ไฮไลท์
- ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 14 (ปี 2564-2568) ได้กำหนดทิศทางการพัฒนามณฑล ระบุถึงการเร่งดำเนินยุทธศาสตร์ Digital Guangxi โดยมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ดิจิทัล (Industrial Digitization) พัฒนาดิจิทัลให้เป็นอุตสาหกรรม (Digital Industrialization) พัฒนานวัตกรรมรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) และพัฒนาระบบสังคมดิจิทัลรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) และนิคมอุตสาหกรรม AI
- บริษัทไอทียักษ์ใหญ่จากเมืองเซินเจิ้นอย่างบริษัท หัวเหวย และบริษัท PowerLeader (宝德) ได้ทยอยเข้ามายึดหัวหาดเพื่อพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ในนครหนานหนิงอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบความร่วมมือกับรัฐบาลและการร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่น ครอบคลุมสินค้าและบริการในหลายสาขา และมี “อาเซียน” เป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายสำคัญ
- นอกจาการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุนจากบริษัทไอทีแล้ว การพัฒนาสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมบรรยากาศในการพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีและสร้างบุคลากรเป็นอีกมาตรการที่น่าสนใจ อย่างการจัดแคมเปญให้บริษัท/นักพัฒนาซอฟท์แวร์เข้าแข่งขันพัฒนาโซลูชันต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ภาครัฐ ธุรกิจการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจ วิสาหกิจขนาดใหญ่ โซลูชัน open source บนพื้นฐานเทคโนโลยีคุนเผิง และการพัฒนาระบบปฏิบัติการเซิร์ฟเวอร์ openEuler และระบบฐานข้อมูล openGauss
ปัจจุบัน “นวัตกรรม” กลายเป็นสิ่งสำคัญในการปรับตัวของภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกไปสู่ “ดิจิทัล” (Digital Transformation) ทำให้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาและสร้างแรงแข่งขันให้กับเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงด้วย
เนื้อหาส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 14 (ปี 2564-2568) ได้กำหนดทิศทางการพัฒนามณฑล ระบุถึงการเร่งดำเนินยุทธศาสตร์ Digital Guangxi โดยมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ดิจิทัล (Industrial Digitization) พัฒนาดิจิทัลให้เป็นอุตสาหกรรม (Digital Industrialization) พัฒนานวัตกรรมรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) และพัฒนาระบบสังคมดิจิทัลรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) และนิคมอุตสาหกรรม AI
รัฐบาลกว่างซีเล็งเห็นว่า การเร่งพัฒนาระบบอุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของกว่างซีให้มีคุณภาพสูง โดยรัฐบาลกว่างซีและบริษัท หัวเหวย ได้ลงนามความตกลงเพื่อร่วมกันพัฒนา “ระบบนิเวศคุนเผิง” (Kunpeng Ecosystem) และดึงดูดธุรกิจภายนอกที่เกี่ยวข้อง (extended enterprise) ให้เข้ามามีส่วนร่วม โดยการพัฒนาระบบนิเวศคุนเผิงในระยะแรกครอบคลุมสินค้าและบริการต่างๆ อาทิ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ชิ้นส่วนอุปกรณ์ เมนบอร์ด เซิร์ฟเวอร์ เทอร์มินัลคอมพิวเตอร์ หน่วยความจำ ซอฟท์แวร์ รวมถึงแอปพลิเคชันสำหรับทุกภาคส่วน และกลายเป็น New Digital Ecosystem ที่ครบวงจรและมีบทบาทสำคัญในภูมิภาค รวมถึงในอาเซียนด้วย
ปีที่ผ่านมา บริษัท หัวเหวย และบริษัท PowerLeader (宝德) ซึ่งเป็นบริษัทไอทียักษ์ใหญ่จากเมืองเซินเจิ้นได้เข้ามาพัฒนาธุรกิจในนครหนานหนิงอย่างต่อเนื่อง นายสื่อ เพ่ย (Shi Pei) รองประธานสายธุรกิจคอมพิวติ้ง บริษัท หัวเหวย ประจำภูมิภาคจีน ชี้ว่า การก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลในกระบวนการผลิตจะใช้ข้อมูล (Data) เป็นวัตถุดิบ และการประมวลผล (Computing) เป็นตัวจักรในการผลิต ปัจจุบัน อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศอย่าง AI กำลังมีโอกาสการพัฒนาครั้งสำคัญ ซึ่งจะช่วยอัปเกรดการทำงานสู่ความเป็นอัจฉริยะ (Smart) และนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ทุกภาคส่วน ในอนาคต หัวเหวยพร้อมพัฒนาความร่วมมือกับวิสาหกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมต้นน้ำและปลายน้ำ และแบ่งปันห่วงโซ่คุณค่า โดยใช้การพัฒนาระบบนิเวศเป็นตัวกระตุ้นการพัฒนาอุตสาหกรรม AI
บริษัท PowerLeader (宝德) และบริษัท Digital Guangxi Group (数广集团) ได้ร่วมทุนก่อตั้งบริษัท Shuguang Baode (数广宝德) ในเขตทดลองการค้าจีน(กว่างซี) พื้นที่ย่อยนครหนานหนิง ชี้ว่า ฐานการวิจัยและพัฒนาและการผลิตมีเซิร์ฟเวอร์และเทอร์มินัลคอมพิวเตอร์เป็นสินค้าหลัก และมีหน่วยความจำ คอมพิวเตอร์แบบ all-in-one คลาวด์คอมพิวติ้ง ซอฟท์แวร์ และชิ้นส่วนอุปกรณ์เป็นตัวเสริม บริษัทดังกล่าวตั้งเป้าหมายว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะก้าวขึ้นเป็นวิสาหกิจชั้นนำที่จะเป็นหัวใจสำคัญในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศของกว่างซีและเป็นรากฐานสนับสนุนให้กว่างซีเป็นศูนย์กลางเทอร์มินัลอัจฉริยะ (Smart Terminal) ที่สำคัญของประเทศจีนและเป็นฐานการส่งออกเทอร์มินัลอัจฉริยะไปยังอาเซียน
เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายน 2563 บริษัท Shuguang Baode ได้เริ่มเดินสายการผลิตเซิร์ฟเวอร์เฟสแรก มีกำลังการผลิตคอมพิวเตอร์พีซีปีละ 2.5 แสนเครื่องและเซิร์ฟเวอร์ 4 หมื่นเครื่อง และมีแผนเพิ่มเงินลงทุนในการพัฒนาอุตสาหกรรม AI ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมดิจิทัลของกว่างซีได้อีกมาก
นอกจาการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุนจากบริษัทไอทีแล้ว การพัฒนาสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมบรรยากาศในการพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีและสร้างบุคลากรเป็นอีกมาตรการที่น่าสนใจ อย่างการจัดแคมเปญให้บริษัท/นักพัฒนาซอฟท์แวร์เข้าแข่งขันพัฒนาโซลูชันต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ภาครัฐ ธุรกิจการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจ วิสาหกิจขนาดใหญ่ โซลูชัน open source บนพื้นฐานเทคโนโลยีคุนเผิง และการพัฒนาระบบปฏิบัติการเซิร์ฟเวอร์ openEuler และระบบฐานข้อมูล openGauss
ขณะเดียวกัน การก้าวออกไปลงทุนในอาเซียนก็เป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญของกว่างซี นางเฉา ยวี่เจวียน (Cao Yujuan) หัวหน้าศูนย์วิจัยเศรษฐศาตร์เชิงปริมาณ ประจำสถาบันสังคมศาสตร์กว่างซี ได้แนะนำให้บริษัทด้านเศรษฐกิจดิจิทัลก้าวออกไปลงทุนในอาเซียน โดยเฉพาะในสาขาการผลิตเทอร์มินัลอัจฉริยะ การพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ดิจิทัล และการแสวงหาโมเดลความร่วมมือใหม่ด้านเทคโนโลยี 5G บิ๊กดาต้า และ AI ในบริบท/สถานการณ์ (scenario) ต่างๆ ด้วย
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.xinhuanet.com.com (广西新华网) วันที่ 1 พฤษภาคม 2564
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 29 เมษายน 2564
ภาพประกอบ www.freepik.com