบด้วย เพื่อน ๆ ก็จะเอื้อเฟื้อและให้การดูแลเราดีครับ ที่นี่มีเข้าโครงการวิจัยด้วยครับ ก็จะจับกลุ่มกับคนจีน แล้วแต่โปรเจ็ควิจัยครับว่าทำอะไร อย่างของโปรเจ็คที่พี่ทำตอนนี้คือ 分类词典 คือทำของฉบับปรับปรุง เราก็ได้ช่วยคัดกรอง ช่วยดู ช่วยอะไรต่าง ๆ ก็ทำควบคู่ไปกับคนจีน ได้เรียนรู้ไปกับเขาด้วยครับ

Admin: พูดถึงทุน Confucius China Studies Program หรือที่เราเรียกกันติดปากว่าซินฮั่นเสวีย(新汉学)บ้างค่ะ?

อ.ธีรภาพ: ครับผม สำหรับทุนนี้เป็นทุนสำหรับนศ.ป.เอกเท่านั้น มีเกณฑ์การคัดเลือกคือ หลังจากที่เรายื่นใบสมัคร และหลักฐานต่างๆ ก็จะมีการสอบสัมภาษณ์ สัมภาษณ์ผ่านทาง SKYPE ประมาณ 10-15 นาทีครับ

Admin: ทุนนี้มีเงื่อนไขอะไรไหมคะ?

อ.ธีรภาพ: ไม่มีครับ เป็นทุนให้เปล่าเหมือนกัน ไม่มีข้อผูกมัด และไม่ได้ระบุเรื่องว่าต้องมีต้นสังกัดใดๆ

Admin: จำกัดสาขาในการเรียนไหม?

อ.ธีรภาพ: ก็ถ้าเป็นสายภาษาและสังคมศาสตร์ ก็ถือว่ายังอยู่ในข่ายนี้ครับ

Admin: มหาวิทยาลัย?

อ.ธีรภาพ: มหาวิทยาลัยเราสามารถเลือกได้สองอันดับครับ ตามลิสท์รายชื่อที่มีให้เลือก ราวๆสิบกว่าสถาบัน อย่างถ้าเป็นเซี่ยงไฮ้ก็มีที่ Fudan กับ ECNU ครับ ถ้าเป็นทางใต้ก็มี 3 แห่งคือมหาวิทยาลัยเสฉวน (四川大学)กับมหาวิทยาลัย Sun Yat-Sen (中山大学) แล้วก็ที่นี่ครับ

Admin: ทุนนี้ให้ค่าใช้จ่ายรายเดือนยังไงคะ?

อ.ธีรภาพ: ในส่วนของทุนจะจ่ายเป็นเงินก้อนครับ ให้เป็นเทอม เทอมนึงมีเฉพาะเงินทุนสี่หมื่นหยวน ค่าสำหรับทำวิจัย (研究费)ค่าที่เกียวข้องกับการประชุมสัมมนาต่างๆเบ็ดเสร็จรวมทั้งหมดห้าหมื่นหยวนต่อเทอมครับ

Admin: ขั้นตอนในการขอทุน?

อ.ธีรภาพ: ก็คล้ายกับ CSC ครับ แต่เรายื่นเอกสารส่งไปทางฮั่นปั้น (汉办)แล้วทางฮั่นปั้นก็จะส่งเอกสารเหล่านี้ไปยังมหาวิทยาลัยที่เราเลือกทั้งสองอันดับ โดยที่กระบวนการที่เราเลือกมหาลัย เขาจะมีที่ปรึกษาในสาขาต่างๆให้เราเลือก เอกสารจะส่งมายังมหาลัยและอาจารย์ที่ปรึกษาด้วย เสร็จแล้วถ้าตอบรับเราจะได้ที่ปรึกษาและที่มหาลัยพร้อมกันครับ

Admin: ปัจจุบันทุนนี้มีกี่รุ่นแล้วคะ?

อ.ธีรภาพ: ปีนี้ก็น่าจะเป็นรุ่นที่ 5 แล้วนะครับ

Admin: แนวโน้มในการขอทุนนี้?

อ.ธีรภาพ: แนวโน้มหรอ ผมว่ารุ่นหลังๆโควตาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี่จะน้อยลงนะ อาจด้วยนโยบายOBOR (一带一路)ที่เน้นให้ไปทางเอเชียกลางกับเอเชียตะวันตกเยอะขึ้น อันนี้สังเกตจากนักศึกษาต่างชาติที่ม.ที่ผมเรียนนะ

Admin: ค่ะ ก็แปลว่าถ้าใครสนใจทุนนี้ก็ลองยื่นมาได้อยู่

อ.ธีรภาพ: ครับ ก็ยื่นมาได้ เข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมในเว็บไซต์ของฮั่นปั้นก็ได้ครับ

Admin: ค่ะ

P'Tee

Admin: พูดถึงมหาวิทยาลัยเซี่ยต้า Xiamen University บ้างค่ะ?

อ.ธีรภาพ: ครับผมเซี่ยต้าตอนเริ่มก่อตั้งนี้เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ผู้ก่อตั้งคือ Tan Kah Kee (陈嘉庚)เป็นชาวจีนโพ้นทะเล หลังจากแกทำธุรกิจไม้สักจนร่ำรวยก็ย้อนกลับมาที่บ้านเกิดมาสร้างมหาลัยแห่งนี้ และยังมีม.จี๋เหม่ ย (集美大学)และม.หัวเฉียว (华侨大学) ด้วยที่แกเป็นผู้ก่อตั้งครับ ม.แห่งนี้จะได้ยินคนจีนพูดบ่อยว่าเป็นม.ที่สวยที่สุดในจีนนะ เพราะข้ามถนนไปก็เป็นชายหาดแล้ว ชายหาดฝั่งมหาลัยจะมีถนนเลียบหาดครับ เรียกว่าป๋ายเฉิง (白城) ซึ่งเป็นที่ดินของมหาลัย จึงเหมือนกับว่าที่นี่มีหาดส่วนตัว แต่ที่บอกว่าสวยที่สุดนี้ ผมคิดว่าแต่ละที่ในประเทศจีนก็มีเอกลักษณ์ต่างกันนะ เพียงแต่ที่นี่เป็นที่ขึ้นชื่อของนักท่องเที่ยวมาก จะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวในมหาลัยเป็นหลักร้อยหลักพันเป็นปกติ ที่มหาลัยจึงต้องแบ่งเวลาให้นักท่องเที่ยวมาเฉพาะช่วงเที่ยงและช่วงเย็นครับ ถ้าด้านการเรียนสาขาวิชาทางด้านบริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ของที่นี่ก็มีชื่อเสียงในระดับโลกเหมือนกันครับ ที่นี่มีสองวิทยาเขตครับ อย่างวิทยาเขตที่ติดทะเลจะเรียกว่าเปิ่นปู้ (本部)ส่วนอีกที่หนึ่งอยู่เสียงอัน (翔安)ครับ ในส่วนของอากาศที่นี่ก็ใกล้เคียงกับประเทศไทยพอสมควรครับ

Admin: ค่ะ เรื่องหอพักที่นี่เป็นอย่างไรบ้างคะ

อ.ธีรภาพ: หอพักนศ.ต่างชาติที่นี่ ห้องนักศึกษาปริญญาตรีจะพัก 4 คนต่อห้อง ปริญญาโท 2 คน ปริญญาเอกพักคนเดียวครับ อย่างถ้าเป็นทุนซินฮั่นเสวียก็ต้องจ่ายค่าห้องเอง ถ้าอยู่แบบห้อง 4 คน คิดรายวันวันละ 8 หยวนต่อเตียง ปริญญาโทคนละประมาณ 900  หยวน ปริญญาเอกห้องเตียงคู่เดือนละ 1,500 เตียงเดี่ยวเดือนละ 1,800 หยวนครับ

Admin: โห… หนูอยากจะลาออกจากเซี่ยงไฮ้แล้วไปเซี่ยะเหมินเดี๋ยวนี้เลยค่ะ

อ.ธีรภาพ: 555 ครับ ค่าใช้จ่ายที่นี่เทียบกับเมืองใหญ่ๆอย่างปักกิ่ง กวางโจว เซี่ยงไฮ้ (北上广)แล้วถือว่าถูกกว่ามาก ๆ ครับ

Admin: พูดถึงกิจกรรมยามว่าง?

อ.ธีรภาพ: ผมเน้นหาของกินมากกว่าครับ 55 เพราะอาหารที่นี่ไม่ค่อยถูกปากเท่าไหร่ ชอบทำอาหารเอง ก็เลยไปทำที่ห้องคนจีนบ้าง ทำอะไรที่ไม่ต้องใช้กระทะ ทำน้ำพริกแล้วก็เอาออกไปกินข้างนอกเอง อย่างเล่นกีฬาพวกนี้ก็เป็นเทอม ๆ ไป เทอมแรก ๆ ก็ไปตีปิงปอง พอหลัง ๆ ก็เข้าฟิตเนสอยู่ประมาณปีหนึ่ง ช่วงนี้ปีสามก็เน้นไปวิ่งตอนเย็นมากกว่า เพราะสนามอยู่ใกล้ๆกับตึกคณะ อย่างตอนนี้ก็วิ่งเกือบทุกวัน เพราะว่าคนจีนหลาย ๆ คนบอกว่า 课题是导师的,身体是自己的 (หัวข้อวิจัยเป็นของอาจารย์ที่ปรึกษา แต่ร่างกายนั้นเป็นของเรา)

Admin: เป็นสโลแกนที่ดีมากเลยค่ะ

อ.ธีรภาพ: ครับ

Ptee2

Admin: สิ่งที่อยากฝากไว้สำหรับคนที่จะมาเรียนต่อ?

อ.ธีรภาพ: สำหรับนักศึกษาไทยที่สนใจมาต่อด้านนี้ ผมว่าควรจะเตรียมพร้อมพื้นฐานภาษาศาสตร์ทางด้านภาษาไทยหรือมีพื้นฐานมาก่อนครับ เพื่อที่เวลาเรียนจะได้เร็วขึ้น ถ้าเป็นข้อคิดในการเรียนหรือใช้ชีวิต พี่คิดว่าถ้าเรารู้อะไรมาเราแบ่งปันต่อ เราสอนต่อให้คนอื่น อันนี้นอกจากเราจะได้ การสอนต่อหรือถ่ายทอดต่อเป็นวิธีการที่ทำให้เราได้ทบทวนตัวเอง เวลาเราสอนเราจะจำได้ดีกว่าเราบริโภคข้อมูลเอง เวลาสอนลูกก็จะบอกเขาเหมือนกันคือไม่ต้องหวงความรู้นะ มีอะไรก็บอกต่อสอนต่อ สอนครั้งเดียวจำได้แม่นกว่าบางทีที่เราท่องหนังสือเองเสียอีก

Admin: วันนี้ต้องขอบคุณพี่ธีรภาพมาก ๆ เลยค่ะที่สละเวลามาให้ข้อมูลกับเรา

อ.ธีรภาพ: ยินดีครับ

 

เป็นอย่างไรบ้างคะสำหรับบทสัมภาษณ์ในสัปดาห์นี้ สำหรับใครที่สนใจเรื่องทุน Confucius China Studies Program 新汉学สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางนี้ค่ะ http://ccsp.chinese.cn/article/2015-12/04/content_626189.htm สัปดาห์หน้าเราจะพาไปรู้จักกับ Ph.D. Candidate ท่านใด อย่าลืมติดตามได้ที่นี่ Thai Ph.D. in China วันนี้สวัสดีค่ะ

 

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย:  Admin G 走遍江湖 ผู้ท่องไปในยุทธภพ

ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
Thai Ph.D. in China

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]