ยานขนสัมภาระ ‘เทียนโจว-3’ เชื่อมโมดูลสถานีอวกาศสำเร็จ | XinhuaThai

ปักกิ่ง, 21 ก.ย. (ซินหัว) — องค์การอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมแห่งประเทศจีน (CMSA) เปิดเผยว่ายานบรรทุกสัมภาระเทียนโจว-3 (Tianzhou-3) ซึ่งบรรทุกเสบียงเตรียมพร้อมสำหรับภารกิจอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมเสินโจว-13 (Shenzhou-13) ในอนาคต เทียบท่าโมดูลหลักของสถานีอวกาศเทียนเหอสำเร็จ เมื่อวันจันทร์ (20 ก.ย.) ที่ผ่านมา

รายงานระบุว่ายานเทียนโจว-3 ประสบความสำเร็จในการนัดพบตามการวางแผนด้วยคอมพิวเตอร์ และเชื่อมต่อท่าเทียบยานด้านหลังของโมดูลหลักสถานีอวกาศเทียนเหอ โดยกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาราว 6.5 ชั่วโมง

จรวดขนส่งลองมาร์ช-7 วาย4 (Long March-7 Y4) ซึ่งบรรทุกยานเทียนโจว-3 ทะยานออกจากฐานปล่อยยานอวกาศเหวินชาง ในมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของประเทศ เมื่อ 15.10 น. ของวันจันทร์ (20 ก.ย.) โดยหลังจากจรวดฯ แล่นทะยานนาน 597 วินาที ยานเทียนโจว-3 ได้แยกตัวออกจากจรวดฯ และเข้าสู่วงโคจรที่กำหนด ต่อจากนั้นทำการกางแผงโซลาร์เซลล์และเริ่มทำงานอย่างเหมาะสม เมื่อ 15:22 น. ซึ่งองค์การฯ ชี้ว่าเป็นหมุดหมายความสำเร็จของการส่งยานดังกล่าว

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ยานบรรทุกสัมภาระเทียนโจว-2 แยกตัวออกจากท่าเทียบยานด้านหลังของโมดูลหลักสถานีอวกาศเทียนเหอ และเชื่อมเข้ากับท่าเทียบยานด้านหน้า ส่วนการเชื่อมต่อของยานเสินโจว-13 ทำให้ปลายทั้งสองข้างของโมดูลหลักสถานีอวกาศเทียนเหอมียานสัมภาระเชื่อมต่อจนกลายเป็นรูปทรงเส้นตรง และเฝ้ารอการมาถึงของทีมนักบินอวกาศในภารกิจเสินโจว-13

การส่งยานเทียนโจว-3 ขึ้นสู่ห้วงอวกาศครั้งนี้ นับเป็นภารกิจครั้งที่ 20 ของโครงการอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมของจีน และภารกิจครั้งที่ 389 ของจรวดขนส่งตระกูลลองมาร์ช

จงเหวินอัน หัวหน้าวิศวกรของศูนย์ปล่อยดาวเทียมซีชาง กล่าวว่าภารกิจเทียนโจว-3 เป็นเที่ยวบินที่ 2 ของระบบขนส่งสัมภาระสู่สถานีอวกาศจีน ซึ่งประกอบด้วยยานอวกาศเทียนโจวและจรวดขนส่งตระกูลลองมาร์ช-7 โดยภารกิจนี้เป็นกุญแจสำคัญในการเชื่อมโยงการตรวจสอบเทคโนโลยีหลักและการก่อสร้างสถานีอวกาศในวงโคจร

สำหรับการก่อสร้างสถานีอวกาศ ยานขนส่งสัมภาระจะถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศก่อนจะส่งนักบินอวกาศตามไป ดังคำกล่าวจีนโบราณที่ว่าการดำเนินภารกิจสำคัญ เสบียงอย่างอาหารและอาหารสัตว์ควรล่วงหน้าไปก่อนกองทัพและม้า

“เราจะขนส่งวัสดุเสริม ชิ้นส่วนสำรองและอุปกรณ์ที่จำเป็นขึ้นไปก่อน จากนั้นจึงส่งนักบินอวกาศของเราตามไป” ห่าวฉุน ผู้อำนวยการองค์การฯ กล่าว

ยานเทียนโจว-3 บรรทุกสัมภาระและวัสดุหนักเกือบ 6 ตัน อาทิ ของใช้สำหรับนักบินอวกาศ ชุดอวกาศสำรองสำหรับปฏิบัติกิจกรรมนอกยาน 1 ชุด อุปกรณ์สำหรับปฏิบัติกิจกรรมนอกยาน วัสดุสร้างสถานีอวกาศ และเชื้อเพลิง โดยสัมภาระเหล่านี้จะรับประกันการมีอาหารและน้ำดื่มที่เพียงพอสำหรับทีมนักบินอวกาศจีน 3 คน ที่จะอาศัยอยู่ในวงโคจรนาน 6 เดือน

สีของหีบห่อสัมภาระถูกปรับใหม่ เพื่อช่วยให้นักบินอวกาศทราบสิ่งของที่อยู่ภายใน เนื่องจากหีบห่อบนยานเทียนโจว-2 ใช้เครื่องหมายและรหัสคิวอาร์เพื่อระบุสิ่งของข้างใน แต่หีบห่อทั้งหมดเป็นสีน้ำตาลอ่อน ซึ่งยากต่อการคัดแยกและจัดเรียง ดังนั้นสัมภาระบนยานเทียนโจว-3 จึงถูกบรรจุในหีบห่อที่มีสีสันแตกต่างกันและมีรหัสคิวอาร์

เฝิงหย่ง หัวหน้าผู้อำนวยการยานเทียนโจว-3 ที่สถาบันเทคโนโลยีอวกาศแห่งชาติจีน (CAST) กล่าวว่ายานเทียนโจว-3 บรรทุกถังก๊าซ ที่มีความดันภายในถึง 300 เท่าของความดันบรรยากาศ โดยถังประเภทนี้บรรจุออกซิเจนที่ทีมนักบินอวกาศใช้ได้เป็นเวลานาน

ขณะเดียวกันยานเทียนโจว-3 ยังบรรทุกถุงบรรจุน้ำ ซึ่งทำจากวัสดุที่เบา อ่อนนุ่ม และรักษาความปลอดภัยของน้ำดื่ม รวมถึงช่วยให้จัดเก็บถุงเปล่าที่ใช้น้ำหมดแล้วได้อย่างเป็นระเบียบ

หวังหรั่น นักออกแบบยานเทียนโจว-3 จากสถาบันฯ กล่าวว่าสัมภาระส่วนใหญ่ที่ยานเทียนโจว-3 บรรทุกนั้นถูกบรรจุในหีบห่อที่ได้มาตรฐาน หีบห่อเหล่านั้นมีคุณสมบัติความทนทานเชิงกลที่ดีและยังต้านแบคทีเรีย กันเชื้อรา กันเปลวไฟ และไม่มีก๊าซระเหยที่เป็นอันตราย โดยวัสดุของหีบห่อสร้างขึ้นจากส่วนผสมพิเศษที่สกัดจากเปลือกปู

จีนจะส่งยานเสินโจว-13 เข้าเทียบท่ากับโมดูลหลักของสถานีอวกาศเทียนเหอในอนาคตอันใกล้ และทีมนักบินอวกาศจีน 3 คน จะเริ่มใช้ชีวิตและปฏิบัติภารกิจอยู่ในวงโคจรนาน 6 เดือน

จีนวางแผนดำเนินการตรวจสอบเทคโนโลยีหลักและการก่อสร้างสถานีอวกาศในวงโคจรให้เสร็จสิ้นภายในสองปี โดยปีนี้มีการส่งยานอวกาศ 5 ครั้ง ได้แก่ โมดูลหลักของสถานีอวกาศเทียนเหอ ยานบรรทุกสัมภาระเทียนโจว-2 ยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมเสินโจว-12 ยานบรรทุกสัมภาระเทียนโจว-3 และยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมเสินโจว-13

ส่วนปี 2022 จะมีภารกิจอวกาศอีก 6 รายการ ได้แก่ การส่งโมดูลห้องปฏิบัติการเวิ่นเทียน โมดูลห้องปฏิบัติการเมิ่งเทียน ยานบรรทุกสัมภาระ 2 ลำ และยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุม 2 ลำ เพื่อสร้างสถานีอวกาศให้เสร็จสมบูรณ์

ขอบคุณที่มาของข้อมูล :

Xinhua

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]