• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • พลิกโฉมงานขนส่งกับจีน : “เรือ+รถไฟ” ที่กว่างซี คำตอบใหม่ของผู้ค้าไทยกับจีน

พลิกโฉมงานขนส่งกับจีน : “เรือ+รถไฟ” ที่กว่างซี คำตอบใหม่ของผู้ค้าไทยกับจีน

ไฮไลท์

  • ปี 2563 เที่ยวขบวนรถไฟขนส่งตู้สินค้าที่ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้เติบโต 25 เท่า เทียบกับปี 2560 สร้างสถิติใหม่ สวนกระแสโควิด-19 ด้วยจำนวนเที่ยวขบวน 4,607 เที่ยว ปริมาณตู้สินค้าที่ขนส่งผ่านโมเดลเรือ+รางมีจำนวน 2.3 แสน TEUs ขบวนรถไฟเที่ยวประจำมีวันละ 15 เที่ยว
  • ปี 2563 ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้แซงหน้าท่าเรือเซินเจิ้นและท่าเรือจ้านเจียงของมณฑลกวางตุ้ง มีปริมาณขนถ่ายสินค้ามากอันดับ 2 ในภูมิภาคจีนตอนใต้ รองจากท่าเรือกว่างโจว และมีปริมาณขนถ่ายตู้สินค้ามากติด 1 ใน 10 ของประเทศจีนเป็นครั้งแรก และการขนถ่ายตู้สินค้ามีอัตราขยายตัวสูงที่สุดในบรรดาท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเลของประเทศจีน
  • คาดว่า ในเดือนมิถุนายน 2564 สถานีศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟชินโจวจะเป็นสถานีรถไฟขนส่งตู้สินค้าที่ทำงานด้วยระบบทางไกลอัจฉริยะเป็นแห่งแรกของประเทศจีน ช่วยให้การทำงานมีความสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงมากยิ่งขึ้น และเสริมบทบาทของระเบียงการขนส่งระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ (New International Land and Sea Corridor – ILSTC)
  • โมเดล “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือชินโจว เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขนส่งสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีน หรือใช้ช่องทางดังกล่าวขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป ในทางกลับกัน สินค้าจีนก็สามารถใช้รถไฟขนส่งตู้สินค้ามาที่ท่าเรือชินโจวเพื่อขึ้นเรือไปต่างประเทศได้แบบไร้รอยต่อ ปัจจุบัน มีบริการเที่ยวเรือขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือชินโจวกับท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทยด้วยแล้ว

 

แม้ว่าปี 2563 กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกต้องชะลอตัว เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่การขนส่งด้วยโมเดล “เรือ+ราง” ภายใต้กรอบระเบียงขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก (New Western Land & Sea Corridor –  NWLSC) ที่มีอ่าวเป่ยปู้ของกว่างซีเป็น Hub กลับสร้างสถิติใหม่ เที่ยวบริการรถไฟขนส่งที่ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีจำนวน 4,607 เที่ยว คิดเป็น 25 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2560 ปริมาณตู้สินค้าที่ขนส่งผ่านโมเดลเรือ+รางอยู่ที่ 2.3 แสน TEUs ขยายตัว 105% (YoY)

ปัจจุบัน มีเที่ยวรถไฟขนส่งตู้สินค้าเที่ยวประจำอยู่ 7 เส้นทาง มุ่งสู่เมืองต่างๆ ในมณฑลเสฉวน นครหลานโจว (มณฑลกานซู่) และนครฉงชิ่ง ขบวนรถไฟเที่ยวประจำเพิ่มขึ้นจากวันละ 8 เที่ยว เมื่อต้นปี 2563 เป็นวันละ 15 เที่ยว ในช่วงปลายปี 2563 ชนิดของสินค้าก็มีความหลากหลายมากขึ้นจาก 81 รายการ เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 300 รายการ

ในปี 2563 ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีปริมาณขนถ่ายสินค้าราว 300 ล้านตัน ขยายตัว 17% (YoY) เป็นท่าเรือที่มีปริมาณขนถ่ายสินค้ามากเป็นอันดับที่ 11 ของประเทศจีน (ปี 2562 อยู่อันดับที่ 14) มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ในภูมิภาคจีนตอนใต้ รองจากท่าเรือกว่างโจว (แซงหน้าท่าเรือเซินเจิ้นและท่าเรือจ้านเจียงของมณฑลกวางตุ้ง) และมีปริมาณขนถ่ายตู้สินค้า 5.05 ล้าน TEUs ขยายตัว 32% อัตราการขยายตัวสูงที่สุดในบรรดาท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเลของประเทศจีน เป็นท่าเรือที่มีปริมาณขนถ่ายสินค้ามากเป็นอันดับที่ 10 ของประเทศจีน (ปี 2562 อยู่อันดับที่ 15) เป็นครั้งแรก

ภายใต้สถานการณ์ความไม่ปกติที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 บริษัท Guangxi Yanhai Railway  (广西沿海铁路公司) และบริษัท Beibu Gulf Port Group (北部湾港务集团) ได้ออกมาตรการลด/ยกเว้นค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการใช้บริการขนส่งเรือ+ราง อาทิ ลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้องกับตู้สินค้า ยกเว้นค่าขนย้ายตู้สินค้าด้วยรถลากในท่าเทียบเรือ ยืดระยะเวลาการดูแลตู้สินค้าในท่าเรือ (Demurrage) รวมทั้งได้ปรับลดค่าขนส่งสินค้าที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจ สร้างแรงแข่งขันให้กับการขนส่งเรือ+ราง และดึงดูดให้ภาคธุรกิจหันมาใช้การขนส่งเรือ+รางมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ หน่วยงานด้านการรถไฟกำลังก่อสร้างและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานระบบรางและท่าเทียบเรืออยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนถ่ายและลำเลียงตู้สินค้าผ่านทางท่าเรือและรถไฟ เช่น การใช้ระบบขับเคลื่อนรถไฟด้วยไฟฟ้า การสร้างรางรถไฟทางคู่ การสร้างรางรถไฟเข้าสู่ท่าเทียบเรือรอบอ่าวเป่ยปู้เพิ่ม การพัฒนาร่องน้ำเดินเรือ และการก่อสร้างท่าเทียบเรืออัจฉริยะ

ยกตัวอย่างเช่น สถานีศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟชินโจว (钦州铁路集装箱中心站) ซึ่งเป็น Hub สำคัญของโมเดลเรือ+ราง ปัจจุบัน เขตปฏิบัติการขนถ่ายตู้สินค้าที่มีอยู่ 2 แห่งในสถานีศูนย์ฯ ซึ่งใช้รถยกตู้สินค้า (Reach Stacker) มีประสิทธิภาพในการขนถ่ายตู้สินค้าได้สูงเทียบเท่าเครนสนาม (Gantry Crane) การยกตู้สินค้า 100 ตู้ ขึ้นขบวนรถไฟหนึ่งขบวนใช้เวลา 3 ชั่วโมงครึ่ง และขนถ่ายตู้สินค้าลงจากขบวนรถไฟใช้เวลา 3 ชั่วโมง

อย่างไรก็ดี สถานีศูนย์ฯ กำลังปรับปรุงพื้นที่ลานสินค้าและวางระบบรางเพื่อเตรียมติดตั้งเครนสนามระบบอัจฉริยะ จำนวน 6 ตัว คาดว่า ภายในเดือนมิถุนายน 2564 สถานีศูนย์แห่งนี้จะเป็นสถานีรถไฟขนส่งตู้สินค้าที่ทำงานด้วยระบบทางไกลอัจฉริยะเป็นแห่งแรกของประเทศจีน ช่วยให้การทำงานมีความสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงมากยิ่งขึ้น และช่วยเสริมบทบาทของระเบียงการขนส่งระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ (New International Land and Sea Corridor – ILSTC)

บีไอซี เห็นว่า โมเดล “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือชินโจว เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขนส่งสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีน หรือใช้ช่องทางดังกล่าวขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป ในทางกลับกัน สินค้าจีนก็สามารถใช้รถไฟขนส่งตู้สินค้ามาที่ท่าเรือชินโจวเพื่อขึ้นเรือไปต่างประเทศได้แบบไร้รอยต่อ ปัจจุบัน มีบริการเที่ยวเรือขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือชินโจวกับท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทยด้วยแล้ว โดยระบบงานขนส่งดังกล่าวสามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้อีกหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นตู้คอนเทนเนอร์แบบที่มีเครื่องทำความเย็น (Reefer) สำหรับการขนส่งผลไม้และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่แข็ง และตู้คอนเทนเนอร์แบบ Open Top ซึ่งเหมาะสำหรับสินค้าเทกอง

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์
www.gx.xinhuanetcom (广西新华网 ) วันที่ 14 และ 04 มกราคม 2563
       เว็บไซต์ www.sohu.com (搜狐网 ) วันที่ 11 มกราคม 2563
       หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี่ (广西日报) วันที่ 02 มกราคม 2563
ภาพประกอบ freepik / sohu.com

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]